ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 61145 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........ภาคภูมิ ศักดิ์กำจร

                สำหรับบทความตอนนี้ คุณภาคภูมิ ศักดิ์กำจร ซึ่งถือได้ว่าเป็นน้องเล็กคนสุดท้องของสมาชิก ESTATE รุ่นที่ 1  จะเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์  ฉบับนี้เป็นเพียงฉบับที่ 3 เท่านั้น  เพราะยังมีอีกหลายฉบับจากนี้ ที่น้อง ๆ โครงการ ESTATE รุ่นที่ 1  ได้เรียงแถวกันมาร้อยเรียงเรื่องราวประสบการณ์ที่ผ่านมาในช่วง 1 ปีที่ฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น  ผ่านคอลัมน์ ESTATE Show  ขอเชิญทุกท่านมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในอีกแง่มุมหนึ่งของการใช้ชีวิต การฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กันนะคะ

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เดือนมกราคม 2550 ผมกับเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน “TESA Topgun Rally” ซึ่งทางสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) ได้จัดขึ้นมา โดยโจทย์ในครั้งนั้นคือ การพัฒนาหุ่นที่สามารถทรงตัวอยู่ได้บนล้อ 2 ล้อ (Balancing Robot หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า Segway) จากการแข่งขันครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้จักกับสมาคมฯ นี้ ได้รู้จักกับพี่ขนิษฐา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานจัดการแข่งขัน และได้ทราบจากพี่ขนิษฐาว่ากำลังจะมีโครงการ ESTATE ขึ้น แต่ในขณะนั้นยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน จึงยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนเท่าไรนัก

                จากนั้น ประมาณเดือนเมษายน ปีเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเพิ่งสำเร็จการศึกษาพอดี ผมก็ได้รับรายละเอียดของโครงการนี้ ผมเลยลองปรึกษาทางบ้านดู และทางบ้านก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ ผมเลยลองสมัครดู การสอบรอบแรกเป็นการสอบข้อเขียน มีทั้งส่วนความเข้าใจในระบบ Embedded Systems, ความเข้าใจเกี่ยวกับ Software และ Hardware ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิด ทำให้คะแนนออกมาไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ผ่านเข้ารอบมาได้อย่างหวุดหวิด และผ่านการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งคัดเหลือ 14คนในที่สุด

                โดยช่วงที่ฝึกอบรมในเมืองไทยเป็นเวลา 6 เดือน ก็จะมีทั้งการเรียนภาษาญี่ปุ่นในตอนเช้า และเรียนเกี่ยวกับความรู้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนา Embedded Systems ในตอนบ่าย โดยผู้ให้การอบรมก็ได้แก่ วิทยากรชาวไทย ซึ่งได้แก่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ และวิทยากรชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และจากบริษัทในญี่ปุ่น ช่วงเวลาครึ่งปีที่พวกเราเรียนด้วยกัน มีกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เลยทำให้จากที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ค่อย ๆ รู้จักกันมากขึ้นทีละนิด ๆ จนสนิทกันในที่สุด

  ตลอดช่วงเวลาในการฝึกอบรมที่เมืองไทย ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ก็ต้องขอขอบคุณ ดร.วิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ ประธานคณะกรรมการโครงการ Embedded Systems ที่สละเวลาแวะมาเยี่ยมพวกเรา ESTATE เป็นครั้งคราว คอยถามไถ่ทุกข์สุขและให้คำปรึกษาต่างๆ ขอขอบคุณสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ TESA ที่ช่วยเป็นธุระจัดการด้านต่างๆ ติดต่อจัดหาวิทยากรมาบรรยาย ขอขอบคุณสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานด้านการเรียนการสอน หาล่าม ติดต่อนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์กับทางบริษัทญี่ปุ่น และช่วยเป็นธุระในการประสานงานกับทางบริษัทญี่ปุ่น ดูแลเรื่องเอกสารต่างๆ และพาพวกเราไปทำ Visa และ ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการไปฝึกงานที่กระทรวงแรงงาน ขอบคุณอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นทุกท่าน ที่ช่วยปูพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นให้กับเราเป็นอย่างดี ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องไปสานต่อกันด้วยตัวเองแล้ว

                ในที่สุดวันเดินทางก็มาถึง เที่ยงคืนของวันที่ 22 มกราคม 2550 พวกเราก็ออกเดินทางสู่ญี่ปุ่น ทันทีที่ก้าวเข้าสู่สนามบินคันไซ เมืองโอซาก้า ทุกอย่างรอบข้างก็เต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่เย็นเฉียบ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินที่ตั้งอยู่กลางทะเล และบรรยากาศที่มีแต่คนญี่ปุ่นอยู่รอบข้าง สักพักเจ้าหน้าที่จาก AOTS ก็มารับพวกเราขึ้นรถ เดินทางไปยัง KKC (Kansai Kenshu Center)

                ก่อนที่พวกเรา ESTATE ทั้ง 14 คน จะต้องแยกย้ายกันไปฝึกงานตามบริษัทต่างๆ จะต้องมีการเรียนภาษาที่ KKC ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของ AOTS เป็นเวลา 6 สัปดาห์  ซึ่งระหว่างนี้ ก็ถือเป็นช่วงเวลาสำหรับปรับตัวให้เข้ากับประเทศญี่ปุ่นด้วย

                การเรียนภาษาญี่ปุ่นจะเรียนกันวันจันทร์ถึงเสาร์ โดยจันทร์ถึงศุกร์เรียนตั้งแต่ 9.00-12.00น. พักเที่ยง จากนั้นเรียนต่อ 13.30-16.30น. ส่วนวันเสาร์จะมีเรียนแค่ครึ่งวันเช้า ในตารางเรียนช่วงบ่ายบางวันก็จะมีกิจกรรมอื่นแทรกบ้าง เช่น การพาแนะนำเมืองโอซาก้า สอนวิธีขึ้นรถไฟใต้ดิน  บางครั้งก็เป็นการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ เช่น วิเคราะห์ลักษณะของสังคมญี่ปุ่น และนิสัยของคนญี่ปุ่น การเปรียบเทียบภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการเรียนภาษาญี่ปุ่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Walk Rally และมีการทัศนศึกษา 3 วัน 2 คืน ที่ฮิโรชิมา กับนาโกยาด้วย

                ในที่สุดก็ครบกำหนด 6 สัปดาห์ ถึงเวลาที่พวกเราต้องแยกย้ายไปตามบริษัทของตัวเองแล้ว ในตอนนั้น มีความรู้สึกต่าง ๆ เต็มหัวไปหมด ทั้งความรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆที่รอคอยเราอยู่ ทั้งความรู้สึกกังวลซึ่งมากกว่าความตื่นเต้นเป็นเท่าตัว ภาษาก็ยังไม่ค่อยคล่อง จะคุยกับคนอื่นรู้เรื่องมั้ย ในบริษัทจะเป็นยังไง บรรยากาศจะเครียดแค่ไหน อีกทั้งความรู้สึกที่จะต้องแยกย้ายกับพี่ ๆ ทุกคน หลังจากที่รู้จักกันมาเกือบ 10 เดือน ต้องจาก KKC ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของผมที่ญี่ปุ่น คิดแล้วก็รู้สึกใจหาย

                บริษัท Host Company ของผม คือ Digital Contents ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนาโกยา อยู่เมืองเดียวกับคุณไพฑูรย์ (พี่ปุ๋ย) กับคุณสมศักดิ์ศรี (พี่จิมมี่) ที่ฝึกงานที่บริษัท Toyota Tsusho Electronics Corporation ซึ่งตั้งอยู่ที่นาโกยาเช่นกัน วันเดินทาง ดร.อิทธิ ขับรถเดินทางมาจากนาโกยา เพื่อมารับผม พี่ปุ๋ย และพี่จิมมี่ไปด้วยกัน

                บริษัท Digital Contents เป็นบริษัทที่รับงานทั้งทางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ มีขนาดไม่ใหญ่มาก จำนวนพนักงานประมาณ 40 คน มีสาขาอยู่ที่โตเกียวด้วย แต่ผมไม่เคยไปที่สาขานั้น จึงไม่ทราบรายละเอียดเท่าใดนัก และนอกจากนี้ ยังมีสาขาใหม่ซึ่งเพิ่งมาเปิดที่ประเทศไทย เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา มีพนักงานอยู่ประมาณ 10 กว่าคน

                บรรยากาศการทำงานที่นี่ แตกต่างจากที่ผมเคยนึกภาพเอาไว้มาก ทุกท่านลองนึกภาพดูสิครับ ว่าการทำงานของญี่ปุ่นควรจะมีบรรยากาศอย่างไร ใส่สูท ผูกเนกไท มาทำงานกันตั้งแต่เช้า นั่งทำงานเคร่งเครียด ไม่พูดคุยกันเวลาทำงาน นี่คงจะเป็นลักษณะของบริษัทญี่ปุ่นทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่

                ที่นี่ทำงานตั้งแต่ 10.00 – 19.00 น. แค่เวลาก็แปลกแล้วใช่มั้ยครับ นอกจากนี้ การแต่งกาย ก็ไม่จำเป็นต้องใส่สูท ผูกเนกไท สามารถใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าหุ้มส้นมาทำงานได้ เวลาทำงานเครียด ๆ ก็อาจจะคุยกันบ้างแก้เครียด หรือออกไปเดินยืดเส้นยืดสายข้างนอกบ้าง เวลาพักกลางวันก็สามารถเลือกได้ว่าจะพักตอนเที่ยง หรือพักตอนบ่ายโมง ระหว่างทำงานก็สามารถนำอาหารหรือขนมมาทานที่โต๊ะทำงานได้ ฟังเพลงไป ทำงานไปก็ได้

                อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเข้าใจผิด คิดว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ไม่มีระเบียบ  หรือไม่ตั้งใจทำงานกันนะครับ ที่นี่เพียงแต่ให้อิสระในการทำงานมากกว่าบริษัทโดยทั่วไปแค่นั้นเอง แม้ตอนเครียด ๆ อาจจะมีพักบ้าง คุยเล่นกันบ้าง แต่ตอนทำงานก็ทำงานเต็มที่ มีความรับผิดชอบต่องานทุกคน เวลาที่งานเร่งก็ทำงานกันจนดึกก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง

                สำหรับการฝึกงานที่นี่ จะมีคุณโยโกจิ เป็นผู้ดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่ พาไปทำบัตรคนต่างด้าว พาไปเปิดบัญชีธนาคาร และคอยจัดการธุระให้หลาย ๆ อย่าง และยังมีคุณโยชิดะ ที่คอยถามไถ่ทุกข์สุข และมักจะพาผมไปเที่ยวกับครอบครัวของเขาเป็นประจำ ส่วนผู้ดูแลด้านการฝึกอบรมจะเป็นคุณอาเบะ และจะมีเพื่อนร่วมงานที่สนิทมาก 3 คน คือ คุณฮานาอิ, คุณโคจิมา และ คุณทาคาฮาชิ ผมกับพวกเค้าไปทานอาหารกลางวันด้วยกันประจำ การคุยกับพวกเค้าทำให้รู้อะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นมากขึ้นเยอะ และยังเป็นการฝึกภาษาญี่ปุ่นได้อย่างดีอีกด้วย

                จากที่วันแรก ๆ คุยไปก็ติดไป ติดคำศัพท์ที่ไม่รู้จัก เค้าก็จะพยายามเปลี่ยนคำให้เป็นคำที่น่าจะเข้าใจง่ายขึ้น ถ้าเปลี่ยนแล้วผมยังไม่เข้าใจ พวกเค้าก็จะพยายามนึกคำภาษาอังกฤษให้ แต่เนื่องจากพวกเค้าไม่ค่อยถนัดภาษาอังกฤษเท่าไรนัก (ผมเองก็เหมือนกัน) เลยทำให้ได้คำอธิบายประหลาด ๆ มาเป็นประจำ อธิบายไปก็ขำกันไป ถ้ายังไม่เข้าใจอีกก็ต้องจำแล้วไปเปิดดิกเอาทีหลัง เวลาผ่านไป  ผมก็รู้จักคำศัพท์มากขึ้น ทำให้คุยกันได้ราบรื่นขึ้นกว่าแต่ก่อน

                สำหรับงานที่ผมได้ทำที่นี่ เป็นงาน Software เป็นหลัก เป็นโปรแกรมสำหรับทดสอบเครื่องยนต์ในรถยนต์ เนื่องจากว่า มีอยู่วันนึงผมเกิดว่างขึ้นมา ไม่มีอะไรทำ พอดีเห็นว่าเพื่อน ๆ กำลังทำงานนี้อยู่  ผมเลยเข้าไปร่วมช่วยทำด้วย งานนี้จะใช้ Visual C++ เป็นหลัก ซึ่งผมไม่เคยใช้มาก่อนเคยใช้แต่ภาษา C ผมเลยรบกวนให้คุณแม่ช่วยซื้อหนังสือเล่มนึงส่งไปให้ เพราะที่นั่นมีแต่หนังสือภาษาญี่ปุ่น อ่านไม่ออก หลังจากที่ได้เริ่มศึกษาจากหนังสือแล้วก็เริ่มทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ โดยที่ในระยะแรก เค้าจะแบ่งงานเล็กๆให้เราก่อน เช่น หากเค้ากำลังจะทำอะไรอย่างนึงแต่ยังหาวิธีไม่ได้ ก็จะให้ผมช่วยหาวิธีให้ โดยผมก็จะหาข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก พอพบวิธีที่ต้องการก็บอกเค้า และเค้าก็จะเป็นคนลงมือเขียนลงในโปรแกรมเอง พอผ่านมาสักระยะหนึ่ง ผมก็ได้ร่วมทำงานในโค้ดโปรแกรมจริงๆของงาน ซึ่งแรก ๆ ก็สร้างความยุ่งยากให้กับผมพอสมควร เนื่องจากในโปรเจคงานมีโค้ดเป็นสิบ ๆ ไฟล์ แต่ละไฟล์ก็ไม่ใช่สั้นๆ กว่าจะเริ่มชินว่าโค้ดส่วนไหนอยู่ตรงไหนก็ใช้เวลาพอสมควร

                ในที่สุด 1 ปีของการฝึกงานก็ผ่านพ้นไปด้วยดี พร้อมกับประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมด้วย Visual C++ การทำงานเป็นทีม มีการประชุมกันเป็นประจำเพื่อให้ทุกคนรับรู้ถึงสภาพของงานในขณะนั้น พัฒนาการด้านภาษาญี่ปุ่นที่พัฒนาขึ้นกว่าตอนก่อนเดินทางอย่างมาก และได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นที่แตกต่างไปจากบ้านเรา  ทั้งหมดนี้นับเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ได้รับจากการเดินทางไปฝึกงานในครั้งนี้

                สุดท้ายนี้ขอบคุณพี่ ๆ ร่วมโครงการ ESTATE ทุกคน ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาอยู่เสมอ ขอบคุณกลุ่มนักเรียนไทยในนาโกยา ที่เปรียบเสมือนครอบครัวของผมที่นั่น ทำให้ผมได้พบกับช่วงเวลาที่อบอุ่นถึงแม้จะอยู่ห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน และที่ขาดไม่ได้ ขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่านที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งโครงการ ESTATE ขึ้นมานะครับ หากไม่มีทุกท่าน ผมก็คงไม่มีโอกาสดี ๆ อย่างนี้ ขอบคุณครับ 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที