icykids

ผู้เขียน : icykids

อัพเดท: 28 มี.ค. 2008 18.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 50123 ครั้ง

บทความโดยคุณก้านกฤษณา


การแปรรูปยางรถยนต์เก่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

การแปรรูปยางรถยนต์เก่า เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกระบวนการ Pyrolysis แบบชาวบ้านๆ


          จากสภาวะการปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันต่อบาเรลล์ เหยียบระดับ 100 กว่าเหรียญ บ้านเราที่เป็นประเทศน้ำเข้าน้ำมันเป็นสินค้าหลักก็พลอยต้องโดนผลกระทบอันช่วยไม่ได้   เราจึงเป็นต้องหันไปหาพลังงานในรูปแบบอื่น
ซึ่งพอจะบรรเทาปัญญาน้ำมันแพงได้ในระดับนึง

*** การแปรรูปยางรถยนต์เก่า  เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกระบวนการ Pyrolysis  แบบชาวบ้านๆ " เป็นบทความที่ผมเขียนขึ้นจากความรู้แบบงูๆ ปลาๆ ชาวบ้านๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นัก เพียงแต่ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่บ้านผมได้เริ่มทำขึ้นเกือบจะเป็นเวลาสองปี จากประสบการณ์ที่เริ่มจาก "ศูนย์" จนกระทั่งตอนนี้ก็ยังพอถูๆ ไถๆ ไปได้ แม้จะไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพมากนักก็ตามแต่เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ในการที่จะเอาสิ่งที่เหลือใช้ มาผ่านกระบวนการบางอย่างให้ได้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นซึ่งหากจะมีข้อผิดพลาดก็ขออภัยเพื่อนพ้องไว้ด้วย 


***
จุดเริ่มต้น ***
การทำธุรกิจเตาเผาน้ำมันครั้งนี้ เริ่มต้นเมื่อประมาณเดือน มิถุนายน ของปี 2549ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการจับธุรกิจที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แค่เพียงได้ยินว่า สามารถกลั่นน้ำมันเตาจากยางรถยนต์ใช้แล้วได้ ผม และครอบครัวก็ส่ายหน้า  มันจะเป็นไปได้อย่างไร  ยางรถยนต์กับน้ำมัน มันไม่น่าจะไปด้วยกันได้   แต่เนื่องจากขณะนั้นเพื่อนคุณพ่อซึ่งเป็นมังกรจีน ได้แวะเวียนมาเยี่ยม พร้อมกับนำข้อมูลเรื่องการกลั่นน้ำมันจากยางรถเก่า (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า  "การหุงยาง) มาให้พิจารณา พอได้รับข้อมูลมาดู ก็ขอยืนยันคำเดิมว่า "ไม่เชื่อ" เพราะสิ่งที่นำมาให้ดู มันช่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในการผลิตน้ำมัน หรือแม้แต่ "ค่าตอบแทน" ที่จะได้รับจากธุรกิจชนิดนี้ มันช่างเกินคาดจริงๆ ด้วยเหตุนี้ บ้านผมจึงมานั่งปรึกษากันว่า เราจะลอง "ธุรกิจ" ตัวใหม่นี่ดูดีมั้ย ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย  ผลสรุปก็ออกมาว่า โอเค เราจะลองดู แต่จะหยุดทันที ที่เห็นว่ามันไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลที่เราได้รับจริง


ก่อนจะไปถึงเรื่องธุรกิจที่พูด ขอวกกลับมารเรื่องของ "กระบวนการในการหุงยาง หรือวิธี Pyrolysis " ซักนิด  ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญที่เราใช้ในการกลั่นน้ำมัน กระบวนการ Pyrolysis เป็นกระบวนการย่อยสลายโมเลกุลด้วยความร้อนในบรรยากาศที่ปราศจากออกซิเจนเพื่อเปลี่ยนชีวมวลซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ให้กลายเป็นก๊าซที่เผาไหม้ได้ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไฮโดรเจน (H2) และก๊าซมีเทน (CH4) โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นการเผาไหม้อินทรียสารแบบจำกัดปริมาณออกซิเจน ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อผลิตก๊าซและน้ำมัน

งง...มั้ยครับ..??  ผมและครอบครัว ฟังสามบรรทัดนี้ปุ๊บ ก็มองหน้ากันเลิ่กลั่กโดยเฉพาะอาเตี่ย  เริ่มมีเสียงครางออกมาเบาๆ  "ลื้อพูดอะไร อั้วไม่เข้าใจ.."  ซึ่งหากพูดภาษาคนแบบบ้านๆ ของผมก็ต้องบอกว่า กระบวนการนี้ มันคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของยางรถยนต์  โดยให้ผ่านความร้อนระดับสูงมากๆ ในสภาวะที่เราควบคุมอากาศ หรือว่า ไร้อากาศนั่นแหละ  ซึ่งพอยางรถยนต์ได้รับอุณหภูมิสูงๆ แบบนี้ หายใจไม่ออกอีกตะหาก (ไม่มีออกซิเจน) องค์ประกอบทางเคมีของยางที่ส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนเริ่มระเหย ซึ่งจะกลายเป็นก๊าซ และถ้าเราเอามันไปทำควบแน่น มันก็จะกลายเป็น "น้ำมัน" ที่เราต้องการครับแต่จากขั้นตอนแรก จนถึงขั้นตอนสุดท้าย เราฟังดูง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่ได้ง่ายเลยครับ !!

พอได้รับฟังข้อมูลคร่าว เราก็ต้องมาหาข้อมูลเอาเอง เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจากการศึกษาการวิจัยภายในประเทศ ยิ่งทำให้ผมได้เปิดกะลารู้ว่า บ้านเราได้มีการวิจัยเรื่องการเผายางรถยนต์เพื่อเอาน้ำมันมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว หนึ่งในงานวิจัยนั้น มีงานวิจัยเรื่อง "โครงการนำยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ตั้งต้นที่มีคุณค่าด้วยวิธีการไพโรไลซิส" ผลงานการศึกษาของ ผศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า และ รศ.ดร.รัตนวรรณ มกรพันธ์ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ซึ่งถืออำนวยประโยชน์ในการศึกษาของผมมากมายกระบวนแปรรูปยางรถยนต์เก่ามาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมี 3 ลักษณะด้วยกัน

1.
กระบวนการ "Pyrolysys" ซึ่งก็คือการย่อยสลายโมเลกุลด้วยความร้อนในบรรยากาศที่ปราศจากออกซิเจน เพื่อผลิตก๊าซและน้ำมัน

2.Gasification
คือกระบวนการย่อยสลายโมเลกุลด้วยความร้อน เพื่อผลิตก๊าซสังเคราะห์ (ไฮโดรเจนกับคาร์บอนมอนอกไซด์)
3.Liquefaction
คือการย่อยสลายโมเลกุลด้วยความร้อนร่วมกับใช้ตัวทำละลาย (หรือของเหลวที่ไม่ใช่น้ำ) เพื่อผลิตน้ำมันเป็นผลิตภัณฑ์หลัก
ทั้ง 3 กระบวนการถูกเรียกรวมกันว่า "PGL Process" อย่างไรก็ตาม
กระบวนการไพโลไรซิสเป็นกระบวนการที่มีการใช้มากที่สุดในโลก เนื่องจากมีความยุ่งยากน้อยกว่ากระบวนการอื่นๆกระบวนการ PGL ได้มีมานานแล้วหลายประเทศ ในช่วงปี 1995 มีประเทศอังกฤษ บัลแกเรีย อิตาลี เยอรมัน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีโครงการลักษณะนี้กระจายอยู่หลายรัฐถึง 21 โครงการด้วยกัน พอหลังปี 1995 มีประเทศฝรั่งเศส อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่นำกระบวนการ PGL มาใช้

*คณะวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

*** ทำไมยางจึงมีน้ำมัน ***
น้ำมันเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ต่อกันเป็นสายโซ่ ไม่สำคัญนักซึ่งหากนำผลิตภัณฑ์
ที่มีองค์ประกอบไฮโดรคาร์บอนสายโซ่ขนาดใหญ่ เช่น ยางรถยนต์มาทำปฏิกิริยาให้สายโซ่เหล่านั้นแตกออกผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็จะทำให้น้ำมันออกมาได้ โดยใช้วิธีการเผาในเตาปฏิกรณ์ที่มีสภาพไร้อากาศ หรือที่เรียกว่ากระบวนการไพโรไลซิส "ผลิตภัณฑ์ขั้นแรก" ที่ได้มีดังนี้คือ 1.ก๊าซเชื้อเพลิง 2.น้ำมัน 3.คาร์บอนแบล็ก 4.ลวดเหล็ก โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นน้ำมัน พบว่ามีค่าความร้อนสูงกว่าถ่านหินโดยทั่วไป และคุณภาพก่อนการปรับปรุงก็อยู่ในช่วงของน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล

*อุปกรณ์วิจัยกระบวนการไพโรไลซิส

*** คุณภาพของน้ำมันที่ได้ ***

การไพโรไลซิสยางรถยนต์ทำให้ได้น้ำมันดิบที่มีคุณภาพดีกว่าน้ำมันที่ขุดเจาะ เนื่องจากไม่มีการปนเปื้อนยางมะตอยและโลหะหนัก ทำให้น้ำมันมีลักษณะเป็นยางเหลวและใสกว่า ซึ่งสามารถนำไปแยกเป็นน้ำมันชนิดต่างๆ ได้ตามลำดับจุดเดือดและขนาดของโมเลกุล คือน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา รวมถึงก๊าซชนิดต่างๆ ในสัดส่วนที่ต่างกัน ชนิดของน้ำมันที่ได้มากที่สุด คือน้ำมันเตา ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงเตาเผาในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากมีการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันตัวอื่นๆ ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ก็สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือนำไปผสมกับน้ำมันดิบเพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ จึงเป็นที่มาของการทำวิจัยก็เพื่อเพิ่มสัดส่วนน้ำมันที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น โดยการใส่ตัวเร่งปฏิกิริยาเข้าไปในกระบวนการไพโรไลซิส

*** การวิจัย และการทำธุรกิจเกี่ยวกับการเผายางเอาน้ำมันในประเทศไทย เป็นอย่างไร "ที่ผ่านมาการทำไพโรไลซิสยางรถยนต์ในประเทศไทยมีการทำวิจัยอยู่บ้าง แต่ยังไม่ปรากฏเครื่องต้นแบบระดับสาธิตและระดับเต็มรูปแบบ และยังไม่ปรากฏว่ามีการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาผลิต หรือมีการคำนวณเพื่อศึกษาความคุ้มทุนในเชิงพาณิชย์ โดยใช้สภาวะและปัจจัยต่างๆ ของประเทศไทยอย่างจริงจังจากข้อมูลที่ค้นหา แม้จะมีประโยชน์ในการศึกษารูปแบบ กระบวนการ แต่ก็เป็นเพียงระดับเบื้องต้นเท่านั้น  ผมจำเป็นต้องไปหาคลำเอง ลองผิดถูกเอง จึงจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่กว่าจะได้ข้อมูลเหล่านี้ ธุรกิจบ่อน้ำมันร้อยล้าน ของผมก็ขับเคลื่อนไปแล้ว  55555

กลางเดือนตุลาคม 2549 บ้านผมเริ่มทำการวางแผนที่จะเตาหุงยางเพื่อดึงเอา"น้ำมัน" ออกมา  ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญมากคือสถานที่ในการดำเนินการ เพราะจากการศึกษา ฟังเขาเล่ามา และพอจะเดาได้ว่า การเผายางจะมีสิ่งไม่พึงประสงค์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขม่า กลิ่น ฯลฯ  จึงตัดสินใจเลือกเอาบ่อทรายของครอบครัว ซึ่งอยู่ไกลชุมชน มาทำเป็นเตาผลิตขนาดของพื้นที่ที่พยายามเจียดมามากที่สุด อยู่ที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร ไว้เผื่อนำวัตถุดิบหลัก ก็คือ ยางเก่า มาเก็บไว้ด้วยเตาหุงยาง พร้อมปล่องคู่  ตอนแรกปล่องสูงแค่สองเมตรกว่าๆ ลองหุงดูปรากฏว่า ควันมันลอยต่ำเกินไป จนต้องเปลี่ยนความสูงมากขึ้นเป็น 7 เมตร

บ่อทรายที่ห่างไกลจากแหล่งชุมชน ถูกทำเป็นที่กองยางเก่าที่รับซื้อมา  การรับซื้อยางเก่า มีทั้งออกไปรับซื้อเอง และมีคนนำมาส่งให้  จำนวนที่รับต่อครั้งจะอยู่ประมาณ 50-70 ตัน ซึ่งอัตราการซื้อขายจะขอพูดในตอนท้ายครับ
กระโจมคนงาน ใช้ดูแลเตา

ยางที่เตรียมนำมาหุง จะถูกปาดเอาแก้มยางออก แยกไว้เป็นสัดส่วน แล้วทำการมัด

แก้มยางที่ถูกปาดออกแล้วก็แยกไว้เช่นกัน


***ยางประเภทไหนบ้างที่ใช้หุงน้ำมันได้ ***
จากการศึกษาพบว่ายางเกือบทุกชนิด รวมถึงพลาสติกนั้น เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับน้ำมัน

ซึ่งสามารถนำมาเผาเอาน้ำมันได้ทั้งสิ้น   ในเตาเผาที่ทำอยู่จึงประกอบด้วยยางประเภทต่างๆ นอกเหนือจากยางรถยนต์ ยางใน เป็นต้น


เศษชิ้นส่วนที่ทำจากยางก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
ลักษณะเตาเผา เป็นเตาก่อเอง ใช้แรงงานคนก่อ ช่างเหล็ก ช่างเชื่อม ตลอดทั้งโครงการ ไม่เกิน 10 คน ใช้เวลาทั้งสิ้นในการดำเนินการก่อเตาอย่างเดียว 2 เดือน  รูปแบบของเตาเป็นรูปแบบเตาเก่าที่มังกรจีนเพื่อนเตี่ยเอามาให้ดู แต่จากที่บ้านผมทำงานด้านการหลอมโลหะมานาน จึงเห็นจุดบกพร่องบางอย่าง เลยทำการแก้ไขตัวเตาใหม่  แต่ก็ยังเป็นแบบชาวบ้านๆ อยู่ดี  - -"
หนึ่งเตาประกอบไปด้วย  6 หลุมนึ่ง  โดย ปากหลุมมีขนาด 1.50 เมตร สูง 2.5 เมตร เป็นท่อโลหะม้วนหนาหล่อด้วยคอนกรีตทนไฟ สามารถใส่ยางได้คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 300 -500 กิโลกรัมต่อหลุม หรือแล้วแต่ขนาดของยางที่ใส่
กระบวนการ Pyrolysis เป็นการทำในสภาวะจำกัดออกซิเจน จึงเป็นเป็นต้องออกแบบการดักออกซิเจนให้เข้าในตัวถังขณะปิดให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด
สภาพหลุมขณะทำการหุงยาง  ถูกอบโดยปราศจากออกซิเจนในระบบปิดภายในอุณหภูมิประมาณ 400 องศาเซลเซียส ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก๊สมีเทน ไอน้ำมันร้อน และถ่าน
ตัวเตาก่อจากอิฐมอญ อิฐมวลเบา และอิฐทนไฟ
แยากไปในแต่ละจุด  ซึ่งการออกแบบคำนวนระบบ และทิศทางการกระจายไอร้อนให้แผ่ไปทั่วเตา และตัวถังหุง  เพราะนี่ไม่ใช่การย่างเตา แต่เป็นการส่งไอเข้าไป คล้ายกับการอบ

การใส่เชื้อเพลิงไม่จำเป็นที่จะต้องใส่เข้าไปด้านใน เพียงแต่นำส่งเข้าด้านหน้าเตา แล้วใช้ก้นหอยเป่าลมร้อนเข้าไป ก็เพียงพอ

สภาพเตาร้อยล้าน ของกระพ้มครับ...   555  ยิ่งใหญ่มาก
 
ความร้อนถูกกระจายไปทั่วเตาด้วยก้นหอยตัวจิ๋ว

 

โดยมีพนักงานคอยยืนใส่ไฟตลอดเวลา  ซึ่งถ้าใครสังเกตุ  จะมีปลายสายด้านซ้าย จะมีเปลวไฟพุ่งมาด้วย นั่นเป็นสายแก๊สที่เราช่วยให้ความร้อนนอกจากการใช้ถ่านครับ  สงสัยมั้ยครับ  ถ่านเชื้อเพลิง และ ก๊าซ ที่ได้  เรานำมาจากแหล่งไหนกัน.... ?   เดี๋ยวจะบอกครับ

หลังจากที่ยางโดนหุงจนคาร์บอนระเหยกลายเป็นก๊าซ พุ่งสู่จมูกท่อที่ทำต่อไว้ จากนั้น ก๊าซจะถูกดำเนินไปตามท่อที่เราหล่อน้ำไว้ครับ   เป็นทฤษฏีการกลั่นง่ายๆ ที่มีมานานแล้ว  ก๊าซ เกิดการควบแน่นกลายเป็นของเหลว ซึ่งของเหลวที่ได้ ไม่ใช่น้ำเปล่าแน่ๆ   แต่มันเป็นน้ำมันครับ...
จุดควบแน่นก๊าซ เป็นท่อเหล็กยาวประมาณ 15 เมตร หล่อด้วยน้ำตลอดทาง
จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงสุดท้าย คือ ถังพักน้ำมัน
ลักษณะของถังพัก ถูกต่อลงมาจากท่อควบแน่น ไหลลงสู่ท่อพัก ซึ่งทำระบบกรองภายใน ให้น้ำมันที่ได้สะอาดในระดับนึง
จากนั้นก็ปล่อยลงสู่ถังพักในหลุม ก่อนจะถูกดูดไปที่ถังน้ำมันขนาดยักษ์ต่อไป
เอาเครื่องปั้มมาดูดขึ้นไปที่ถังยักษ์ขนาด 15000 ลิตร x 2 ใบ  เฉพาะค่าถัง 2 ใบนี้ ก็หลายหมื่นแล้วครับ เห็นเก่าแบบนี้ก็เถอะ
ย้อนกลับมาที่ท่อควบแน่น หลังจากที่ส่งน้ำมันลงไปแล้ว แน่นอนว่ายังต้องมีก๊าซที่ยังไม่ควบแน่หลงเหลืออยู่แน่นอน  แล้วเราจะทำอย่างไรกับมันดี
เราทำการเด้งท่อกลับด้านบน ย้อนไปที่หน้าเตาอีกครั้ง
จากนั้นทำการต่อสายออก เพื่อใช้เป็นก๊าซเชื้อเพลิง ในการให้ความร้อนแทนที่จะใช้ความร้อนจากถ่านอย่างเดียว
ซึ่งไฟที่ได้จากก๊าซนี้ ขอบอกว่าแรงมากๆ  หากหยิบออกมาชู เปลวไฟจะสูงมาก เหมือน flamethrower เราดีๆ นี่เอง
ระยะเวลาในการหุง ที่ทดลองมาหลายแบบ ที่เหมาะสมสำหรับเตาและความร้อนขนาดนี้อยู่ที่ประมาณ 12 ชั่วโมง เมื่อถึงเวลา พนักงานช่วยกันชักรอกเอายางที่ถูกหุงแล้วออกมาจากหลุม
ยางที่คาร์บอนได้ละเหยออกไป มีลักษณะร่วน แตกเป็นผง และแยกตัวกับใยเหล็ก
ตะแกรงใส่ยางที่นำขึ้นจากหลุม ถูกเทออก จะเห็นว่ายางมันร่วนจนเราสามารถแกะใยเหล็กออกมาได้ง่ายมาก
มันกรอบจริงๆ นะครับ   ใครต้องการอบหมู หรือต้องการเปลี่ยนสภาพศพให้เป็นสแนคเจ๊ค ก็สามารถบอกได้ครับ 

เศษยางร่อนออกมาหลังจากโดนกระบวนการ Pyrolysis  ทายสิครับ เอามาทำอะไร....ใช่ครับ   เราเอามาใช้เป็นถ่าน เพื่อเผาเป็นเชื้อเพลิงในเตานั่นเอง   ตรงนี้คงสามารถตอบข้อสงสัยได้แล้วนะครับ ว่า เชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผา เราได้จากอะไร    เราได้จากตัวของมันเอง  โดยที่ได้ผลิตภัณฑ์แถมเป็นน้ำมัน โดยไม่ต้องเสียค่าเชื้อเพลิงใดๆ เพิ่มแต่อย่างใดครับ
นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่แถมมาอีกสิ่งนึงก็คือ นี่ครับ..."ใยเหล็ก" ของยางที่เผาแล้ว  เป็นลวดเหล็กคุณภาพดี ที่เราสามารถในไปขายได้อีก ซึ่งปัจจุบัน ทุกเดือนจะมีโรงงานมารับซื้อไปเอง โดยให้กิโลกรัมละ 12.50 บาท   อันนี้กระซิบบอกว่า เฉพาะขายลวดเหล็กนี่ ก็ได้ประมาณ 8 หมื่นบาทต่อเดือนแล้วครับ ลองคำนวนดูว่า เดือนนึงต้องเผายางกี่ตันเอ่ย
ใยเหล็กในยางรถ ไม่ได้เป็นแค่เส้นลวดบางๆ เท่านั้น  ในยางรถใหญ่ยักษ์ ลวดจะถูกเพิ่มขนาดเป็นเส้นลวดหนาเตอะ เพิ่มความแกร่งให้ล้อ และเพิ่งราคาในการขายต่อให้กระผมด้วยครับ
คนงานมัดลวดเก็บไว้เตรียมขายโรงงาน
และสิ่งที่หลายๆ คนสงสัย ผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ได้  และเป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดว่าไม่น่าจะออกมาได้  "น้ำมัน" จากท่อควบแน่น น้ำมันก็เริ่มไหลตกลงมา จากหยด สองหยด กลายเป็นไหลเป็นสาย ไม่หยุด
สีน้ำมันที่ได้ เขียวเข้ม ออกดำ กลิ่นต้องปรับปรุง เพราะมันเหม็นเหมือนเบนซิน

รองจากท่อกรอง
สีน้ำมันที่ได้ เป็นไงครับ  ดำสะใจ..  
เครื่องมือที่บ้านก็ไม่มี  จะลองจุดเพื่อดูการวาบไฟ ของน้ำมันที่ได้ คงต้องใช้การคะเนเอาแทน
การวาบไฟของน้ำมันที่ได้ ไม่ไวเท่าน้ำมันเบนซิน แต่ได้ความเร็วเท่ากับน้ำมันโซล่า หรือดีเซลที่ใช้ๆ กัน ซึ่งตรงกับงานวิจัยที่บอกว่า อยู่ในช่วงของน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล
น้ำมันทั้งหมดถูกพักไปเก็บในถังขนาดใหญ่ เตรียมส่งขายโรงงาน    
น้ำมันที่ได้ตัวนี้ เคยส่งไปตรวจทีนึงแล้วถูกจัดอยู่ในรูปของน้ำมันเตา
เต็มถังครับ
คนงานเตรียมดูดใส่ถัง 200 ลิตรเตรียมส่งโรงงาน
กองถัง 200 ลิตรที่ใช้ส่งลำเลียงไปตามโรงงาน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นโรงงานที่ต้องใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในการการผลิต เช่น โรงงานทำอาหาร โรงหล่อ โรงหลอม โรงานเซรามิค ซึ่งแต่ก่อนรับน้ำมันเตาจากโรงกลั่น แต่เมื่อน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น ราคาของน้ำมันเตาจึงเพิ่มตาม ทำให้สินค้าของเราเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เค้าเลือกใช้บริการ

**** ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และผลตอบแทน ****

หากไม่พูดตรงนี้ ก็คงขาดข้อมูลในการตัดสินใจไปเยอะ  ในการดำเนินธุรกิจประเภทนี้ สิ่งที่ต้องใช้มากสุดคงเป็นเงินทุน และ "ใจต้องถึง" ด้วยครับ เพราะมันเป็นธุรกิจที่ใหม่พอสมควร เตาที่ท่านเห็นๆ  เตาเป็นเตาแรกที่ทำขึ้น ผิดถูกปรับแก้หลายรอบ แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร  สนนราคาใบนี้ อยู่ประมาณ 1 ล้านบาท เห็นว่ามันมีไรแค่นี้ก็เหอะ ยางเก่าหมดสภาพ วัตถุดิบหลัก อันนี้แล้วแต่ตกลงราคา สมัยก่อนให้ฟรีก็ยังได้ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีคนรู้ทันค่าแรง ค่าจิปาถะ อันนี้ไม่เท่าไหร่ครับ ตัวผลตอบแทน ผมไม่ขอบอกเป็นตัวเงิน แต่ให้ไปคำนวนเอาเอง ยางรถยนต์ที่ได้จากการหุง เวลา 1 รอบ 12 ชม. น้ำหนักประมาณ 3 ตัน จะให้น้ำมันประมาณ 800-1000 ลิตรราคาน้ำมันเตาที่ส่งปัจจุบัน คิดตามจำนวนที่ส่ง โดยสนนราคาส่งประมาณ 11.50 - 13 บาท ต่อหนึ่งลิตรเหล็กเส้น จากการเผายาง ตกเดือนละประมาณ 8 ตัน ในราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 12.50 บาท

*** คำเตือน ***
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนไม่ควรดื่มวันละสองขวด...

*** อ้างอิง ข้อมูลเพิ่มเติม ***
ท่านใดสนใจศึกษา การหุงยางเป็นน้ำมันด้วยวิธีการนี้ สามารถค้นหาได้จาก

http://researchers.in.th/blog/tire/124
http://www.hs1an.org/index.php?option=com_content&task=view&id=484&Itemid=2

สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เล่ามาจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ บ้างไม่มากก็น้อย  แต่กระนั้นก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกนิดหน่อย จะเอามาเล่าต่อไปครับ

สวัสดีครับ

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของคุณ : ก้านกฤษณา
http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X6428085/X6428085.html 
หมายเหตุทางเว็บไซต์ www.tpa.or.th ได้รับอนุญาติจากคุณก้านกฤษณาในการนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทาน

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที