ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 60964 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........ธรรมศักดิ์ สงวนสัจวาจา

1 ปีกับประสบการณ์ล้ำค่าด้าน Embedded Systems ในประเทศญี่ปุ่น

 

สำหรับฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 13  ซึ่งจะเป็นสมาชิกท่านที่ 13 ที่อยู่ในโครงการ ESTATE 1  สำหรับบทความที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ล้ำค่าด้าน Embedded Systems  ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมติดตามไปพร้อม ๆ กัน

สวัสดี ท่านผู้อ่านทุกท่าน  ผมชื่อ นายธรรมศักดิ์ สงวนสัจวาจา อายุ 34 ปี ได้เข้าร่วมโครงการ ESTATE 2006 ทุนสำหรับการไปรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี  โดยอบรมที่ประเทศไทย 6 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปฝึกงานจริง ๆ  โดยจะขอนำเสนอประสบการณ์การไปฝึกงานที่ผ่านมา 

ก่อนเข้าร่วมโครงการ ผมทำงานด้านพัฒนาระบบรายงานประสิทธิภาพเครื่องจักร เพื่อหาค่า OEE ของโรงงาน  โดยใช้ระบบ Embedded Systems ที่ออกแบบขึ้นเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติ  เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ และเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการผลิต Kim Pai Ltd., Part.  ( Printting & Packaging )

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

               ในช่วงต้นปี 2006  ผมได้เข้าอบรมหลักสูตร “RFID” จัดขึ้นที่ Software Park  ในช่วงระหว่างพัก ผมได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย Google โดยใช้ keyword  คือ “RFID”  ในรายงานที่ค้นเจอ มีข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ESTATE  ผมได้โทรไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทันที่ ที่คุณขนิษฐา ประสารสุข  ตัวผมเองก็ไม่เก่งเรื่องภาษา  จึงต้องการสอบถามรายละเอียดรูปแบบเกี่ยวกับการฝึกงาน และรายรับ-รายจ่ายที่ต้องมี  ได้คำตอบว่าจะมีหลักสูตรซึ่งมีระยะเวลา 6 เดือน เรียนภาษาญี่ปุ่นควบคู่ไปกับ Embedded Systems เพื่อปรับพื้นฐาน ก่อนจะเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น 1 ปี  โดยมีคณาจารย์จากประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นมาทำการสอนให้ ทั้งนี้ ถ้าสนใจให้ส่งใบสมัครเข้ามาก่อน เพื่อจะได้เรียกสัมภาษณ์ก่อน

หลังจากผ่านการสอบคัดเลือก และสัมภาษณ์  ก็ได้เริ่มเรียนหลักสูตร 6  เดือน ในประเทศไทย ระหว่างที่เรียนอยู่ที่ประเทศไทยก็ต้องฝึกภาษาอย่างหนัก เพราะผมเริ่มจากศูนย์จริงๆ และภาษาอังกฤษก็ยังไม่สามารถสื่อสารได้ดี  จึงเป็นเรื่องที่ผมหนักใจมาก ๆ  ในส่วนความรู้ด้าน Embedded Systems  ผมไม่ค่อยหนักใจ  เนื่องจากผมมีพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์  คอมพิวเตอร์  และประสบการณ์ ต่าง ๆ ที่สะสมมาตั้งแต่เริ่มเรียนสายอาชีพ ปวช.  ทำให้สามารถทำความเข้าใจในชั่วโมงได้ไม่ยาก ผิดกับภาษาญี่ปุ่นท่องศัพท์ไป พอจำบทนี้ได้แล้ว ขึ้นบทใหม่บทเก่าก็ลืมเสียหมด การสอบแต่ละครั้งผลสอบก็ได้คะแนนไม่ดี อยู่ระดับท้ายๆ ( สงสัยผมจะอายุมากแล้ว )      ส่วนด้าน Embedded คะแนนก็ยังเกะกลุ่มไปได้    … ในที่สุดการสอบก็ผ่านไปได้ด้วยดี

 วันสุดท้ายของการเรียนภาษา

ความรู้สึกส่วนตัวของผมแล้วก็ยังไม่น่าจะคุยได้ เพราะกลัวจะพูดผิดพูดถูกเลยกลายเป็นพูดไม่ออก พูดแบบติด ๆ ขัด ๆ ก่อนหน้านี้ก็ได้เดินเรื่อง VISA และการคัดเลือก Host Company ที่จะทำการฝึกงาน โดยใช้วิธีการให้ผู้ฝึกเลือก และจัดลำดับบริษัทที่สนใจ  และทางบริษัทต้นสังกัด ก็ทำการเรียงลำดับผู้ฝึกงานที่สนใจจะรับเช่นกัน จากนั้นก็นำคะแนนที่ได้มาจัดคู่ Host Company ผลก็คือ ผมได้ฝึกงานได้ที่ NEC Corporation ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ญี่ปุ่น (50%) และรัฐบาลญี่ปุ่น (50%)              การไปญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของผม ครั้งแรกผมไปเกี่ยวกับงาน เพื่อไปศึกษาเทคโนโลยีต่าง ๆ และดูงาน Tokyo Pack ในครั้งนั้น ผมเองรู้สึกตื่นตากับเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างมาก หลังจากนั้นความตื่นเต้นก็ค่อย ๆ จางหายไป เพราะไม่สามารถหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ  และข้อมูลเพื่อศึกษาหาความรู้ต่อไปได้  ครั้งนี้ผมจึงตั้งความหวัง กับโครงการอย่างมาก

วันที่ 22 มกราคม 2550  เดินทางสู่ประเทศญี่ปุ่น ณ Kansai International Airport  และเข้าพักที่ศูนย์ฝึกอบรมคันไซ (Kansai Kenshu Center - KKC)  เพื่อเรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยมี คุณ Naka Takao เป็นผู้ดูแล และมีล่ามแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยให้ เฉพาะชั่วโมงที่มีการสอนทางด้านวัฒนธรรม และการดำรงชีพในต่างแดน  

การเรียนการสอน เริ่มต้นด้วยการทดสอบ เพื่อแบ่งระดับความสามารถในการใช้ภาษาญี่ปุ่น โดยที่พวกผมก็ไม่ได้รู้ตัวมาก่อน ผมเองหลังจากจบหลักสูตรที่ไทย ก็ไม่ได้ทบทวนไวยกรณ์ และท่องศัพท์เลย  คะแนนการฟังจึงออกมาไม่ดี แต่โชคดีที่อาจารย์เขายอมให้ไปเรียนในห้องที่เรียน Kiso2  และหนังสือระดับกลาง Chuukyuu (中級)อีก 3 บท, หนังสือ Kiso พื้นฐานมีสองเล่ม เนื้อหาเหมือนที่ ส.ส.ท.  Kiso1 จะเป็นเนื้อหาของ  Minano1 และ Minano2  Kiso2 จะเป็นเนื้อหาของ  Minano3 และ Minano4 ในแต่ละสัปดาห์จะมีกิจกรรมต่างๆ ออกไปนอกศูนย์ฝึกอบรมฯ เพื่อให้ผู้ฝึกงานสามารถปรับตัวกับการดำรงชีพได้ และสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้  การฝึกอบรมการหนีภัยก็มีอยู่ในหลักสูตรด้วย โดยไปทำการฝึกอบรมฯ ของจังหวัด Nara สำหรับเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดขึ้นเองโดยมิได้คาดหมายได้  เช่น พายุ ไฟไหม้ หรือแผ่นดินไหว (16/07/2550 ได้เจอของจริง M 6.6 นาน 5 วินาที) สำหรับช่วงท้ายของหลักสูตร ได้มีการพาชมโรงงานผลิตรถยนต์ Toyota, เมือง Hiroshima (広島)  และโรงงานผลิตเบียร์ Asahi ตลอดการเดินทางจะต้องมีการเปลี่ยนรถ มีการสอนการซื้อตั๋ว ดูตารางรถไฟ และคำศัพท์ต่างๆ

วันที่ 5 มีนาคม 2550 เป็นวันเริ่มต้นของการฝึกงานกับ Japanese Host Company เจ้าหน้าที่จาก NEC คุณ Muneaki Morozumi (NEC Telenetworx Ltd.) เป็นผู้รับตัวพาไปศูนย์ฝึกอบรมโตเกียว (Tokyo Kenshu Center - TKC) ด้วยรถไฟ Shinkansen (新幹線) รถไฟที่มีชื่อเสียงเรื่องตรงเวลามาก และไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ  ระหว่างทางเห็นภูเขาไฟ Fujisan(富士山)  เป็นครั้งแรก เป็นภูเขาที่มีรูปทรงสวยมาก ๆ  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งก็ถึง Tokyo ลงที่สถานี  Kitasenju(北千住駅)เป็นสถานี JR ที่ใกล้ศูนย์ฝึกอบรม TKC ที่สุด ( เดินประมาณ 15 นาที  ถ้าวิ่ง 5 นาที  คนญี่ปุ่นนิยมวัดระยะทางเป็นเวลาที่ใช้ในการเดิน) คุณ Morozumi ได้พาไปทำบัตรคนต่างด้าวก่อน  ประมาณบ่ายสามโมงก็ถึงศูนย์ฝึกอบรม TKC  สำหรับศูนย์ฯ นี้มีผู้ฝึกงานจากประเทศต่าง ๆ พักอยู่ร่วมกัน  กลุ่ม ESTATE 2006 พักอยู่ที่นี่ทั้งหมด  4 คน คือ คุณสถาพร(ฝึกงานที่ Profix), คุณจักรกฤษณ์ (ฝึกงานที่ Nec) คุณเบญจา (ฝึกงานที่ Ryoyo) และผม  หลังจากนั้นก็แนะนำถึงข้อห้ามต่าง ๆ ของ VISA และการเดินทางไปทำงาน พร้อมรับเบี้ยเลี้ยง และอธิบายรายละเอียดของการฝึกงาน วิธีการเบิกค่าใช้จ่าย และเอกสารต่างๆ   ในวันรุ่งขึ้นคุณ Morozumi พาไปยังสถานที่ฝึกงาน และสอนวิธีเปลี่ยนรถจาก Kitasenju(北千住駅)ไป Tamachi (田町駅) ใช้เวลาประมาณ 50 นาที  ต้องเปลี่ยนรถไฟอีกหนึ่งครั้งที่  Nippori (日暮里駅), บัตร Suica ของ JR แบบรายเดือน ขึ้นลงกี่ครั้งก็ได้โดยมีข้อกำหนดว่าต้องอยู่ในเส้นทาง JR ระหว่าง Kitasenju – Tamachi  ระหว่างทางผ่านแหล่งที่มีชื่อเสียงด้วย ทำให้ผมได้ใช้บริการของ JR บ่อยมากๆ โดยเฉพาะ Akihabara (秋葉原) แหล่งเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และร้านหนังสือ

 

วันที่ 6 มีนาคม 2550  วันที่สองของการฝึกงานกับ Host Company  คุณ Morozumi แนะนำให้รู้จัก คุณ Etsuzo Kimura ที่จะเป็นผู้ช่วยดูแลตลอดการฝึกงานครั้งนี้ และคอยติดต่อประสานงานกับ คุณ Morozumi และคุณ Morozumi จะประสานงานต่าง ๆ กับ TKC อีกที คุณ Kimura จะไม่ติดต่อโดยตรงกับ TKC เนื่องจาก NEC มีหลายส่วน หลายแผนก ทำให้ต้องติดต่อกันหลายขั้นตอน วันที่สองก็ยังไม่ได้ทำงาน คุณ Kimura พาไปดูงานแสดงสินค้าด้าน Retail Solution (ระบบสำหรับค้าปลีก) ซึ่งมีบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายบริษัท มาร่วมแสดงสินค้าของ NEC  สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผมฝึกงานชื่อ DCMSUPOS

วันต่อมาก็ได้รับเนื้อหาต่าง ๆ ของระบบ Retail โดยมีพนักงานแต่ละส่วนมาอธิบายแต่ละเนื้อหาให้ฟัง โดยให้ดูเอกสารประกอบ มีทั้งภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่น การพูดคุยก็ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น  ภาษาอังกฤษผมก็ฟังอย่างเดียวเลยเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ส่วนภาษาญี่ปุ่นก็พอพูดคุยได้บ้าง แต่ยังไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์ (ภาษาญี่ปุ่นไวยกรณ์ไทย)  จากนั้นอีกสองสามวัน ก็เริ่มเข้าเนื้อหาการฝึกงาน และอธิบายรายละเอียดการฝึกงานจนถึงวันที่ 18 มกราคม 2551  โดยทุกวันจันทร์ต้องส่ง Weekly Report ให้คุณ Kimura  และทุกวันต้องส่ง Daily Report ให้อาจารย์ผู้สอน มีรายละเอียด 3 ส่วน สิ่งที่ทำไปแล้ว ,สิ่งที่จะทำในวันต่อไป  และ ปัญหาข้อเสนอแนะ  เพื่อใช้ในการติดตามงานพวกผมผ่านทางการ Comment ข้อความที่ได้เขียนในแต่ละวัน  อาจารย์จะบังคับให้เขียนปัญหาข้อเสนอแนะทุกวัน ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องภาษา

การเดินทางไปทำงาน ช่วงแรก ๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเดินทาง และหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางมาทำงาน เพราะรถไฟในช่วงเวลาเร่งรีบจะแน่นมากๆ เมื่อประตูรถไฟปิด คนที่ขึ้นคนสุดท้ายจะดันและดันต่อ ๆ กัน  เพื่อให้ตัวเองเข้าไปขบวนนี้ให้ได้  (หน้าหนาวก็อุ่นดีครับ หน้าร้อนจะเป็นลม)

 การทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น รูปแบบการทำงานของ NEC , Global Retail Solution (GRS)  เนื่องจากเป็นฝ่ายที่จะต้องติดต่อกับสาขา ในประเทศต่าง ๆ จึงมีรูปแบบการทำงานที่ผสมผสาน และรับวัฒนธรรมต่างชาติได้ง่าย ทำให้พวกผมไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ พูดผิดก็ไม่เป็นไร อย่างเช่น บางคำ เวลาเราพูด เรารู้ความหมาย แต่ไม่รู้วิธีใช้ ไม่รู้ว่าสามารถพูดกับหัวหน้าได้หรือไม่ ก็ต้องอาศัยแอบฟัง พนักงานคุยกับหัวหน้าเขา, การสั่งงานของที่นี่จะใช้วิธีการสื่อสารผ่านอีเมลเป็นหลัก ต้องเปิดโปรแกรม Ms. Outlook ค้างไว้ตลอดเวลา   ถ้าตอบช้าบางครั้งเขาก็จะเดินเข้ามาถามเลย ว่าอ่านเมลหรือยัง  หรือจะคุยเรื่องานก็จะส่งเมลก่อน แล้วจึงอธิบายงาน

 สถานที่ทำงาน จะเป็นรูปแบบเฉพาะของญี่ปุ่น ไม่มีโต๊ะทำงานเป็นของตัวเอง แต่มีตู้เก็บของไว้สำหรับเก็บ Notebook และเอกสาร ระดับหัวหน้าจะมีโต๊ะ จากรูปเป็นส่วนหนึ่งของ GRS ไม่อยู่โต๊ะต้องเขียนกระดาน และเวลากลับมา ถ้ากลับบ้านต้องกลับป้ายชื่อ (เป็นแม่เหล็ก)  วันไหนจะหยุดก็ต้องเขียนไว้  วันไหนลาต้องโทรบอกหัวหน้า แล้วหัวหน้าจะเขียนกระดาษให้ ดูเป็นระเบียบดี

อาหารการกินมื้อเที่ยงผมจะใช้บริการของโรงอาหาร NEC ราคาถูกมากๆ โดยเฉพาะเมนูที่ผมสั่งประจำคือ Ramen จะมีหลายสูตรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล  แต่ก็มีบางมื้อต้องออกไปรับประทานภายนอก  ก็ถือโอกาสฝึกภาษาไปในตัวครับ

วันจันทร์  - ศุกร์ ตื่นนอนประมาณ 5:00 – 6:30 ในบางวันก็ไม่ได้รับประทานข้าวเช้า (โรงอาหารเปิด 6:00) ต้องออกจากศูนย์ฯ ก่อน 7:00 จะเดินแบบสบาย ๆ ไม่ต้องรีบ จะถึง NEC ก่อน 8:30  ก็เริ่มทำงานเลยครับ เฉพาะวันจันทร์จะมีประชุมเช้า และต้องเขียน Weekly report   ช่วงเช้าโดยส่วนมากถ้าอาจารย์ผู้สอนต้องการประชุมก็จะเป็นช่วงประมาณ 10:00 – 12:00 ช่วงบ่ายจะทำงานต่อเนื่องไปจนถึง 17:30 หมดเวลาสำหรับนักศึกษาฝึกงาน เป็นกฎของ AOTS

วันเสาร์ – อาทิตย์  บ่อยครั้งวันศุกร์จะมีงานเลี้ยงทำให้วันเสาร์ตื่นไม่ทันอาหารมื้อเช้า, ในบางครั้งก็จะนัดเพื่อน ๆ ที่พักศูนย์อบรม TKC ไปเดินท่องเมือง  หรือไปดูงานแสดง Embedded Systemห ต่างๆ ที่จัดขึ้นบ่อยครั้ง, ในช่วงเย็นของวันเสาร์จะไปหาซื้ออาหารมาเก็บไว้  สำหรับทำกินในวันอาทิตย์ นาน ๆ ครั้งจะไปรับประทานอาหารข้างนอกศูนย์ฯ โดยปกติแล้ว ผมก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ดู TV และหาความรู้ด้าน Embedded Systems 

การฝึกภาษาด้วยตนเอง ท่องศัพท์อ่านไวยกรณ์ของ shuukyuu ในระหว่างเดินทางในรถไฟ และระหว่างเดิน, เล่นเกมส์  NintendoDS Lite เกี่ยวสอนภาษา,  คุยสนทนากับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ  และแม่บ้าน, เดินทางไปต่างเมือง อันนี้ผมยืนยันได้ผลมาก ๆ  จะได้ศัพท์ใหม่ ๆ ด้านโรงแรม, การเดินทาง, การหาเส้นทาง และดูตารางเวลา  เมื่อไม่เข้าใจเส้นทางก็ถามเจ้าหน้าที่ JR ต้องพยายามสื่อสารให้เขารู้เรื่องให้ได้  เป็นข้อดีเพราะคนต่างจังหวัดจะไม่พูดภาษาอังกฤษ และได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยของชาวบ้าน   ผมทำอย่างนี้เป็นเวลาประมาณ 4  เดือนจึงเห็นผลครับ กล้าพูด กล้าถาม  แล้วคิดเป็นไวยกรณ์ญี่ปุ่นโดยอัตโนมัติ  แรก ๆ ที่เป็นลักษณะ ภาษา Echo (คือ พูดตาม หรือทวนคำถามถามเขา) ตอนนั้นก็เริ่มพูดคุยได้อย่างไม่มีปัญหาจะติดเรื่องไม่รู้ศัพท์  แต่ก็สามารถถามกลับให้ช่วยอธิบายได้  แต่อย่างไงก็ยังไม่สามารถพูดคุย หรือออกความคิดเห็นในที่ประชุมได้ ยังคุยได้แค่เรื่องทั่ว ๆ ไปได้

ความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน คงเป็นเรื่องอาหารการกินเท่านั้น เนื่องจากพักอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมฯ  จึงต้องรับประทานอาหารที่ศูนย์จัดให้เช้า เย็น ในวันจันทร์-เสาร์   อาหารไม่ค่อยมีความสด และจำเจ  แต่สถานที่ดีมากๆ สะดวกสบาย มีเครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า อบเสร็จก็ใส่ได้เลย  ไม่ต้องกลัวของขาด ไม่ต้องทนอากาศหนาว และอากาศร้อน เย็นสบายตลอดปี  มี Cable TV ให้ดู ( เป็นเครื่องมือหลักในการรับข่าวสาร และศึกษาภาษาของผม)

               ได้อะไรจากการฝึกงานโครงการ ESTATE หลายคนคงคิดว่าลักษณะงานของญี่ปุ่นเป็นงานทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ความจริงแล้ว บริษัทยิ่งใหญ่ งานส่วนใหญ่จะเป็นงานออกแบบ และงานเอกสาร ในส่วนด้านพัฒนาจะใช้วิธีการส่งงานให้บริษัทเล็กๆ รับไปพัฒนา หรือไม่ก็ส่งไปประเทศต่างๆ บริษัท NEC ก็เช่นกัน งานที่ผมได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านการจัดการ การควบคุมติดตามงานตามแบบญี่ปุ่น  และได้เรียนรู้ข้อคิดต่างๆในการดำรงชีวิตต่อไป

               วันที่ 19 มกราคม 2550  เดินทางกลับจากสนามบินนานชาติ Tokyo Narita สู่สนามบินสุวรรณภูมิ

ขอขอบพระคุณขณะกรรมการที่มีส่วนร่วมทุกท่าน เจ้าหน้าที่ที่ดูแลโครงการทั้งทางไทย และทางญี่ปุ่นทุกท่าน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) : TPA , The Association for Overseas Technical Scholarship : AOTS  และสมาคมสมองกลฝังตัว : TESA

วันที่ 19 กันยายน 2551 ได้มีโอกาสพบเจอคุณ Suzaka(ซ้าย)  ที่เป็นอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้ระบบงานพัฒนา Software ของ NEC  DCMSUPOS ให้พวกผม  และคุณ Yoshi(ขวา) ฝ่ายขาย ในงาน Food & Hotel ซึ่งทาง NEC ได้นำ Product ตัวที่ผม และน้องจักรกฤษณ์มีส่วนช่วยในการพัฒนามาแสดงในงาน  

                ท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆ  ที่สนใจเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น และอยากไปทำงานที่ญี่ปุ่น เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

 

Website อ้างอิง :

AOTS:                    www.aots.or.jp

TPA:                       www.tpa.or.th

TESA:                    www.tesa.or.th

ศูนย์  KKC:             d-training.aots.or.jp/orientation/kkc.html  

ศูนย์  TKC:             d-training.aots.or.jp/orientation/tkc.html

DCMSUPOS:         www.nec.co.jp/dcm/img/product/DCMSUPOS_e.pdf

My Blog: thammass.blogspot.com

---------------------------------------

บันทึกเมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2551


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที