editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654698 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


อาคารอัจฉริยะ

       ลังจากใช้เวลาประมาณเกือบสิบปีไปทำวิจัยและศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ผมจึงได้กลับมาเมืองไทยบ้านเกิด มีโอกาสใช้สะพานแขวนครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นมากในความอลังการและยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นไปอีกเมื่ออยู่บนยอดสะพานเห็นอาคารสูงมากมาย อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้แผ่นกระจกเป็นผนังด้านนอกอาคารเพื่อความสวยงามตระการตา
       

       
       ท่านผู้อ่านทราบดีว่าอุณหภูมิบรรยากาศของบ้านเราค่อนข้างสูง การแผ่รังสีความร้อนสูง มีผลให้ปริมาณความร้อนถ่ายเทเข้าสู่อาคารมาก ดังนั้นการจัดการด้านประหยัดพลังงาน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของอาคารนั้น ประมาณ 70% อยู่ที่ระบบปรับอากาศ และ 80 % ของพลังงานส่วนนี้ ใช้ไปเพื่อการทำน้ำเย็น
       
       นอกจากนี้ อาคารสูงนั้นมีระบบต่างๆที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นที่ตั้งหลายบริษัทหน่วยงาน ที่ๆหลายชีวิตมาพบปะทำงาน:ธุรกรรม/ธุรกิจ จนบางครั้งอาคารเหล่านี้เป็นเป้าหมายของการก่อ “วินาศกรรม” เราจำเป็นต้องมีระบบประมวลผลและบัญชาการส่วนกลาง: “ค๊อกพิท” (Central Processing Cockpit) เพื่อทำหน้าที่ ควบคุมการทำงานของระบบทางวิศวกรรม, กำหนดและตรวจสอบการประหยัดพลังงาน, ระบบรักษาความปลอดภัย ,มาตรการอำนวยความสะดวกสบาย ความสะอาดของอากาศและสุขอนามัยอื่นๆ ฯลฯ ด้วย
       ความซับซ้อนและพารามิเตอร์จำนวนมากของระบบดังกล่าวนี่เอง การออกแบบ Cockpit ได้ใช้ประโยชน์จาก “ระบบเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์” (AI NET) ศูนย์บัญชาการกระทรวงกลาโหม ของสหรัฐอเมริกา (Pentagon DOD) และองค์การสำรวจอวกาศ (NASA) ที่เมืองฮุสตัน ก็มีการติดตั้งเครือข่ายนี้ โดยที่ฟังก์ชันหลักของ AI Net ครอบคลุมการตรวจสอบ , การตีความและประมวลผล จนถึงการส่งสัญญาณปฏิบัติการ
       
       ทั้งสามฟังก์ชันนี้ ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Infrastructure) เพื่อสนับสนุนการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตทันทีภายในระบบเองอย่างอัตโนมัติและ/หรือ อาศัยการหารือกับมนุษย์(Human Supervision) สำหรับกรณีที่เป็นปมปัญหาสำคัญเชิงนโยบาย การสื่อสารเพื่อให้ฟังก์ชันทั้งสามติดต่อกันได้มีตั้งแต่ แบบมีสายและแบบไร้สาย มีช่องสัญญาณพื้นฐานจนกระทั่งลับเฉพาะ เพื่อความปลอดภัยด้านข้อมูล
       
       ระบบหุ่นยนต์ควบคุมภายใต้ AI Net นี้ ส่วนใหญ่วิ่งอยู่บนรางเพดาน คล้ายๆกับระบบส่งเอกสาร/ยา ที่เราพบเห็นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถูกควบคุมการทำงานโดย AI Net แบบ Real Time เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ / กิจกรรมของแต่ละวัน และระดับความปลอดภัยของแต่ละพื้นที่
       นอกจากนี้ หุ่นยนต์ “อะซิโม” เวอร์ชัน 1.5 ได้จุดประกายความคิดเรื่องการใช้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ตรวจสอบประวัติ และแจ้งบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำทางไปถึงเป้าหมาย ผ่านเส้นทางเคลื่อนที่ (Navigating Map)ที่สอดประสานกับระบบรักษาความปลอดภัยของ AI Net ในขณะเดียวกันระบบตรวจสอบขั้นสูงจะถูกติดตั้งไว้บนตัวหุ่นยนต์ เพื่อการตรวจสอบ / ตรวจวัดแบบยิ่งยวด ( Super – Dynamic Inspection ) จนสามารถ “ตัดตอน” การก่อการร้าย และวินาศกรรมอย่างทันท่วงที
       
       ระบบการสะสมความรู้ ของ AI Net หลังจากปฏิบัติการ จะเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยอาศัยการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะการคิดแบบมนุษย์ คือ นิวโรฟัสซี่ และ เจนนิติคอัลกอลิซึม (Neuro Fuzzy and Genetic Algorithm) อย่างไรก็ตาม การจัดการความรู้ที่เกิดขึ้น มีอยู่สองระดับคือ ระดับของ AI net และระดับ Human Supervisor
       ในระดับของ AI Net เกิดขึ้นหลังจากได้รับการยืนยันจาก Human Supervisor เสียก่อน ระบบรักษาความปลอดภัยของ AI Net มีทั้ง Fail Safe และ Fail Secured กรณีแรกเมื่อระบบล้มเหลวชีวิตต้องปลอดภัย ล็อกต่างๆของสำนักงานต้องปลดทันทีเพื่อคนวิ่งหนีออกรอดชีวิตมาได้ ในกรณีหลังนั้นเช่นประตูห้องความมั่นคง (Strong Room) ของธนาคารที่เก็บเงินไว้มากๆ ต้องล็อกเมื่อระบบไม่ทำงานเพื่อรักษาสิ่งมีค่ามิให้สูญหายไป
       
       มีหลายครั้งที่บางส่วนหรือระบบย่อยของ AI Net เสียหายไม่สามารถทำงานได้ ระบบควบคุมเฉพาะส่วน จะอาศัยข้อมูลจากการคาดการณ์ ที่ AI Net สร้างขึ้นไว้ในส่วนของความรู้ที่สะสมไว้ก่อนหน้านี้ ทำงานได้อย่างชั่วคราว
       
       เกือบทุกเสาร์อาทิตย์ลูกชายให้ผมพาเที่ยวอาคารสูงในกรุงเทพฯ เป็นประจำเพราะสนใจระบบลิฟต์มาก ผมก็ไม่ทราบเหตุผลหรอกครับ ว่าทำไมสนใจเสียเหลือเกิน ได้เห็นระบบทางวิศวกรรมในอาคารทั้งหลายเหล่านั้น ผมมั่นใจว่าคุณภาพระบบไม่แพ้อาคารในญี่ปุ่นและอเมริกา ทั้งนี้ ต้องขอบคุณวิศวกรที่ปรึกษาและออกแบบของไทยที่มีมาตรฐานสูงในการทำงาน
       
       สิ่งที่เป็นห่วงคือการดูแลบำรุงรักษาของเจ้าของอาคาร ที่บางครั้งอาจจะประหยัดเกินไปและละเลย:บางระบบไม่ทำงานก็ไม่สนใจแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตัวอย่างเช่น ระบบ Fire Alarm เตือนภัยอุบัติเหตุไฟไหม้ เมื่อรวนขึ้นมากริ่งสัญญาณดังบ่อย แทนที่จะหาสาเหตุที่แท้จริง กลับไปปิดระบบดึงฟิวส์ออกเสียเลยเพราะความรำคาญ
       
       เภทภัยที่เสียหายอย่างใหญ่หลวงมักเกิดจากความสะเพร่าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ปรีชาญาณ(Intellect) อย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ปัญญา (Intuition) เพื่อรู้ถึงเส้นผมบังภูเขาและผลของน้ำผึ้งหยดเดียว




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที