editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654536 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


จิตประดิษฐ์

 จิตประดิษฐ์



ปัญญาประดิษฐ์เป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะพัฒนาการทำงานของคอมพิวเตอร์และโปรแกรมตรรกะที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำงานบางอย่างที่สมองมนุษย์ทำได้หรือในบางครั้งบรรลุผลลัพท์ที่ดีกว่าความสามารถของมนุษย์เสียอีก ตัวอย่างจริงเรื่องหนึ่งทีผมชอบเล่าให้ลูกศิษย์ฟังคือ สมัยผมไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน มีการประลองหมากรุกระหว่างแชมป์โลกชาวรัสเซีย โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ DEEPTHOUGHT สร้างขึ้นมาในแนวทางนี้ จึงสามารถค้นหาคำตอบที่ถูกต้องผ่าน เส้นทางที่เป็นไปได้ (Game tree) มากกว่า “10 ล้านคำตอบ”  นั่นคือ DEEPTHOUGHT สำรวจความเป็นไปได้ ถึง 1050 มากกว่าทีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะทำได้ถึง 1040 เท่าในขณะที่ มีการทำวิจัยรายงานผล (Groots 1965) ว่า แชมป์หมากรุก นานๆทีถึงจำเป็นต้องค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดจากความเป็นไปได้เพียง “100 คำตอบ”  เท่านั้น  อย่างไรก็ตามการแข่งขันครั้งแรก DEEPTHOUGHT แพ้จากการที่โปรแกรม “แฮงค์” คำนวณวกวนไปมาหลังจากการแข่งขันดำเนินไป ประมาณสามชั่วโมง สี่ปีต่อมาพบกันอีกที คราวนี้ DEEPTHOUGHT เอาชนะแชมป์คนเดียวกันไปได้ภายในเวลาเพียง 17 นาที

เป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่พอสมควรที่มนุษย์กล้าหาญคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ทั้งๆที่เรามีความรู้เกี่ยวกับสมองของเราน้อยมาก ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นดูเสมือนเราเห็นลางๆว่ามีความเกี่ยวข้องระหว่างสมองและความคิด  สมองนั้นเปรียบเสมือนโรงงานหรือเครื่องจักรในขบวนการผลิตที่ทำหน้าที่แปรข้อมูลที่ได้รับมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางความนึกคิด สังขารปรุงแต่ง ตลอดจนการตัดสินใจ  สิ่งที่แตกต่างมากๆจากขบวนการการผลิตสิ่งของทั่วไปคือ ผลที่ได้ถูกนำไปปรับปรุงตัวขบวนการเองด้วยซึ่งในที่นี้ก็คือสมองนั่นเอง ดังนั้นสมองและความคิดจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง


สมองมนุษย์ซับซ้อนมาก มีเซลทำงานกว่าหนึ่งพันล้านเซล ยังไม่ปรากฎว่ามีเครื่องจักรใดในโลกมีองค์ประกอบส่วยย่อยทำงานมากมายถึงขนาดนี้ เพียงแค่คิดว่าแต่ละสมองจะมีวิธีการทำงานสัมพันธ์กันอย่างไรก็เหนื่อยแล้วครับ  ความเป็นจริงนั้นเทคโนโลยียังไปไม่ถึงครับ กลุ่มเซลแทรกตัวอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น เรายังไม่มีหุ่นยนต์ตัวจิ๋วระดับซุปเปอร์นาโนไปทำหน้าที่แยกแยะแต่ละเซลออกมาศึกษาส่วนที่ติดต่อกัน นอกจากนี้เนื้อเยื่อเซลมีความละเอียดอ่อนมากและถูกทำลายโดยง่าย น้องๆที่นิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรทราบนะครับว่าแต่ละจิบ แต่ละอึก สามารถฆ่าเซลสมองได้นับพันนับหมื่นเซลที่เดียว

เรื่องเทคโนโลยีไม่ถึง เครื่องไม้เครื่องมือไม่มีนั้น ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการมิได้เตรียมตัวศึกษาและคิดเกี่ยวกับสมองอันซับซ้อนนี้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นนานาประเทศจึงได้เริ่มการศึกษา “สมองและความคิด” อย่างจริงจัง อาทิเช่น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์โครงสร้างมนุษย์ “ฮิวแมนนอยด์” ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผสมผสานวิทยาการชั้นนำด้านแมคคาโทรนิคส์และวิศวกรรมการผลิตอัตโนมัติเข้าด้วยกัน กลุ่มนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโตเกียวได้ทำการศึกษาต่อไปถึงขั้นสร้างสมองหุ่นยนต์ (Brain-Informatics Machines) ขึ้นมาเพื่อขจัดปัญหาที่ระบบควบคุมและวิธีการคำนวณและวิเคราะห์แบบปัจจุบันไม่สามารถทำได้ มีการใช้โครงสร้างตรรกะทาง “วิทยาการสมอง (neuroscience)” เข้ามาช่วยให้ฮิวแมนนอยด็สามารถเดินและวิ่งได้พลิ้วเช่นเดียวกับมนุษย์ คำว่าเข้ามาช่วยนี้หมายความถึงว่ารายละเอียดโปรแกรมการควบคุมแต่ละบรรทัดนั้นมนุษย์มิได้เขียนใส่ไปให้ สมองหุ่นยนต์รุ่นใหม่นี้เป็นผู้สร้างรายละเอียดนี้ขึ้นมาเอง  ในทำนองเดียวกันความหวังที่จะให้สมองเทียมนี้ “ผลิตความคิด” ขึ้นมาจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปจึงเริ่มมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง  เมื่อถึงวันนั้นเราคงได้เห็น “จิตประดิษฐ์” ได้เกิดขึ้นจริงแล้วละครับ

น้องๆที่กำลังศึกษาต่อหรือทำวิจัยในสาขานี้ ควรระวังหลุมพลาง “ขาดสติ” ที่มนุษย์มักติดกับหลงในความคิด  การรู้ว่ากำลังคิดแตกต่างกับการรู้ในสิ่งที่คิด  อย่างแรกนั้นเป็นการมีสติ ผมนั้นบางครั้งหลงคิดเลยเถิดไปถึงจนไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่

เรื่องการหลงนี้ปรมาจารย์สอนฟันดาบชาวญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่าจะฟันดาบให้ดี จิตต้องไม่ไหลตามโลกและขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งโลกด้วย คือต้องมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมอยู่เสมอ  เมื่อมีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ท่านก้าวข้ามบ่อน้ำ-บ่อกิเลสได้อย่างไร? ท่านเมตตาสอนว่า “เราก้าวข้ามได้เพราะเราไม่พักและเราไม่เพียร”

การพักก็จมน้ำไปไหลตามกิเลสเป็นกามาสุขาลิโกนุโยค การเพียรหรือเพ่งจนนิ่งขัดธรรมชาติก็ไปไม่รอดเหมือนกัน

ดีที่สุดคือเดินสายกลางก้าวข้ามไปทั้งสองอย่างแหละครับ


ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th




drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที