ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 27 ธ.ค. 2008 22.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 63517 ครั้ง

บันไดไปสู่การเป็นหัวหน้าที่ดี


หัวหน้าพึงอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิจ

5197_konosuke_matsushita.jpg



อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิจ

พวกเราจำนวนไม่น้อย คงรู้จักนักประกอบการชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ มัตสุชิตะ โคโนสุเกะ.(1894-1989)
มัตสุชิตะ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมัตสุชิตะ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และ อาจจะเป็นลำดับต้นๆของโลก.
บริษัทดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัทพานาโซนิค.

มัตสุชิตะ เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม.
มีหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีผู้อ่าน ที่เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหาร ของบริษัทต่างๆในญี่ปุ่น อ่านกันอย่างกว้างขวาง. หนังสือเล่มนั้น ชื่อ “สภาวะผู้นำ (指導者の条件)” หนังสือดังกล่าวนี้ มีการจัดพิมพ์ไปแล้ว ไม่น้อยกว่า ๕๐ ครั้ง.

ในหนังสือดังกล่าว มัตสุชิตะ ได้ยก บุคลิก หรือ คุณสมบัติสำคัญ ของผู้ที่จะเป็นผู้นำ จำนวน ๑๐๒ ประการมากล่าวถึง.
มัตสุชิตะ ได้ยกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ของญี่ปุ่น และ จีน มาเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ให้กับข้อเขียนของเขามากยิ่งขึ้น.
ผมจะขอนำ บุคลิกภาพสำคัญบางประการ ที่น่าจะจำเป็น สำหรับผู้จะเป็นผู้นำ ในสังคมไทยพึงถือปฏิบัติ.

หัวข้อหนึ่ง ที่มัตสุชิตะกล่าวถึง ก็คือ “การเป็นบุคคลที่ถ่อมตนอยู่เป็นนิจ”.
มัตสุชิตะ ได้ยกตัวอย่าง ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ถึงกรณีที่ผู้น้อยได้นำปลามามอบเป็นของฝากแก่ผู้ใหญ่(ซึ่งมีฐานะเป็นไดเมียว).
ไดเมียวจึงสั่งการ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา จัดทำหนังสือตอบขอบคุณต่อของฝากนั้น.
คนจัดทำหนังสือ พิจารณาเห็นว่า ผู้นำของมาฝาก มีฐานะที่ต่ำต้อยกว่าไดเมียวมากนัก จึงได้เตรียมหนังสือตอบ ที่ค่อนข้างห้วน. เมื่อไดเมียวอ่านผ่านตาดูแล้ว จึงสั่งให้ไปแก้ไขใหม่ พร้อมกำชับว่า หนังสือตอบ ต้องแสดงความคารวะขอบคุณต่อผู้รับ. ถึงแม้ ผู้รับ จะมีอาวุโสน้อยกว่า ก็ต้องยึดหลักการเช่นเดียวกันนี้. พร้อมกันนั้น ไดเมียวย้ำว่า ยิ่งเราแสดงความอ่อนน้อม และ มีสัมมาคารวะ มากเพียงใด ผู้รับก็ย่อมจะมีความพึงพอใจมากเท่านั้น. ไดเมียวผู้นั้น จึงสั่งการ ให้มีการจัดทำหนังสือขอบคุณเสียใหม่.

มัตสุชิตะนำประวัติศาสตร์ส่วนนี้มากล่าวถึง พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า
เมื่อผู้คน มีฐานะตำแหน่งสูงมากขึ้น
ผู้คนรอบๆ ก็จะเริ่ม มีความหวั่นเกรง หรือ พินอบพิเทา ต่อ “ตำแหน่ง” ใหญ่โตนั้น.  ทั้งนี้ หาใช่ มีความพินอบพิเทาต่อ บุคลิกภาพของผู้คนในตำแหน่งไม่.
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ทีเป็นหัวหน้า เมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้นจึงมักเย่อหยิ่ง และ มีท่าทีจองหอง.
เมื่อผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนไปเช่นนี้ ผู้ที่ทำงานด้วย จึงเริ่มเหินห่าง.
กล่าวคือ มีความเคารพนบนอบ เฉพาะเปลือกผิว. หาได้มีความรักเคารพในตัวบุคคลเช่นก่อนไม่.

มัตสุชิตะจึงสรุปว่า การเป็นหัวหน้าคนที่ดีนั้น จึงพึงต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ.
ยิ่งมีฐานะตำแหน่งสูงใหญ่ขึ้นเพียงใด.
ทัศนคติอ่อนน้อมถ่อมตน ยิ่งพึงต้องยึดถือมั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น.


 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที