editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653527 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์สังหาร

หุ่นยนต์สังหาร

หุ่นยนต์สังหาร

หน่วยงานวางแผนงานวิจัยชั้นสูงเพื่อการทหารหรือเรียกย่อๆว่า ดาร์ป้า (DARPA) ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ลีโอนาร์ดแห่งเอ็มไอทีพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานใต้น้ำขึ้นสร้างแผนที่ของตำแหน่งทุ่นระเบิดในระดับผิวน้ำที่ยากต่อการมองเห็นของเรือนาวิกโยธินตอนบุกเข้าฝั่ง

มีการคาดคะเนกันว่าสหรัฐจะลงทุนติดตั้งระบบหุ่นยนต์เพื่อกิจการทหารถึง3,600 ระบบ งบประมาณวิจัยและพัฒนาสูงถึง 5 ล้านล้านบาท (เกือบ 5 เท่าตัวของงบประมาณทั้งปีของไทย)

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังล้ำหน้าไปถึงการสร้าง“หุ่นยนต์บิน” น้ำหนักเบา บินไปสอดแนมที่พักค่ายทหารของศัตรู จินตนาการของดาร์ป้ายังมุ่งไปที่การลดขนาดหุ่นยนต์ให้ใกล้เคียงกับนกจริงๆเพื่อพรางตาผู้พบเห็น นกหุ่นยนต์ตัวนี้ติดตั้งกล้องทีวีวงปิด CCTV จะบินไปมาระหว่างตึกในเมืองใหญ่เพื่อลาดตะเวนหาข้อมูลสัณญาณภาพเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม

นอกจากนี้ผมเคยดูการสาธิตระงับเหตุการณ์ปล้นธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตั้ง “ปืนหุ่นยนต์” กล้องสองเลนซ์บนฐาน Pan/Tilt คอยสอดส่องตำแหน่งคนร้ายแล้วส่งสันญาณไปเหนียวไกปืนอย่างอัตโนมัติ ส่วนเจ้าหน้าที่หลบไปอยู่ในรถตู้กันกระสุนดูภาพจากจอมอนิเตอร์ ในอนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเหล่านี้ถูกใช้มากขึ้นในสถานการณ์การต่อสู้ที่รุนแรงที่เราทั้งหลายไม่อยากให้เกิดขึ้น

ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ และตายตามธรรมชาติในที่สุด ผมไม่ค่อยสบายใจเลยเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าห้ำหั่นเร่งเอาชีวิตซึ่งกันและกัน หลายท่านคงแย้งผมว่า เราจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อป้องกันประเทศและพึ่งพาตนเอง

คงต้องถามใจตนเองว่าจริงหรือ?

เทคโนโลยีหุ่นยนต์มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ทางทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการผนวกระบบ การรับรู้(Perception) การประมวลผลและตีความ(Cognition) และระบบการเคลื่อนที่/เคลื่อนไหว(Manipulation/Mobility) เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น “มูเล่(MULE: Multifunction Utility/Logistics and Equipment)” หุ่นยนต์เคลื่อนที่ต้นแบบน้ำหนักถึง 2,500 กิโลกรัมที่มีล้อแทรคหกล้อเพื่อวิ่งบนผิวดินเลนได้ แถมแต่ละล้อได้ติดตั้งขากลไว้ด้วย จึงทำให้มูเล่สามรถก้าวข้ามสิ่งกีดขวางที่มีความสูงมากกว่ารัศมีของล้อซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเคลื่อนที่ของรถยนต์โดยทั่วไป

อย่างไรก็ตามมูเล่ยังคงเป็นหุ่นยนต์บังคับระยะไกล ดาร์ป้าคาดว่าต้องใชเวลาอีกหกปีก่อนที่มูเล่จะออกสู่สนามรบจริง และแน่นอนที่สุดว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เราเรียนรู้มาจากการแข่งขันDARPA Urban Challenge ทั้งเซนเซอร์ และจีพีเอส จะถุกนำมาใช้ใน “หุ่นยนต์สังหาร” ตัวนี้ นั่นคือเมื่อเป้าหมายถูกค้นพบ สมองกลทำการคำนวณทิศทางหันปลายกระบอกปืนอย่างแม่นยำ

ผมหวังว่าเขาจะใช้ “Supervisory Mode” ที่บังคับให้หุ่นยนต์รอคำสั่งมนุษย์ก่อนทำการยิง หากใช้ “Autonomous Mode” ให้หุ่นยนต์คิดเอง-ยิงเอง จะอันตรายมาก เพราะระดับการใช้เหตุผลและวินัยของหุ่นยนต์ยังมีขีดความจำกัดแม้ว่าสมรรถนะของเทคโนโลยีจะทำได้แล้วก็ตาม

หุ่นยนต์ประเภท Unmanned Ground Vehicles:UGVs เช่นเดียวกันกับมูเล่นั้นได้ออกสนามรบในอิรักและอัฟกานิสถานไปแล้ว 6,000 ตัว ตัวอย่างเช่น SWORDS (Special Weapons Observation Remote Direct-Action System) ถูกใช้ลาดตระเวนและตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือที่เราสงสัยว่าจะเป็นวัสดุอันตราย

หุ่นยนต์เหล่านี้จึงได้รับการติดตั้งปืนกลเบาอยู่ด้วย เพื่อใช้ทำลายวัตถุเหล่านั้น อันที่จริงปืนกลและขีปนาวุธเหล่านี้มีการติดตั้งมานานแล้วตั้งแต่ปี 2001 บนครื่องบินรบที่ระบบการบินแบบอัตโนมัติตัวอย่างเช่น Unmanned Arial Vehicles: UAVs ไปๆมาๆ การพัฒนาหุ่นยนต์สังหารเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่เราเห็นอยู่ในภาพยนต์ “Terminator” ไปทุกที

ในขณะนี้เริ่มมีนักวิชาการหลายท่านติงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำให้หุ่นยนต์คิดเอง-ยิงเอง นั้นสามารถแยกแยะ ใคร?และเมื่อใด? ควรยิงออกไปหรือไม่? และอย่างไร?

ผมเชื่อว่านักวิทยาศาตร์ที่คิดค้นอะไรได้ต้องมีตรรกะเป็นพื้นฐาน “คิดดูให้ดี” แต่หากต้องการให้ผลงานสร้างคุณประโยชน์ต่อโลกใบนี้ ต้องเพิ่มความสามารถในการ “ดูคิดให้ดี” ด้วย การตามรู้-ตามดู สภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจริง ดังที่ชาวพุทธปฏิบัติอยู่ น่าจะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปเพื่อกุศลอย่างแท้จริง

หุ่นยนต์ SWORDS สามตัวที่ถูกนำไปใช้งานในประเทศอิรักนั้นยังไม่มีโอกาสได้ออกสนามต่อสู้และทำการยิงจริงๆเลย คงทำแต่ลาดตระเวณตรวจสอบวัตถุระเบิดและเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

ทั้งนี้เป็นเพราะว่ายังมีปัญหาทางเทคนิคบางประการที่ทีมพัฒนายังแก้ไขไม่สำเร็จ แม้ว่าข้อมูลการพัฒนาไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบไร้มนุษย์นี้คงพอคาดเดาได้ว่าเป็นเรื่อง “ความรวดเร็วและความถูกต้องในการตัดสินใจ”

นอกจากนี้ระบบเซนเซอร์การรับรู้สภาวะแวดล้อมจริงในสนามรบยังไม่มีการทดสอบสมรรถนะอย่างยิ่งยวด (Critical Testing) หุ่นยนต์เหล่านี้เพียงแต่รู้ทิศทางและความเร็วที่เคลื่อนที่ไปแต่ยัง “ตาบอด” อยู่ครับ ระบบตาหุ่นยนต์ (Computer Vision) ที่นักวิทยาการหุ่นยนต์พัฒนาขึ้นมานั้นยังต้องการเวลาในนการประมวลผลช้า อีกประการหนึ่งคือในสนามรบจริงนั้นแสงสว่างไม่ชัดเจน อาจตองใช้อินฟาเรดและ/หรือเลเซอร์เรนจ์ฟายน์เดอร์มาเสริม

ความต้องการทางเทคนิคของทหารในการใช้หุ่นยนต์เหล่านี้อยู่ในระดับสูง เพราะต้องระวังความผิดพลาดซึ่งเกี่ยวข้องกับความสูญเสียอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หากเปรียบเทียบกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ยิ่งต่อสู้กันนั้นเสมือนกับการใช้โหมดความควบคุมแบบทางไกลซึ่งถือว่าเป็นระบบควบคุมขั้นต่ำสุดไม่ซับซ้อน แต่เรายังสามารถเคลื่อนย้ายระนาบอ้างอิงในการมองเห็นได้ทุกทิศทางอย่างต่อเนื่อง (Real Time Omnidirectional View) หุ่นยนต์ SWORDS และ MULE ยังมีความสามารถด้านนี้ค่อนข้างจำกัด เอาไปใช้ในสถานการณ์จริง มีโอกาสโจมตีฝ่ายเดียวกันได้เพราะเห็นไม่ชัดเจน

แน่นอนในขั้นสุดท้ายของการพัฒนาเทคโนโลยีเขาหวังว่า หุ่นยนต์เหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปได้เองโดยไม่ต้องมีคนบังคับ (Autonomous Unmanned Vehicle) เช่นเดียวกันกับหุนยนต์การแข่งขัน Grand Challenge ซึ่งผมไม่เห็นด้วยเลย ผมคิดว่า ระบบพึ่งการตัดสินใจของมนุษย์ (Supervisory Mode) แม้ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีไม่ถึงขั้นสุดยอดนั้น แต่ผู้ควบคุมมีโอกาสใช้ “สติปัญญา” แก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตามผู้พัฒนาหุ่นยนต์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อว่าการที่ทหารหุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ความรู้สึกหวาดกลัวนั้น เมื่ออยู่ในเหตุการณ์รุนแรงและคับขันย่อมจะประเมินสถานการณ์ได้ดีกว่าและ “กล้า” ตอบโต้ในรูปแบบที่ทหารมนุษย์ไม่กล้าแม้แต่นึกถึง คงเป็นแบบสโลแกนของภาพยนต์ Star Track ที่ว่า “It boldly goes where no man has gone before!” ท้ายที่สุดหากตูมตามขึ้นมา เขาสามารถซ่อมแซมหุ่นยนต์หุ่นยนต์เหล่านี้ได้เสมอหรือนำชิ้นส่วนมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องได้ ในขณะที่สภาวะอารมณ์เปลี่ยนไปทันทีเมื่อทหารหาญบาดเจ็บและอาจรักษาพยาบาลไม่ทัน

ยังมีการถกเถียงทั้งสองแนวความคิดอยู่ค่อนข้างมากในหมู่ของผู้พัฒนา-ผู้ใช้งานเทคโนโลยีนี้ หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปในสังคมซึ่งสามารถพบได้ในหลายเวบบอร์ดกระดานสนทนา ศาสตราจารย์ โนเอล ชาร์คีย์ จาก Britain's University of Sheffield ได้ออกมาเรียกร้องนานาชาติให้ห้ามการใช้อาวุธอัตโนมัติและหุ่นยนต์เหล่านี้จนกว่ามันจะปฎิบัติตามกฎเกณฑ์การทำสงคราม สิ่งที่เขากังวลมากคือแผนงานที่เพนตากอนแห่งสหรัฐอเมริกาจะใช้งบประมาณถึงหลายพันล้านดอลลลาร์เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้ภายใน 25 ปีต่อจากนี้ไป

สิ่งที่ตามมาคือมหาอำนาจคู่แข่งคงจะทุ่มงบประมาณพัฒนาตามด้วย และเมื่อทำสำเร็จประชากรหุ่นยนต์เหล่านี้จะเพิ่มแบบก้าวกระโดดเพราะสามารถก๊อปปี้ได้ง่าย ผมเองก็สงสัยว่าหากเรามีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทำให้หุ่นยนต์ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์การทำสงครามแล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าปัญญามนุษย์ของแต่ละมหาอำนาจจะปฎิบัติตาม?

กฎเหล็กหุ่นยนต์ที่บัญญัติไว้โดยปรมาจารย์นักแต่งนิยายวิทยาศาสตร์ “ดร.ไอแซค อาสิมอฟ" คือ (1) หุ่นยนต์ต้องไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ หรือ “ใส่เกียร์ว่าง” นิ่งเฉยปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย (2) หุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่ง (3) หุ่นยนต์ปกป้องตนเองได้ ตราบใดที่การปกป้องตนเองไม่ขัดแย้งกับกฎข้อที่หนึ่งหรือสอง หากพิจารณาแนวความคิดหุ่นยนต์สังหาร ดูเหมือนว่ากฎเหล่านี้คงถูกละเมิดแล้วหละครับ ทางเกาหลีใต้จึงริเริ่มสร้างกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมของหุ่นยนต์ขึ้นมา (Robot Ethics Charter) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามนุษย์และหุ่นยนต์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน หุ่นยนต์จะได้รับการปรนนิบัติ เฉกเช่นสิ่งที่มีชีวิตเสมือน (Virtual Life Form) มีการลงทะเบียนในทำนองเดียวกันกับมนุษย์ และพวกเราจำเป็นต้องปฎิบัติต่อหุ่นยนต์อย่างถูกต้องด้วย

ตัวอย่างเช่น ห้ามนำหุ่นยนต์ไปใช้ในทางผิดกฎหมาย ห้ามนำข้อมูลจากการบันทึกของหุ่นยนต์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล เป็นต้น และที่สำคัญคือห้ามทำร้ายมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นบังคับให้ฝ่ายผู้ผลิตและผู้พัฒนาต้องป้อนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งป้องกันไม่ให้หุ่นยนต์ทำอันตรายต่อมนุษย์ ลงในสมองกลของหุ่นยนต์รุ่นต่างๆ

drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไป รู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้าน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการ ลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมี ประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที