ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 60959 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........เบญจา บุญเอื้อ

1 ปีกับประสบการณ์ล้ำค่าด้าน Embedded Systems ในประเทศญี่ปุ่น

 

                ถ้าเมื่อพูดถึงงานด้านการพัฒนา Embedded Systems หันไปทางไหน ๆ ก็มีแต่ชายหนุ่ม  แต่สำหรับโครงการ ESTATE ไม่ใช่เช่นนั้น  ในปีแรกของการเปิดโครงการก็มีสาวแกร่งที่หลากหลายความสามารถผ่านการคัดเลือกเข้ามาร่วมโครงการกับเรา 1 ท่าน  คือ นางสาวเบญจา  บุญเอื้อ  ซึ่งเธอผู้นี้จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างจากชายหนุ่มทั้งหลายที่ได้ถ่ายทอดมาก่อนหน้านี้

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการ ESTATE 1 ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 14 คน ก่อนที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นนั้นต้องเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ เช่น ภาษา วัฒนธรรม Embedded Systems ที่ประเทศไทยอยู่ประมาณ 6 เดือน  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนมีโอกาสได้ทำความรู้จักกัน จากเริ่มแรกที่ไม่รู้จักกันจนกลายมาเป็นพี่ น้อง เพื่อนที่สนิทคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

บริษัทญี่ปุ่นที่พวกเราจะไปฝึกงานนั้นแตกต่างกันไป บางคนได้ไปฝึกงานที่เดียวกันบางคนก็ไปคนเดียว  ส่วนดิฉันได้มีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัท RYOYO ELECTRO CORPORATION, Tokyo ซึ่งเป็นบริษัทค่อนข้างใหญ่มีสาขาอยู่หลายประเทศ ธุรกิจหลักจะเป็นตัวแทนจำหน่าย Chips ต่าง ๆ รวมทั้งรับพัฒนา Application software บน Chips นั้น ๆ ให้กับลูกค้า 

 

รูปแบบการเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ AOTS

ช่วงประมาณ 1 เดือนแรกที่ญี่ปุ่นเราทุกคนต้องเข้าอบรมภาษาญี่ปุ่นที่ศูนย์ฝึกอบรมคันไซของ AOTS ซึ่งจะแบ่งการเรียนกันเป็นกลุ่ม ๆ ตามระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นของแต่ละคน พวกเราส่วนใหญ่ก็เกาะกลุ่มอยู่ห้องเรียนเดียวกัน กลุ่มห้องเรียนภาษาญี่ปุ่นของดิฉันมีนักเรียนจากฟิลิปปินส์เพียงแค่คนเดียว นอกนั้นเป็นพวกเรากันเองทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเป็นกันเองคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพื่อนจากฟิลิปปินส์ก็สนิทกับพวกเราได้เร็ว อาจารย์ทุกท่านใจดี และมีรูปแบบการสอนที่เข้าใจง่ายรวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยและมั่นใจในการใช้ภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันแบบที่ว่าพอเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์จริง ชีวิตความเป็นอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม AOTS ระบบการเรียนการสอนรวมถึงการพูดคุยสังสรรค์กับอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ที่นั่นมีความใส่ใจ ตั้งใจ มีการวางแผนเตรียมพร้อมที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และเคารพกฎระเบียบที่ดูเหมือนเป็นบรรทัดฐานที่ปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรประจำวันทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจและน่าค้นหาว่าเขาทำอย่างไรถึงสร้างบรรทัดฐานแบบนั้นขึ้นมาได้

 

การฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น

หลังจากจบการอบรมต่าง ๆ จากศูนย์ฝึกอบรมคันไซ พวกเราก็แยกย้ายกันไปฝึกงานในบริษัทที่รับเป็น host company ของแต่ละคน  การเดินทางไปบริษัทที่ฝึกงานในครั้งแรกนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเป็นคนดูแลบอกรายละเอียดต่าง ๆ หลายอย่าง  เช่น การขึ้นรถไฟ การซื้อตั๋ว สถานีที่จะลง  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอธิบายไปพร้อม ๆ กับทำให้เราดูทุกครั้งเขาจะถามหรือหยุดรอจนกว่าเราจะแสดงการรับรู้ว่าเราเข้าใจที่เขาอธิบาย และที่แน่นอนก็คือ ภาษาที่ใช้สื่อสาร คือ ภาษาญี่ปุ่น ในสถานการณ์ที่ยังตั้งตัวไม่ทัน และอะไร ๆ ก็ดูเหมือนเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่ต้องจดจำเรียนรู้ไปหมดบวกกับความสามารถของภาษาที่ใช้สื่อสารที่ยังไม่แข็งแรงด้วยแล้ว ปากกากับกระดาษเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก แต่ตอนนั้นไม่สะดวกที่จะจดก็เลยต้องจำเอาเป็นส่วนใหญ่  ชื่อของบุคคลที่เราคุยด้วยนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจำให้ได้ เวลาพูดก็ต้องไม่ลืมที่จะต่อท้ายชื่อเขาด้วย ”ซัง” และไม่ลืมที่จะพูดขอโทษทุกครั้ง  เมื่อทำอะไรผิดหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาพูด  เมื่อมีโอกาสก็จดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ไว้กันลืม

ในวันแรกของการเริ่มฝึกงานนั้นไม่ต้องใช้ความรู้เทคนิคเชิงวิชาการอะไรเลยนอกจากการจำและจดบันทึก ดังนั้นสิ่งจำเป็นที่ต้องพกติดตัวในตอนนั้น คือ สมุดโน้ตกับปากกา แล้วสิ่งแรกที่ต้องพยายามจดจำให้ได้มากที่สุด ก็คือ บุคคลต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่พาเราไปแนะนำซึ่งส่วนใหญ่เขาจะให้นามบัตรมา อันที่จริงบริษัทที่ดิฉันไปฝึกงานจะมีกระดานเขียนชื่อไว้ว่าใครนั่งตรงไหนตั้งไว้ที่หัวแถวของโต๊ะซึ่งสามารถเอามาเทียบกับนามบัตรที่ได้มาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น ต่อมาในช่วงบ่ายเป็นการอบรมกฎระเบียบการปฏิบัติตัวต่าง ๆ ซึ่งดิฉันเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  เนื่องด้วยภาษาญี่ปุ่นที่ไม่แข็งแรงอีกเช่นเคย แต่ก็ต้องพยายามเข้าใจและจดบันทึกให้ได้มากที่สุด หลังจากจบการอบรมก็มีเวลามานั่งอ่านทบทวนระเบียบต่าง ๆ และก็พบว่า มีบางข้อปฏิบัติที่สำหรับเราอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใส่ใจแต่สำหรับเขาเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติจึงทำให้ต้องระวังเป็นพิเศษ ในบางครั้งเขาอาจจะใช้คำพูดว่า “ควรจะทำหรือควรจะปฏิบัติ” ซึ่งถ้าภาษาเรายังไม่แข็งแรงแล้วอย่าไปตีความว่า “ทำก็ดีไม่ทำก็ได้” แต่ให้เข้าใจไปก่อนเลยว่า “ต้องทำต้องปฏิบัติ” มันจะช่วยให้อะไร ๆ ราบรื่นขึ้น

ช่วงแรกของการฝึกนั้น เป็นการพัฒนาโปรแกรมบน MCU ของ Mitsubishi  ซึ่งทางบริษัทจะจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการพัฒนา โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล แนะนำ และบอกขั้นตอนต่าง ๆ ในการฝึกปฏิบัติ ทุกขั้นตอนจะมีการ REVIEW เพื่อตรวจสอบความเข้าใจในงาน รวมถึงเป็นช่วงที่ใช้ในการอธิบายซักถามรายละเอียดของงานและกำหนดการต่าง ๆ ของขั้นตอนถัดไป เรื่องต่าง ๆ ที่พูดคุยกันในช่วงทำ REVIEW นั้นจะถูกจดบันทึก โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมซึ่งคล้าย ๆกับการจดบันทึกการประชุม และเอกสารที่บันทึกจะถูกส่งไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลังจบการ REVIRW  บางครั้ง เพราะแนวความคิดที่แตกต่างกันและปัญหาของภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ทำให้การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนมักจะสะดุดอยู่บ่อย ๆ ซึ่งต้องใช้ความพยายาม อดทน ปรับเปลี่ยน ปรับปรุงรูปแบบการพูดคุยและการทำงานอยู่สักพักจนมาได้ รูปแบบที่คิดว่าลงตัวที่สุด 4 ข้อสั้น ๆ ง่าย ๆ คือ 1.ฟังให้มาก 2.พยายามเข้าใจแนวความคิดและหลักการของเขาโดยที่ลืมแนวความคิดของตัวเองไปก่อน 3.สงสัยให้ถาม 4.ถ้าไม่มีข้อสงสัยหรือปัญหาที่จะลงมือปฏิบัติก็ให้ทำตามแนวทางที่เขาแนะนำ บางคนอาจจะมีคำถามว่าทำไมต้องลืมแนวความคิดของตัวเองไปก่อน ดิฉันเองก็สงสัยและพยายามหาเหตุผลที่มาที่ไปอยู่เหมือนกันแล้วก็มาเจอกับคำตอบตอนทำ REVIEW เพื่อสรุปผลในช่วงแรกของการฝึกจากคำอธิบายของเจ้าหน้าที่พอจะถอดความออกมาได้ว่า “คนทุกคนมีแนวความคิดและรูปแบบการพัฒนางานที่ต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะใช้แนวความคิดไหนมาปฏิบัติ ผลที่ได้จะต้องเป็นไปตาม specification ที่กำหนดไว้ไม่ขาดไม่เกิน แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าเราทำงานกันเป็นทีม จึงจำเป็นที่ต้องให้ทุกคนมีแนวความคิดเป็นไปในทางที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจแนวความคิดในการทำงานของคนอื่นในทีมและสามารถทำงานแทนกันได้เหมือนคนที่รู้ใจทำงานร่วมกันเดาใจกันออก” การที่ได้พูดคุยในครั้งนั้นบวกกับการสังเกตลักษณะรูปแบบการทำงานของพนักงานที่บริษัทหลาย ๆ ครั้ง ทำให้ดิฉันได้ข้อคิดในการทำงานที่ดีหลายอย่าง ๆ จากอีกมุมมองหนึ่ง

ช่วงที่สองของการฝึกงานเป็นการเข้าไปทดลองทำงานจริงที่ทางบริษัทกำลังพัฒนาอยู่ ขั้นตอนการทำงานในช่วงนี้ก็ไม่มีอะไรต่างจากช่วงแรก แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากช่วงนี้จะเป็น รูปแบบการเขียนและการจัดการเอกสารที่เป็นระบบ

ช่วงสุดท้ายของการฝึกงาน เป็นการเขียนสรุปรายงานสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำ ซึ่งถ้าให้สรุปสั้นๆโดยย่อก็คือ การเรียนรู้ระบบการพัฒนาโปรแกรมบน MCU ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนในการพัฒนาคือ specification -> design document <-> review -> coding <-> testing and debugging <-> review -> END

นอกจากนี้ยังมีโอกาสไปดูงานนิทรรศการเทคโนโลยีทางด้าน Embedded systems และ electronics ต่างๆ ในงานมีการจัดแสดงผลงาน ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีต่างๆจากหลากหลายบริษัท ส่วนใหญ่จะมีโปสเตอร์ รูปภาพอธิบายหลักการทำงานต่าง ๆ บางที่ก็มีสาธิต มีอะไรใหม่ ๆ หลายอย่างในงานที่บางครั้งก็คิดว่าอีกไม่นานคงจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในไทย

1 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ระบบการทำงานที่ทำให้เราได้ข้อคิดหลายอย่างในมุมมองที่กว้างขึ้น วัฒนธรรมและธรรมเนียมความเป็นอยู่ในสังคมที่น่าประทับใจและจดจำเอามาใช้ เรื่องราวสนุกสนานจากการไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวและงานประเพณีต่าง ๆ กับเพื่อน ๆ เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่าที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ใหม่ ๆ ความทรงจำและเพื่อนที่ดี สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในโครงการและประสบการณ์ในต่างแดนอันทรงคุณค่าครั้งนี้ค่ะ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที