editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654716 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

       คอลัมน์-สมองคนสู่สมองกลอัจฉริยะ โดยชิต เหล่าวัฒนา
       
       ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันธุรกิจการค้าขยายตัว การจราจรคับคั่งมาก วันก่อนผมอยู่บนถนนสุขสวัสดิ์ เกิดอุบัติเหตุที่น่าหวาดเสียว มอเตอร์ไซด์คันหนึ่งวิ่งมุดเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถเก๋งด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ ผู้ใหญ่แน่นิ่งไป ส่วนเด็กน้อย ยังคลานออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โชคดีที่รถพยาบาลจอดอยู่ใกล้ๆ ณ ที่เกิดเหตุ คุณพี่โชเฟอร์แวะทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ข้างทางพอดี จึงรีบนำผู้ประสบภัยส่งโรงพยาบาลทันที
        
       อย่างไรก็ตาม คนเราจะดำเนินชีวิตโดยอาศัยโชคชะตาอย่างเดียวไม่ได้ และบางครั้งความอับโชคมักจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในสถานการณ์ที่เลวร้าย จึงจำเป็นต้องประคองสติให้มั่นคงเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
       
       ผมเคยได้ยินมาว่าสงครามอ่าวเปอร์เซียที่เขาถล่มกันด้วยขีปนาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูง หมดงบประมาณไปหลายแสนล้านดอลลาร์ มีจำนวนคนตายน้อยกว่าเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา ซึ่งสูงถึง 400-500 คน สาเหตุหลักนั้นมาจากอุบัติเหตุรถยนต์/มอเตอร์ไซด์ที่ผู้ขับขี่เมาขาดสติ และไม่นิยมใส่หมวกกันน็อกกัน ผมรู้สึกสลดใจมาก แม้ทราบแก่ใจอย่างดีว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย: อุปชิต ตวา นิรุต ชันติ แต่ปรารถนาที่จะเห็นพี่น้องคนไทยดำเนินชีวิตตามอริยสัจ 4 คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หากยังไม่แก่ อย่าเพิ่งไปมีวิบากกรรมทางกายและใจ จนเจ็บ-ตายก่อนวัยอันควรเลยครับ
       
       คุณหมอ สุรจิต สุนทรธรรม ผู้ผลักดันโครงการ “เวชศาสตร์ฉุกเฉิน” ของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความรู้ต่อกระผมว่า ภาวะฉุกเฉินที่ต้องการ การดูแลเอาใจใส่ทางการแพทย์นั้นครอบคลุมไปถึง อันตรายจากสารอันตรายอุตสาหกรรม ภัยพิบัติตามธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ สึนามิ จนกระทั่งสัตว์ร้ายงูพิษในท้องที่ชนบทห่างไกล
       
       กรณีของอุบัติเหตุ ท่านยังให้หลักการว่าหน่วยกู้ภัยต้องทำหน้าที่ Scoop and Run คือ รีบไปถึงที่เกิดเหตุแล้วนำส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาลตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ในบางประเทศกำหนดไว้ ภายในเวลา 9 นาที เป็นต้น มีกรณีน้อยมากที่ต้องรักษากัน ณ ที่เกิดเหตุ มีบ้างที่ต้องปฐมพยาบาล ดังนั้นรถหน่วยกู้ชีวิตที่เรามีอยู่หลายหน่วย ทั้งของรัฐ โรงพยาบาล อาสาสมัคร ต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์การแพทย์มากนัก
       
       อย่างไรก็ตาม หากผู้ประสบอุบัติเหตุอาการสาหัสมาก จะมีรถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ครบครันวิ่งออกไปรับโอนถ่ายคนเจ็บระหว่างทางแล้วทำการรักษาเท่าที่จำเป็นทันที การสื่อสารระหว่างหน่วยกู้ภัย รถพยาบาล และโรงพยาบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
       
       เทคโนโลยีสื่อสารและอัตโนมัติ จึงถูกนำมาใช้เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ โดยในขั้นแรกเราต้องสามารถ ระบุตำแหน่งสถานที่เกิดเหตุ:Perception เมื่อได้รับโทรศัพท์แจ้งภัยจากพลเมืองดี ในกรณีของมือถือนั้นเราใช้เทคนิคหาจุดตัดสัญญาณจากเสารับ-ส่ง อย่างน้อยสามเสา และนำข้อมูลดังกล่าวไปแสดงผล ใน Graphic User Interface ที่มีลักษณะการใช้คล้ายๆกับ โปรแกรมกูเกิล ทำให้รู้ตำแหน่งคร่าวๆทันที ในกรณีของโทรศัพท์ใช้สายเราจะได้ข้อมูลบ้านเลขที่ ซึ่งต้องมาเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมเพื่อมาค้นหาตำแหน่งในแผนที่ ซึ่งไม่น่ายุ่งยากมากนัก
       
       ในขั้นต่อไป ต้องรู้ว่ารถหน่วยกู้ภัยแต่ละคันอยู่ที่ใดบ้างเพื่อต้องเรียกรถที่ใกล้ที่เกิดเหตุ มิใช่รถหลายสิบคันโถมกันไปที่เกิดเหตุพร้อมๆกันด้วยความเร็วสูงเพราะเจตนาดีที่ต้องช่วยชีวิตคนอื่น แต่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเสียเอง ครั้งหนึ่ง ผมกำลังขับรถอยู่บนทางด่วน มีรถหน่วยกู้ภัย 2-3 คันต่างหน่วยงานกันรีบมากๆ แซงซ้าย ปาดขวา ผมหลบแทบไม่ทัน หากผู้สร้างภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ มาเห็นผมขับรถผาดโผน หลบซ้าย-ขวา กระแทกเบรกสลับกับการเร่งเครื่อง พระเอกคนปัจจุบันของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะตกงานก็ได้
       
       แน่นอนครับการลดจำนวนรถที่ต้องไปที่เกิดเหตุให้น้อยลง ย่อมช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วย
       
       ดังนั้น เราจึงต้องติดตั้งระบบ Global Positioning System (GPS) นอกจากนี้การรู้ตำแหน่งรถอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ศูนย์บัญชาการสามารถแนะนำว่าควรไปส่งคนเจ็บที่ใด ที่มีเครื่องมือและคุณหมอพร้อมให้การรักษา มิใช่พิจารณาแต่เพียงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเท่านั้น เพราะส่งคนเจ็บผิดที่จะต้องเสียเวลาย้ายคนเจ็บอีกที หรือบางครั้งก็ไปส่งที่โรงพยาบาลคนละมุมเมืองเลย ด้วยเทคโนโลยีทำให้การบริหารจัดการมีข้อมูลเชิงตัวเลขมากขึ้น จนถึงขั้นร่วมกันกำหนด ดรรชนีสมรรถนะ (KPI: Key Performance Index) ในการให้บริการนี้ได้ เช่น ช่วงเวลาสูงสุด(นาที)ที่คนเจ็บต้องถึงโรงพยาบาล
       
       สำหรับการสื่อสารระหว่างรถหน่วยกู้ภัย รถพยาบาล และคุณหมอที่โรงพยาบาล เราได้เพิ่มเติม ระบบ GPRS จากเดิมที่มีเพียงโทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร ทั้งนี้ข้อมูลที่อ่านจากอุปกรณ์แพทย์บนรถพยาบาลและบางส่วนจากรถหน่วยกู้ภัย จะถูกส่งไปที่คุณหมออย่าง Real Time ณ โรงพยาบาลปลายทาง เพื่อการเตรียมการรักษาล่วงหน้า ในกรณีเมืองใหญ่ ระบบคอมพิวเตอร์ต้องประสานกับข้อมูลด้านจราจร เพื่อหลบรถติดเลือกเส้นทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุด มิใช้เส้นทางที่สั้นที่สุด
       
       ท่านผู้อ่านคงเคย “ลุ้น” เหมือนผมตอนที่เห็นรถพยาบาลติดจราจรร่วมกับพวกเราบนถนน ผมขอพูดถึงระบบนี้โดยเฉพาะในครั้งหน้าครับเนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก
       
       สุดท้าย ข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายต่างๆจะถูกบันทึกโดยละเอียดและสามารถตรวจสอบได้ ข้อมูลนี้ต่อโดยตรงระบบฐานข้อมูลการเงินของระบบประกันสุขภาพ
       
       ระบบเทคโนโลยีในเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่ผมกล่าวถึงอยู่นี้ ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กำลังพัฒนาและสร้างต้นแบบ ให้แก่ ทางสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี 6 จังหวัดนำร่อง คือ นครราชสีมา ขอนแก่น ลำปาง ภูเก็ต อุดร และนครสวรรค์ เมื่อทดสอบจนประสบความสำเร็จแล้ว จึงจะทำการขยายผลครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผมขออนุโมทนาอาสาสมัครกู้ภัยทุกหน่วยที่ทำงานหนักเพื่อรักษาชีวิตคนไทยด้วยกัน ทุกท่านได้รับบุญกุศลอันสูงยิ่ง
       
       หากคนไทยขับรถอย่างมีความระมัดระวัง ไม่ดื่มสุราจนขาดสติ รัฐบาลเอาจริงเรื่องกฎระเบียบอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมีระบบดังกล่าวนี้ใช้งานควบคู่กับการปฏิบัติงานภาคสนามของเจ้าหน้าที่ ผมมั่นใจ สถิติความสูญเสียชีวิตของพี่น้องคนไทยในเทศกาลจะลดลงอย่างน้อย 10 เท่าตัว (One Order of Magnitude)
       
       เก็บชีวิตไว้ เป็นพละกำลังสร้างความเจริญให้ชาติไทยดีกว่า




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที