editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653582 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์ก่อสร้าง

บริษัทโอบายาชิเคยให้ผมไปดูงานด้านการใช้หุ่นยนต์เพื่อการก่อสร้างอาคารสูงๆให้เสร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว ชื่อระบบหุ่นยนต์คือ “Big Canopy” เน้นงานสร้างอาคารที่มีรูปร่างพื้นที่หน้าตัดเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน ทำให้การสร้างแต่ละชั้นมีระบบและขั้นตอนทำงานที่แน่นอน จึงเป็นการง่ายที่เราจะเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปควบคุมการทำงานของเครื่องจักรและกลไกการทำงาน ตลอดจนการควบคุมเวลาและคุณภาพก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อเสร็จสิ้นในแต่ละชั้นแล้วก็เดินหน้าทำซ้ำอย่างเดียวกันในชั้นต่อๆ ไป
       
       อีกตัวอย่างหนึ่งคือ หุ่นยนต์แต่งผิวคอนกรีต (Concrete Surface Treatment Robot) ขนาดประมาณโต๊ะทำงานของเรา มีขีดความสามารถแต่งผิวได้ถึง 80 ตารางเมตรต่อชั่วโมง ดูดซับน้ำได้มากกว่าหนึ่งลิตรต่อหนึ่งตารางเมตร โดยปั๊มสุญญากาศความดัน -400 mmHg ที่สำคัญไม่มีสายไฟฟ้าระโยงระยางเกะกะการทำงานเพราะถูกควบคุมในลักษณะไร้สายเป็นระยะถึง 50 เมตร
       
       ประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ก่อสร้าง นับถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาขึ้นมาใช้งานประยุกต์กว่า 17 ประเภท 1,000 กว่าระบบ ตัวอย่างประเภทงานที่ได้ใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์มีดังนี้ การขุดดิน วางฐานราก ระบบเครนส่งของ การสร้างเขื่อน งานคอนกรีต อุโมงค์ลอดใต้ภูเขา การเคลือบผิวผนัง งานใต้พื้นผิวสมุทร โครงสร้างเหล็ก งานเก็บรายละเอียด ชิ้นส่วนสำเร็จรูป งานเทพื้นผิว ระบบลมเพื่อการขุดเจาะ งานสำรวจ การตรวจสอบ งานบำรุงรักษา และเทคนิคอื่นๆ เช่น การทำเกราต์ซ่อมรอยแตกร้าวต่างๆ
       
       ปัจจัยสำคัญที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์ก่อสร้างนั้น ผมเห็นว่านอกเหนือจากความสามารถทางเทคโนโลยีแล้ว คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายและกติกาสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี โอกาสเห็นรถบรรทุกทำเศษดินตกเกลื่อนถนนหาได้ยากมาก หรือจะโดนจับปรับไปก่อนไม่อาจรู้ได้ วัสดุและอุปกรณ์อยู่เป็นที่เป็นทาง โปรแกรมระบบหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้งานจึงไม่ซับซ้อนมากนัก คล้ายๆกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่อาจกล่าวได้ว่าความชาญฉลาด (Intelligence) อยู่ในระดับต่ำ เพราะมีตัวจับชิ้นงาน (Jig/Fixtures) ช่วยให้หุ่นยนต์รู้ว่าชิ้นงานแต่ละชิ้นอยู่ตรงไหนบ้างโดยไม่จำเป็นต้องมีกล้องคอยส่องดูเลย และเป็นการเขียนโปรแกรมไว้ล่วงหน้าเลยเกือบทั้งนั้นครับ
       
       หากนำระบบหุ่นยนต์ก่อสร้างเช่น Big Canopy มาใช้งานในสภาพแวดล้อมงานก่อสร้างของไทยที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าใดนัก เราคงต้องดัดแปลงมากพอสมควร อย่างน้อยก็ต้องมีความเป็น “ปัญญาประดิษฐ์” มากขึ้น หรือต้องมีระบบเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด หากมองในแง่ดีผมถือว่าเป็นการต่อยอดด้านความรู้ ทำให้หุ่นยนต์ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้อง “ฉลาด” กว่าตอนที่เขาอยู่ที่ประเทศอื่น เห็นข้อดีเช่นนี้เป็นจริงดังคำท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่าไว้ “..ในน้ำขุ่นมีน้ำใส ไม่หลอกหนอ ในสงสารมีนิพพานอยู่มากพอ...”
       
       
ความสะเพร่ามักง่ายในงานก่อสร้างทำให้เกิดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น ครั้งหนึ่งผมแทบเอาชีวิตไม่รอด ขับรถชนปูนกั้นกลางถนนที่บริษัทรับเหมาทำระบบกำจัดน้ำเสียวางไว้โดยไม่มีไฟเตือนเลย เกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายซ้ำกับผู้อื่นจึงโทรไปบอกเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก็ไม่ยอมแก้ไขอะไรเลย เมื่อเปรียบเทียบตอนที่ผมยังศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ต้องเดินทางโดยรถไฟทุกวันจากใจกลางเมืองไปตำบลอูจิ ตลอดระยะเวลาสองปีผมไม่เคยรู้เลยว่ามีการสร้างรถไฟใต้ดินอีกสายอยู่ใต้ดิน ไม่มีการรบกวนกระทบกระเทือนถึงกิจกรรมปกติของประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมา จนอาทิตย์สุดท้ายก่อนผมจะลาจากญี่ปุ่นเพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา มีการเปิดใช้งานสายใหม่โดยระยะเวลาสลับปิดสายเก่าทิ้งแล้วใช้สายใหม่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนเท่านั้น ต้องยอมรับว่าเขา..แน่จริงๆ ครับ
       
       ประเด็นการจัดการและการพัฒนาเทคโนโลยีในงานก่อสร้างรวมถึงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องนั้น มีการหารืออย่างจริงจังจนเกิดอุตสาหกรรมขึ้น เรื่องนี้ต้องยกให้เป็นผลงานของสมาคมวิศวกรโยธาแห่งญี่ปุ่น (JSCE) และ สถาบันสถาปนิกของญี่ปุ่น (AIJ) นอกจากเรื่องทางเทคนิคแล้ว สองหน่วยงานนี้ยังเป็นหัวหอกศึกษาไปข้างหน้าผลบวกและลบของเทคโนโลยีต่ออุตสาหกรรม สังคมและประชากรจะเป็นเช่นไรบ้าง ผมทึ่งที่เห็นสองหน่วยงานนี้ผลิตงานวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ และผลลัพภ์ก็ได้สร้างงานการค้าและอุตสาหกรรมมากมาย
       
       ขอตบท้ายด้วยการเปิดตัวหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ในงานก่อสร้าง สร้างโดยบริษัทคาวาดา หุ่นยนต์ตัวนี้ชื่อ HRP-3P สูง 160 ซม. หนัก 65 กก. สามารถเดินบนผิวน้ำแข็ง หรือภายใต้ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงได้ แต่ยังทำงานแบบ Remote Control อยู่
       
       หุ่นยนต์ตัวนี้ทำให้คนงานหลายคนกลัวว่าจะตกงาน แต่ผมเชื่อว่าอีกนานกว่าจะทำงานแทนคนได้ทั้งหมดครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที