ประยูร

ผู้เขียน : ประยูร

อัพเดท: 25 ธ.ค. 2008 20.20 น. บทความนี้มีผู้ชม: 37167 ครั้ง

มารู้จักนักสู้ ซึ่งทุ่มเทชีวิตจิตใจ เพื่อพัฒนาธุรกิจ และ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงคราม มาเข้าใจ ปรัชญา แนวคิด และ บุคลิกของผู้คนเหล่านี้


โมริตะ อะกิโอะ (Morita Akio) ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี และ พัฒนาแบรนด์โซนี มุ่งสู่ตลาดโลก (ตอนจบ)

5197_akio-morita-smaller21.jpg





โมริตะ อะกิโอะ (Morita Akio) ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี และ พัฒนาแบรนด์โซนี มุ่งสู่ตลาดโลก


“..ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่า เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว บริษัทของคุณ ก็ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อนเช่นเดียวกันนะซิ. ในด้านกลับกัน ก็อาจจะพูดได้ว่า บริษัทของผม กำลังจะก้าวเดินก้าวแรก ไปสู่บริษัทที่ทุกคนรู้จักในอีกห้าสิบปีข้างหน้า...”
โมริตะปฏิเสธที่จะทำสัญญาขายสินค้า ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลสำหรับบริษัทเปิดใหม่ เพราะเห็นว่า หนทางของบริษัท คือการต้องสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมาให้ได้.

แม้โมริตะ มีความต้องการที่จะได้สัญญาซื้อขายนี้ จนเนื้อเต้น แต่เขาก็ต้องยอมเสียผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อแลกกับอนาคตระยะยาว  เขามั่นใจว่า แบรนด์นั้น เป็นเสมือนใบเบิกทาง หรือ พาสพอร์ทสำหรับธุรกิจ ในการที่จะเดินทางไปสู่ทุกมุมโลก. หากโซนี ยอมแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการตกลงทำสัญญารับจ้างผลิต สินค้าที่ขายไปทั่วโลก ก็จะเป็นแบรนด์ของบริษัทอื่น หาใช่โซนีไม่. หากเป็นเช่นนั้น โซนีอาจจะมีรายได้มากมาย แต่การขายเหล่านี้ ไม่สามารถเชื่อมโยงศักยภาพทางเทคโนโลยีที่โดดเด่นของบริษัท  กับแบรนด์ของโซนีได้. ในแง่นี้ การตกลงยอมทำสัญญา ย่อมเป็นการพ่ายแพ้ในระยะยาวสำหรับบริษัท.

การตัดสินใจ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือ ยอมเสียสละผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวของโมริตะ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม. โซนี ได้รับการพัฒนา เป็นแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯภายในเวลาอันสั้น.  มีการสำรวจร้านจำหน่ายวิทยุในสหรัฐฯ ว่า “..ร้านของคุณ จำหน่ายวิทยุจากญี่ปุ่นหรือไม่..” คำตอบก็คือ “ไม่มี” ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่า “..ร้านของคุณ จำหน่ายวิทยุยี่ห้อโซนีหรือไม่..” คำตอบที่ได้ก็คือ “ใช่”....

บุคลิกพิเศษประการหนึ่ง ของผู้ก่อตั้งโซนีผู้นี้  ก็คือ ความมุ่งมั่น ที่จะสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีอยู่ในโลก. โมริตะกล่าวถึงอิบุกะผู้ร่วมก่อตั้ง และ แนวคิดของบริษัทโซนีไว้ว่า

“..ภาพฝัน  ที่อิบุกะ และผม อยากจะเห็น ก็คือ การมีบริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ และ ไม่เคยมีใครเคยผลิตมากก่อนในโลก.."

 

จากปรัชญา และ วิสัยทัศน์ของบริษัทดังกล่าว โซนีจึงมุ่งมั่น พัฒนาพื้นฐานทางเทคโนโลยี กระทั่งเป็นผู้นำ ในการผลิตสินค้าใหม่ๆ ตั้งแต่การพัฒนาทรานซิสเตอร์ วิทยุทรานซิสเตอร์ โทรทัศน์ทรานซิสเตอร์ วอล์คแมน CD player Playstation  เป็นต้น

5197_playstation.png

5197_gallery.walkman.jpg




โมริตะ เป็นชาวญี่ปุ่นที่กล้าแสดงออก ซึ่งจะแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นทั่วไป.
ครั้งหนึ่ง ในปี 1985 ในการเจรจาทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น เพื่อหาทางบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้า ของผลิตภัณฑ์อิเล็กตรอนิกส์ และ สื่อสาร. ผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“.....ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่น ส่งสินค้าผลิตภัณฑ์อิเล็กตรอนิกส์ ไปขายในสหรัฐฯ มีมูลค้าถึง 11 เท่า ของมูลค่าสินค้า ที่ผู้ผลิตสหรัฐฯ ขายได้ในญี่ปุ่น  ทำไม ชาวญี่ปุ่นจึงไม่ยอมซื้อสินค้าของสหรัฐฯละ ??..”

โมริตะ ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย จึงตั้งคำถามกลับไปว่า

“....หากผู้ผลิตของสหรัฐฯ ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงออกมาจริงๆแล้ว..ทำไม ผู้บริโภคสหรัฐฯ จึงไม่ยอมซื้อสินค้าเหล่านั้นละ ?? ทำไม จึงต้องสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากประเทศญี่ปุ่น... ดังนั้น ก่อนที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงไม่ยอมซื้อสินค้าของสหรัฐฯ ทำไมไม่ลองตรวจสอบดูว่า ทำไม ผู้บริโภคสหรัฐฯ จึงปฏิเสธสินค้าของสหรัฐฯเอง...”      


ผมจะพักการเขียน ไปเริ่มใหม่ต้นปีหน้าครับ
หากมีใคร สนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ บอกมานะครับ
จะได้ค้นคว้าเตรียมไว้
สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที