อังคณา

ผู้เขียน : อังคณา

อัพเดท: 21 ก.ค. 2008 11.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 44085 ครั้ง

EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และนักวิจัยได้ยืนยันแล้วว่า...EQ ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง...


ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) คืออะไร?

ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) คืออะไร?

 

คำว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” มีคำเรียกในภาษาไทยหลายชื่อ เช่น การบริหารอารมณ์ สติอารมณ์ อัจฉริยะทางอารมณ์ เชาว์อารมณ์ ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ ปรีชาเชิงอารมณ์ วุฒิภาวะทางอารมณ์ ปัญญาทางอารมณ์ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษที่มีความหมายเดียวกัน เช่น Emotional Intelligence, Emotional Literacy, Emotional Intelligence Quotient, Emotional Competence, Emotional Intelligence Competencies, Interpersonal Intelligence, Emotional SMARTS, Social Intelligence, Practical Intelligence และนิยมเรียกกันย่อ ๆ ว่า EQ, EI และ EIR เป็นต้น (วงพักตร์       ภู่พันธ์ศรี 2547 : 10, แสงอุษา โสจนานนท์ และกฤษณ์ รุยาพร 2548 : 15-16)  

 Goleman (1995 : 289) ได้ให้ความหมายของอารมณ์ไว้ว่า “เป็นความรู้สึกที่ประกอบจากความคิดเฉพาะตน เป็นภาวะทางจิตใจและชีววิทยา เป็นวิสัย แนวโน้มที่จะแสดงออก” Goleman (1998 : 317, อ้างถึงใน วีระวัฒน์ ปันนิตามัย 2545: 31) ได้ให้ความหมายของEQ ไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึง ความสามารถในการตระหนักถึงความรู้สึกของตนเอง และของผู้อื่นเพื่อสร้างแรงจูงใจในตัวเอง บริหารจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ของตนเอง และอารมณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ” และในประเทศไทย กรมสุขภาพจิต (2544 :1) ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และมีความสุข นอกจากนี้ วีระวัฒน์ ปันนิตามัย (2545 : 19) ให้ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์ว่า หมายถึงสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความรู้เท่าทันในท่วงที และความเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นที่สามารถประเมินเป็นช่วงค่าของตัวเลขได้ อารมณ์สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลให้การกระทำของมนุษย์ให้มีเหตุผลมากขึ้นผิดพลาดน้อยลง ในความเป็นจริงของชีวิตจะเป็นสุขได้สำเร็จ

 สรุปได้ว่า ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างสร้างสรรค์และมีความสุขในการรับรู้และเข้าใจในอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสามารถที่จะจัดการอารมณ์เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที