ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 60962 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........วุฒิชัย ปันวารี

                สำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ของนักศึกษาโครงการ ESTATE  รุ่นที่ 1  ฉบับนี้ก็เดินทางมาเกินครึ่งทางแล้ว  แต่ก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ดี ๆ  และสีสันของการใช้ชีวิตสำหรับการฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น
 

ความเป็นมา         

สวัสดีครับ ผมชื่อ นาย วุฒิชัย ปันวารี ก่อนอื่นคงต้องเล่าความเป็นมาก่อนที่ตัวผมเองนั้นจะได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ ESTATE (Embedded Systems Training Alliance for Thai Engineers) ผมได้รับการแนะนำจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เคารพ ซึ่งเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผม ซึ่งในขณะนั้นเองผมกำลังจะต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ด้าน Embedded เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานกับงานที่รับผิดชอบอยู่ และเพิ่มประสบการณ์อื่นให้กับชีวิต

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

                เมื่อได้เริ่มเข้ามาเรียนรู้ในโครงการ ESTATE แล้วพบว่า เราจะได้เรียนรู้หลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น ซึ่งตัวผมเองนั้นไม่เคยมีพื้นฐานมาเลย จะรู้จักภาษาญี่ปุ่น ก็แต่ เพียง  “โออิชิ”   “ฟูจิ” เหมือนคนทั่ว ๆ ไปที่รู้จัก  ซึ่งโครงการนี้ได้ พยายามสอนพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพวกเราทั้ง 14 คน ต้องอยู่ตลอดหนึ่งปีหลังจากเรียน ภาษา และ ด้าน Embedded รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณหกเดือน ที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ซึ่งตลอดระยะเวลานั้นได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ ทั้งสิบสามคน และพี่ๆ Staff ที่ใจดี ซึ่งทำให้ตัวผมเองนั้นมีความสุข และไม่เครียด ขณะที่เรียนรู้  ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนค่อนข้างจะเครียดพอสมควรในการเรียน  เพราะจะต้องทำการบ้าน หรือพยายามเรียนรู้เรื่องที่เรียนให้ทัน อารมณ์ก็คงประมาณเข้ามหาลัยปีหนึ่ง  คือ ต้องปรับตัวให้ทันน่ะครับ

                จนมาถึงช่วงปลายของการเรียนที่ประเทศไทย ได้มีการเลือกบริษัทที่พวกเรา สิบสี่คน ต้องไปฝึกงานในแต่ล่ะบริษัท ผมเองนั้นได้เลือกจะไปฝึกงานกับ บริษัทที่ผลิต ด้าน Flow meter และ Level  meter  (เครื่องมือวัดอัตราไหล และ วัดระดับ) ชื่อว่าบริษัท TOKYO KEISO (โตเกียว เคอิโซ)  ซึ่งเป็นบริษัท ที่เชี่ยวชาญทางด้านการทำ เครื่องมือวัดอัตราไหล และ วัดระดับ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรม มากกว่า 50 ปี  ซึ่งจริงแล้วตัวผมเองนั้นก็พึ่งจะรู้จักก็ตอนเข้ามายังโครงการ ESTATE นี้เองน่ะครับว่า เค้าก็มีชื่อเสียงในด้านนี้เหมือนกันแต่ก็คงจะเป็นที่รู้จักกันเฉพาะคนที่ใช้  ส่วนตัวผมเองถ้าจะรู้จักบริษัทที่ทำเครื่องมือด้านนี้ก็คงเป็นบริษัท YOGOKAWA ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น งานด้านไฟฟ้าด้วย  เหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกบริษัท TOKYO KEISO เพราะผมอยากเรียนรู้ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ออกแบบ การผลิต การทดสอบ ซึ่งบางส่วนก็เกี่ยวข้องกับ ด้าน Embedded   และลักษณะงานที่ผมเคยทำก่อนหน้านี้ มีบางส่วนเกี่ยวข้องกับ การวัด อยู่บ้าง จึงอยากสานต่อความรู้ที่มี เพื่อนำไปพัฒนา ตนเอง และ อุตสาหกรรมในประเทศชาติต่อไป  

เมื่อมาถึง ณ ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก่อนที่ตัวผมเองจะได้รับการฝึกงานจาก บริษัท TOKYO KEISO นั้นจำเป็นจะต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น การใช้ชีวิต และวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นที่ AOTS (The Association for Overseas Technical Scholarship) สาขา คันไซ  หรือที่รู้จักกันในนามศูนย์ฝึกอบรมคันไซ (Kansai Kenshu Center – KKC)  ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้ฝึกงานกับบริษัทญี่ปุ่นให้พร้อมก่อนที่จะส่งตัวไป/ฝึกงานยังบริษัท ซึ่งผมจะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ทั้งหมดหกสัปดาห์ด้วยกัน  สิ่งที่แตกต่างจากเมืองไทยก็คือ เราต้องเรียนกับเพื่อนต่างชาติด้วย  และ บรรยากาศรอบ ๆ เป็นประเทศญี่ปุ่น และมีแต่คนญี่ปุ่น

  

ลักษณะงานที่ทำ

                 ขอเข้าเรื่องต่อนะครับ หลังจากได้เริ่มมาฝึกงานอยู่ใน บริษัท TOKYO KEISO แล้ว บริษัทได้เตรียมแผนกันฝึกงานตลอดทั้งปี ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมรู้สึกดีมากในความพร้อม และ ตั้งใจที่จะฝึกงานให้กับผม โดยเนื้อหาที่บรรจุลงไปมีทั้งทฤษฎี และ ปฏิบัติ ควบคู่กันไป  ซึ่งผมพอจะอธิบายได้ดังนี้

                ช่วงแรกนั้นเน้นทางด้าน การทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ ของบริษัท TOKYO KEISO  ทั้งหมดคร่าว ๆ ก่อนว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง และใช้กับงานด้านไหน ซึ่งจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ วัดอัตราไหล และ วัดระดับ   

                จากนั้นก็จะเริ่มสอน หลักการ หรือ ทฤษฏีของเครื่องมือวัดอัตราไหลแบบต่างๆ โดยนำผู้เชี่ยวชาญของแต่ละประเภทของผลิตภัณฑ์ แต่ละแผนก มาอธิบายอย่างละเอียดว่า มีหลักการอย่างไร  มีข้อดีข้อเสีย  และ เหมาะสมกับงานด้านไหนในอุตสากรรรม เป็นระยะเวลาประมาณสี่เดือน  ซึ่งในช่วงเวลานั้น ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านเครื่องมือวัด ซึ่ง ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยความรู้ด้านเครื่องกลเป็นส่วนใหญ่ นั้นเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากสำหรับผม  แต่ก็มีบางส่วนที่เกี่ยวกับ ด้าน Embedded อยู่ ซึ่งจะเกี่ยวมากเกี่ยวน้อย ขึ้นอยู่กับ เทคนิคการวัดของแต่ละผลิตภัณฑ์ และ การติดต่อสื่อสารกับระบบภายนอก 

                จากนั้นก็ได้รับการสอน ด้านลำดับการผลิตเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการผลิตในโรงงาน ซึ่งได้รวมไปถึงด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในโรงงาน โดยเริ่มตั้งแต่รับ Order จากลูกค้า เลือกวัสดุ และชิ้นส่วนที่เหมาะสม ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิตชิ้นส่วนในโรงงาน และ การจัดเก็บวัตถุดิบ และจัดเก็บ ชิ้นส่วนเพื่อรอการผลิต จนกระทั่งประกอบ ทดสอบ และ บรรจุลงกล่อง และส่งออกไปยังลูกค้า  ซึ่งในช่วงนี้เราพอจะเข้าใจลำดับการผลิตเบื้องต้น  ซึ่งได้ลงไปดูในงานจริงขณะเรียนด้วย และได้รับการต้อนรับจากพนักงานในโรงงานเป็นอย่างดี

                สุดท้าย ได้รับการสอนเน้นไปทางด้านปฏิบัติ โดยแยกไปตามชนิดของผลิตภัณฑ์  โดยงานส่วนมาก จะเน้นเทคนิคการประกอบ ทดสอบ  และการ Calibration ของแต่ละผลิตภัณฑ์  ซึ่งตัวผมเองก็ได้ลงไปปฏิบัติจริงในบางขั้นตอนที่ผู้สอนเห็นว่าจะสามารถทำได้ และไม่อันตราย ซึ่งในช่วงการเรียนนี้ จะใช้ทักษะความชำนาญเป็นส่วนใหญ่ 

 

สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น 

                ส่วนใหญ่จากที่ได้เห็นการทำงานของคนญี่ปุ่นในโรงงานแล้ว คนญี่ปุ่นค่อนข้างตรงเวลามาก แต่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็มีบ้างที่ไม่ตรงเวลาแต่ก็จะโดนตักเตือน หรือสื่อสารกลับไปว่าสายแล้ว โดยไม่ได้เพิกเฉย  และ ยังใช้คำขอโทษบ่อยด้วย หากทำผิด

                การทักทายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเจอกันตอนเช้า ก็ต้องทักทายกัน หรือพึ่งเจอหน้ากันก็จะทักทาย รวมถึง ตอนจะกลับบ้านก็ต้อง บอกลาก่อนจะกลับ  ซึ่งผมจะเห็นการทักทายแบบนี้เป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งในที่ทำงานหรือ นอกที่ทำงาน

 

สภาพความเป็นอยู่

                ที่พักของผมนั้นเป็น สาขาหนึ่งของ AOTS ซึ่งเป็นสาขา YOKOHAMA  หรือ ศูนย์ฝึกอบรมโยโกฮาม่า (Yokohama Kenshu Center – YKC)  โดยภาพรวมก็คล้าย ๆ กับที่ คันไซ  แต่จะอยู่ใกล้ทะเลมากกว่า   เนื่องจาก โยโกฮามานั้น  เป็นเมืองท่าทางตะวันออกของญี่ปุ่นซึ่งติดทะเล  โดยมากผมมักจะเรียกที่พักนี้ว่า Kenshuu Center  ในทุกวันผมจะนั่งรถไฟ โมโนเรล ชื่อว่า Sea side line และไปต่อรถไฟฟ้า เพื่อไปยังสถานี ที่ใกล้กับโรงงานโดยใช้เวลาประมาณ หนึ่งชั่วโมง และ เดินต่ออีก สิบห้านาทีจึงถึงโรงงาน  ซึ่งเรื่องสภาพความเป็นอยู่นั้นผมถือว่าสะดวกสบายมาก เพราะทุกอย่างถูกจัดไว้ให้เราหมดแล้วใน Kenshuu center  ไม่ว่าอาหาร หรือที่พัก  ส่วนการเดินทางก็จะมีเบียดเสียดกันบ้างในตอนเช้าๆ 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการไปฝึกงานครั้งนี้

                นอกจากความรู้ด้านวิชาการที่ได้รับ แล้วคงเป็นประสบการณ์ที่ดี ไม่ว่าเป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ภาษา และได้ไปเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น รวมถึงมิตรภาพที่ดีกับเพื่อนญี่ปุ่น คนไทย และ ต่างชาติ

 

สิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต

                ผมหวังว่าจะได้นำความรู้ที่ได้รับจากประเทศญี่ปุ่น และโครงการนี้ นำกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ  และศึกษาหาความรู้เพื่อยกระดับทักษะของตน และถ่ายทอดให้กับคนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สุดท้ายก็ต้องขอขอบพระคุณ ดร.วิวัฒน์ , ดร.อิทธิ , ดร.บัณฑิต, ผศ.อภิเนตร, พี่มดแดง , พี่หนึ่ง และเหล่าคณาจารย์ทั้งไทยและญี่ปุ่นทุกท่าน  รวมถึง ประธานบริษัท โตเกียว เคอิโซ, คุณซุกิ , คุณ ฮาโคโมริ, คุณ คาซาฮาร่า และ พนักงาน ทุกท่าน ที่ให้โอกาส และสนับสนุนการฝึกงานของผมในครั้งนี้  ขอขอบพระคุณครับ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที