คงเดช

ผู้เขียน : คงเดช

อัพเดท: 01 ม.ค. 2009 23.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 187477 ครั้ง

ในขณะที่ "การให้รางวัล" เป็นสิ่งที่นำมาใช้ควบคุมการเกิดพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ดีที่สุด ไม่เว้นแม้แต่กับมนุษย์ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องระบบการให้รางวัลเท่าใดนัก...


Self-determination Theory (SDT) และ Cognitive Evaluation Theory (CET) ของ Deci และ Ryan (ตอนที่สาม)

ก่อนที่จะพูดถึงการประยุกต์นำไปใช้ ต้องขอย้ำอีกครั้งก่อนว่า ทฤษฎี Self-determination Theory และ Cognitive Evaluation Theory นี้ กว่าจะนำเอามาเสนอกันอย่างแพร่หลายได้นั้น ก็ต้องผ่านการวิจัยและพิสูจน์สมมติฐานมาไม่น้อย แต่อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยายังไม่เข้าใจทั้งหมด ผลของการนำไปประยุกต์ใช้ก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ทฤษฎีกล่าวถึง 100% เสมอไป... แต่ผมเชื่อว่าเราสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้ในระดับหนึ่ง

Deci และ Ryan ได้เสนอว่า ถ้าอยากกระตุ้นให้คนเราเกิดแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) นั้น เราจะต้องตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) 3 อย่างก่อน นั่นก็คือ

1. Need for Autonomy (ความต้องการอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเอง)
2. Need for Relatedness (ความต้องการมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น)
3. Need for Competence (ความต้องการเป็นคนที่มีทักษะ ความสามารถ)

ปัญหาในการนำไปใช้อยู่ที่ ส่วนใหญ่เรามักจะใจเร็วด่วนได้ เมื่อนำไปประยุกต์ใช้แล้วไม่เห็นผลในทันตา เราก็มักจะเหมาเอาว่ามันใช้ไม่ได้ผล... แต่หากเราย้อนกลับไปดูแนวคิดของ Self-determination Theory จะเห็นว่า กว่าที่คนเราจะเปลี่ยนจากการมีพฤติกรรมจากแรงจูงใจภายนอก ไปเป็นมีพฤติกรรมจากแรงจูงใจภายในนั้น มันต้องผ่านหลายระดับ

แรกสุดเลย จริงๆ มาจากแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม คือ Schedules of Reinforcement ของ Ferster และ Skinner (1957) ซึ่งเสนอว่า เมื่อใดที่สิ่งมีชีวิตได้รับการเสริมแรงเมื่อเกิดพฤติกรรม ผลที่ตามมาก็คือ สิ่งมีชีวิตนั้นจะมีพฤติกรรมนั้นๆ มากขึ้น... นอกจากนี้ หากเราต้องการให้เกิดพฤติกรรมใดๆ สิ่งแรกที่ควรทำคือ การเสริมแรง (ในคราวหลัง จะขอกล่าวถึงทฤษฎีการเสริมแรงของ Skinner เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น) ทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรม และหลังจากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นการให้เป็นครั้งคราว

88325_cet.gif

เพียงเท่านี้ เราก็จะอยู่ในระดับ External Regulation แล้ว (ดูรูปด้านบน) ทีนี้เป้าหมายต่อมาก็คือ ทำให้เขาเปลี่ยนจากระดับ External Regulation ไปเป็น Introjected Regulation

ทำได้ยังไง? ดูจากรูปด้านบน อ่านคำอธิบายจะเห็นว่า คุณลักษณะของบุคคลในระดับนี้ จะเป็นแบบ Self-control, Ego-Involvement, Internal Rewards and Punishments หมายความว่ายังไง?

องค์การของคุณเป็นแบบนี้ไหมครับ? ให้พนักงานทำงาน เอารางวัลมากระตุ้นให้ทำงาน แต่บังคับให้พนักงานต้องทำทุกคน โดยนึกเหมาเอาว่าพนักงานจะตั้งใจทำงาน เพราะอุตส่าห์เอารางวัลเข้าล่อแล้ว... แบบนี้พนักงานจะเกิดแรงจูงใจภายในได้ยังไงล่ะครับ เพราะแค่นี้ Need for Autonomy ก็ไม่ได้รับการตอบสนองแล้ว

แต่หลายคนก็อาจคิดว่า แล้วถ้าไม่บังคับให้พนักงานทำงาน พนักงานจะทำงานเหรอ? คำตอบคือ แม้เราจะกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องทำงาน เราก็สามารถตอบสนอง Need for Autonomy ได้ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การมอบอำนาจให้พนักงานในระดับหนึ่ง เพื่อให้พนักงานสามารถตัดสินใจเลือกวิธีในการปฏิบัติงานได้ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้พนักงานก็จะเกิด Self-control และเกิด Ego-Involvement ขึ้น

ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารหรือหัวหน้างาน ก็สามารถเสริมสร้าง Internal Rewards และ Punishments ซึ่งเป็นการรู้สึกว่าได้รับรางวัล และการลงโทษจากทางใจได้ โดยการมีพฤติกรรมที่เรียกว่า "จับถูก (Catch Them Being Good)" ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำได้ง่ายมากแต่ผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่มองข้ามไป นั่นคือ พยายามชมเชย หรือให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ (ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน หรือของมีค่า) ทุกครั้งที่พนักงานทำพฤติกรรมที่ดี

ซึ่งการมีพฤติกรรมจับถูกดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา (และช่วยตอบสนอง Need for Relatedness นั่นเอง) ซึ่งเมื่อเกิดความรู้สึกที่ดีกับผู้บังคับบัญชา แน่นอนว่าสิ่งที่คนไทยจะเกิดขึ้นต่อมาก็คือ "ความเกรงใจ" และพัฒนาเป็น Internal Rewards and Punishments ในที่สุดนั่นเอง

ว่ากันต่อตอนหน้าครับ

References
1. Ferster, C. B., & Skinner, B. F. (1957). Schedules of reinforcement. New York: Appleton-Century-Crofts.
2. Deci, E. L. (1975). Intrinsic motivation. New York: Plenum.
3. Deci, E. L. and Ryan, R. M. (1985). Intrinsic motivation and self-determination in human behavior. New York: Plenum Press
4. Deci, E.L. & Ryan, R.M. (2000). Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being. American Psychologist, 55(1): 68-78.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที