วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 27 มี.ค. 2008 18.54 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5240 ครั้ง

ข้าราชการ ต้องเป็น "ข้าราชการ"


“สหภาพข้าราชการ” ส่อนิสัย อำนาจข้าใครอย่าแตะ!!!

18845_pidpak.jpg

พอได้ยินคำว่า “สหภาพ” แน่นอนว่าหลายคนคิดทันทีถึงการ “เรียกร้อง” “ประท้วง” “ปิดถนน” “เผา” “ปราบปราม” “บาดเจ็บ” “ฟ้องร้อง” “เงียบ”ฯลฯ

 

ถ้ามีการจัดตั้งสหภาพขึ้น ณ ที่ใด ย่อมเป็นสิ่งบอกเหตุได้เช่นกันว่า ณ สถานที่แห่งนั้นอาจจะมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในการบริหารจัดการ หรืออาจจะมีแต่ก็ไม่เป็นที่มั่นใจได้ในระยะยาว จึงได้จัดตั้ง “สหภาพ” ขึ้นมาเป็นตัวถ่วงดุล

 

ในโลกนี้ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง มีดีมีชั่ว สหภาพก็มี “สหภาพดี” “สหภาพชั่ว” ได้เหมือนกัน สหภาพที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกันระหว่างหมู่สมาชิกและอยู่กันอย่างสร้างสรรค์กับนายจ้าง ประเถทนี้ถือเป็น “สหภาพดี” ส่วน “สหภาพชั่ว” เป็นสหภาพที่ถูกยุแหย่จัดตั้งโดยหวังผลทางการเมืองเอะอะอะไรก็ “ประท้วง” เป็นสหภาพลักษณะไร้การศึกษา

 

เมื่อเร็วๆนี้ได้มีข่าวออกมาว่าข้าราชการจะจัดตั้ง “สหภาพข้าราชการ” นั่นก็ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าในระบบราชการอาจยังไม่มีความเป็นธรรม หรือมีแต่ไม่เป็นที่แน่นอนมั่นใจว่าจะมั่นคงได้ยาวนานหรือไม่

 

“สหภาพข้าราชการ” หากไม่ถูกปรามจากรัฐบาลสมัคร ๑ เสียก่อน แม้นกำเนิดขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะเป็น “สหภาพข้าราชการชั้นดี” หรือ “สหภาพข้าราชการชั้นเลว”

 

จะดีหรือเลวก็ต้องดูว่าข้าราชการตั้งสหภาพมาเพื่อใคร “เพื่อประชาชน” แม้นมีสหภาพแล้วจะทำให้การบริหารราชการสามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง หรือ “เพื่อตนเอง” ถ้ามีสหภาพแล้วการเป็นข้าราชการแบบเช้าชามเย็นชามจะยังคงมั่นคงไม่มีใครมากล้าแตะไม่เว้นกระทั้งนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาตน คำสั่งใดไม่ถูกใจเป็นต้องประท้วงหยุดงาน หรือเพื่อ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” อันมีข้าราชการเป็นใหญ่ในแผ่นดินกอบโกยกินบนภาษีราษฎรที่หยิบยื่นให้ด้วยความยากลำบากทั้งกายและใจ

 

แต่ดูเหมือน “เพื่อตนเอง” “เพื่อระบอบอำมาตยาธิปไตย” จะมีน้ำหนักมากกว่าเพราะเป็นลักษณะ “รับไม้” จากการปฏิวัติ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่แฝงเร้นไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ในมาตรตรา ๖๔ ความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น

ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียว กับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสองจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ”

 

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เริ่มมีอะไรที่พิสดารคาดไม่ถึงออกมาเป็นระยะ นี้หรือไม่ที่ระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” ได้ว่างแผนกันไว้แล้วว่า “รัฐอำมาตยาธิปไตย” ต้องฟื้นคืนชีพโดยแบ่งกันตีแยกกันเดินแต่มีเป้าหมายเดียว ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่าขณะนี้ได้แยกย้ายกันไปอยู่ทุกซอกทุกมุมอำนาจแล้ว

 

ยิ่งกรณีของ “สหภาพข้าราชการ” นี้ก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะใช้ข้าราชการเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่จะไม่ฟังอำนาจนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นั่นคือ “ประท้วง” “หยุดงาน” และอีกสารพัดวิธีที่จะไม่ให้การบริหารบ้านเมืองของพรรครัฐบาลเป็นไปอย่างสะดวก เพราะอย่างไรเสียข้าราชการก็เป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ

 

การออกมาจุดกระแส “สหภาพข้าราชการ” จึงเป็นอีกมุขหนึ่งที่ยังมีอีกหลายๆมุขที่จะฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตย ข้าราชการคงรู้ดีว่าถ้าพรรคพลังประชาชน พรรคการเมืองอื่นๆที่จะมาปรับปรุงระบบข้าราชการยังแข็งแรงอยู่จะไม่มีวันเงยศีรษะได้

 

การจะไม่เกิด “สหภาพข้าราชการ” ก็เห็นจะมีทางเดียวคือพรรคการเมืองถูกยุบทุกพรรคเหลือพรรคเดียวที่เห็นดีเห็นงามกับการปฏิวัติรัฐประหาร

 

เมื่อพรรคการเมืองะอ่อนแอและตายไป กว่าจะเกิดใหม่กลุ่มข้าราชการก็สถาปนา“รัฐอำมาตยาธิปไตย” ได้แข็งแรงแล้ว ระหว่างนั้นประชาชนพลเมืองชาวไทยก็คงเป็นได้แค่ “ทาสข้าราชการ”

 

ภาพจากอินเตอร์เน็ต


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที