ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 24 ธ.ค. 2008 10.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 64806 ครั้ง

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสมอง ซึ่งเราสามารถนำไปใช้พัฒนาสติปัญญา


หยุดความชราของสมองด้วยการออกกำลังสมอง

5197_brain_workout.jpg






สมองมีการแก่ตัว เช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย.

แต่การแก่ตัวนั้น ดำเนินไปในอัตราที่ช้ากว่ากันมาก.

เมื่อเข้าสู่วัยชรา ขณะอายุประมาณ 70-80 ปี ตับของมนุษย์มีน้ำหนักลดลง ถึง ประมาณ50%   แต่สมองของมนุษย์จะมีน้ำหนักลดลงเพียง ประมาณ 5-10% .

น้ำหนักส่วนที่ลดลงของสมอง เกิดขึ้นจากการเสื่อมสลายตายไปของเซลล์ประสาท.  

มีการศึกษาพบว่า เมื่อผู้คนมีอายุเกิน 20 ปี  เซลล์ประสาทของเรา จะค่อยๆตายไป ในอัตราประมาณ 100,000 เซลล์ต่อวัน.

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนเซลล์ประสาทที่ค่อยๆตายไปนั้น เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเซลล์ประสาททั้งหมดในสมอง.

เซลล์ประสาทดังกล่าวมีอยู่ถึงประมาณ ห้าหมื่นล้าน ถึงหนึ่งแสนล้านเซลล์.   

เซลล์ประสาท (neuron) หนึ่งเซลล์ สามารถเชื่อมต่อ กับเซลล์ประสาทอื่น ที่อยู่รอบข้างได้ระหว่าง หนึ่งพัน ถึง หนึ่งหมื่นช่องทาง (http://www.copingskills4kids.net/amazing-brain-facts) โดยผ่านไซแนปส์ (synapse) .

การเชื่อมโยง ของเซลล์ประสาทเหล่านี้ จะเกิดเมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีประสบการณ์ใหม่ๆ หรือ พบกับสิ่งเร้าใหม่ๆ.

ดังนั้น สมองของผู้ใหญ่ จึงจะมีเซลล์ประสาท ที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างกว้างขวาง และ สลับซับซ้อนมาก เมือเทียบกับสมองของเด็ก.

 

ดังที่ได้กล่าวไว้ ในตอนก่อนหน้านี้ว่า

·       สมองสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตลอดเวลา 

·       มนุษย์ สามารถสร้างเงื่อนไขให้เกิดการปรับเปลี่ยนนั้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ประสบการณ์ ระบบสัมผัสต่างๆ

 

การศึกษาทางประสาทวิทยา พบว่า การปรับเปลี่ยนตัวเองของสมองนั้น เกิดได้ตลอดเวลา แม้เมื่อมนุษย์ย่างเข้าสู่วัยชรา.

การปรับเปลี่ยนตัวเองของสมองดังกล่าว คือ การสร้างความเชื่อมต่อใหม่ๆ ระหว่างเซลล์ประสาทด้วยกัน.

อย่างไรก็ตาม เมื่อสูงวัย เราจะมีข้อจำกัด ที่ทำให้การปรับเปลี่ยนตัวเองของสมองเป็นไปได้ยากขึ้น. ทั้งนี้เนื่องจาก

·       เมื่อพ้นวัยเด็ก ความรู้สึกพิศวง  ความอยากรู้อยากเห็น จะลดลง

·       สังขารของมนุษย์ที่แก่ตัวลง ทำให้ การเรียนรู้ใหม่ๆเกิดยากขึ้น

 

ในประเด็นแรก  หากเราหันกลับมาพิจารณา ชีวิตประจำวันของเรา แล้วถามตัวเองดูว่า ในแต่ละวัน เราดำเนินชีวิตกันอย่างไร ?

ผมเชื่อว่า พวกเราส่วนใหญ่ คงยอมรับว่า เราใช้ชีวิต ในลักษณะ “กึ่งอัตโนมัติ”.

กล่าวคือ ตื่นขึ้นมา ก็แปรงฟัน อาบน้ำ ขับรถไปทำงานตามเส้นทางเดิม เปิดสถานีวิทยุคลื่นเดิม ถึงที่ทำงาน ก็เปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเวบไซต์เดิม ฯลฯ.

ชีวิตที่ดำเนินซ้ำซากเช่นนี้ ย่อมไม่เอื้อให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ และ ไม่ทำให้เซลล์ประสาทเกิดการเชื่อมต่อใหม่ๆ.

ชีวิตของการผจญภัย การเรียนรู้ใหม่ๆ มีน้อยมาก.

 

ในประเด็นที่สอง เมื่อมนุษย์มีอายุมากขึ้น สภาวะทางกายภาพ ก็จะจำกัดการเคลื่อนไหว ทำให้การผจญภัย การเดินทาง การเล่นกีฬา ฯลฯ เป็นไปได้น้อยลง.

การถูกจำกัดในเชิงกายภาพเช่นนี้ ย่อมทำให้เครือข่ายใหม่ของเซลล์ประสาทไม่เกิดขึ้น. ขณะเดียวกัน เครือข่ายเก่าของเซลล์ประสาท เมื่อ ไม่ค่อยได้ใช้งาน ก็จะเสื่อมสภาพไป.

 

การจะช่วยพัฒนาเครือข่ายของเซลล์ประสาทใหม่ๆ เราจึงต้องพยายามสร้างเงื่อนไขที่แปลกใหม่ ในชีวิตประจำวันของเรา.

นับตั้งแต่ การทำสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม การทำสิ่งเดิมแต่โดยวิธีการที่แตกต่างไป การสร้างโอกาสในการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสที่ต่างออกไป (เช่นเดินในที่มืด การก้าวถอยหลัง)

มีการกล่าวถึงการ  “การออกกำลังสมอง หรือ nuerobics exercise” เพื่อช่วยกระตุ้น ให้พัฒนาการของสมอง ยังคงดำรงต่อไปได้ แม้เมื่อเข้าสู่วัยชรา.

ผมจะนำแนวคิด วิธีการต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง ในคราวต่อไปครับ.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที