ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 25 ธ.ค. 2008 20.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 37296 ครั้ง

มารู้จักนักสู้ ซึ่งทุ่มเทชีวิตจิตใจ เพื่อพัฒนาธุรกิจ และ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงคราม มาเข้าใจ ปรัชญา แนวคิด และ บุคลิกของผู้คนเหล่านี้


มัตสุชิตะ โคโนซุเกะ (Matsushita Konosuke) ผู้ก่อตั้งบริษัทไฟฟ้ามัตสุชิตะ (1)

5197_51XKNREEP4L._SL160_.jpg






มัตสุชิตะ โคโนซุเกะ ผู้ก่อตั้งบริษัทไฟฟ้ามัตสุชิตะ

เราคงพอจะสามารถสั่งให้ผู้คนสักร้อยคนทำงานให้ได้
แต่หากเป็นถึงพันคนแล้ว เราคงต้อง
“ขอร้อง”
ยิ่งมากขึ้นเป็นถึงหมื่นคนเมื่อไร เราคงต้อง
“อ้อนวอน”

Matsushita Konosuke


มัตสุชิตะ โคโนซุเกะ นับเป็น “บิดา” ของวงการบริหารญี่ปุ่น. ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จัก กว้างไกลกว่านั้น กระทั่งเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก.
ประเด็นสำคัญหนึ่ง ที่มัตสุชิตะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ก็คือ เรื่องทรัพยากรบุคคล.
เขาเคยกล่าว ในการอบรมบุคลากรของบริษัทไว้ว่า.. “หากมีใครถามว่า บริษัทไฟฟ้ามัตสุชิตะผลิตอะไรละก็ ให้ตอบเขาไปเลยว่า บริษัททำหน้าที่ผลิตบุคลากร(ที่ดี) พร้อมกันนั้น ก็ผลิตเครื่องไฟฟ้าออกมาด้วย..”


ในช่วงปลายชีวิตของเขา มัตสุชิตะมักเล่าให้ผู้คนรอบข้างฟังว่า “ผมเอง เป็นคนขี้โรค ความเป็นคนอ่อนแอเช่นนี้ ทำให้ผมต้องมอบหมายการงานให้ผู้อื่นทำแทน. มันเลยช่วยให้ เกิดผลที่ดีออกมา..”


บุกคลิกเด่นประการหนึ่ง ของมัตสุชิตะ ก็คือ การมีแนวคิด ที่จะเข้าใจ “จุดยืนของอีกฝ่าย” โดยไม่ยืนกระต่ายขาเดียว กับ “จุดยืนของตนเอง”. บุคลิกนี้เอง ทำให้ มัตสุชิตะ สามารถผูกใจผู้คนรอบข้าง และ สร้างความจงรักภักดี จากผู้ใต้บังคับบัญชาได้.


ลองมาพิจารณา ท่าทีเช่นนี้ ของ มัตสุชิตะ จากเรื่องจริงกันดูนะครับ
ในปีค.ศ. 1961 เกิดความโกลาหลขึ้น ในที่ประชุมผู้บริหารของบริษัทมัตสุชิตะ.
เมื่อบริษัทผลิตรถยนต์โตโยตา ได้ขอให้มัตสุชิตะ ซึ่งผลิตวิทยุติดรถยนต์ป้อนให้กับโตโยตา ลดต้นทุนลงร้อยละ 20 ภายในเวลาหกเดือน.


นี่มันเหมือนการเรียกร้องให้บริษัทมัตสุชิตะตายไปเสีย..
เป็นการเรียกร้องที่ทำไม่ได้..
ไม่มีทาง..
ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นความเห็นของผู้บริหารที่ประชุมกันอยู่..


อีกครู่หนึ่ง มัตสุชิตะ โคโนซุเกะก็เข้ามาในห้องประชุม
คำถามแรกจากปากของเขาก็คือ..
“ อืมม..แล้วทำไมโตโยตาถึงขอให้เราทำเช่นนี้ละ..?”


เบื้องหลังข้อเรียกร้องดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะ มีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น
ผลจากมาตรการของรัฐบาลดังกล่าว ทำให้การแข่งขันด้านราคา กับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่เช่น GM และFord ทวีความรุนแรงขึ้น
หากปล่อยสถานการณ์ให้เป็นเช่นที่เป็นอยู่ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นก็อาจจะพบกับจุดจบ
นั่นจึงเป็นที่มา ของการเรียกร้องดังกล่าวของโตโยตา


มัตสุชิตะ พยายามเข้าใจข้อเรียกร้องดังกล่าว จากความจำเป็นของโตโยตา.
“ อืมมม... เรื่องเป็นเช่นนี้เองหรือ.. แต่พวกเราลองคิดดูให้ดีนะ
หากบริษัทของเราต้องอยู่ในฐานะเช่นโตโยตาแล้ว เราจะมีความคิดเช่นไร ?
เราก็อาจจะเรียกร้องอะไร ที่คล้ายๆกันก็ได้..
พวกเราในที่นี้ ต่างมองว่า โตโยตาเรียกร้องอย่างไร้เหตุผล แต่หากเรามายืนในฐานะของโตโยตาแล้ว..จะเป็นเช่นไรละ ??
โตโยตา คงมีความกังวลอย่างใหญ่หลวง
และ มุ่งมั่นที่จะหาหนทางเพื่อลดต้นทุนการผลิต
เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้
ว่าไปแล้ว โตโยตา ก็มีจุดยืน ที่จะพิทักษ์อุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม กับทั้ง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติด้วย
ดังนั้น นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของบริษัทมัตสุชิตะเสียแล้ว..
เราจึงไม่ควร ปฏิเสธว่าทำไม่ได้เสียแต่ต้น
หากแต่ เราต้องหาทุกหนทาง ที่จะลดต้นทุนลงให้ได้..”


ผู้บริหารคนหนึ่ง ลุกขึ้นแย้งว่า
“ แต่ที่ โตโยตาเรียกร้องเรานั้น เขาขอให้เราลดราคาทันที 5% แล้วภายในหกเดือนลดลงอีก 15% รวมแล้ว เป็น 20%  มันเป็นไปไม่ได้นะครับ...”

(อ่านต่อตอนหน้าครับ)


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที