editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653487 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์ไทยจะไปสำรวจดวงจันทร์

หุ่นยนต์ไทยจะไปสำรวจดวงจันทร์

DARPA (Defense Advanced Research Projects Agency) กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ประกาศความสำเร็จในการแข่งขัน DARPA Grand Challenge Desert Race ในปีนี้อย่างภาคภูมิใจว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ไต่มาถึงระดับที่ทำให้ "ยานพาหนะไร้คนขับ (Unmanned Vehicle)" ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นผิวโลกแล้ว หลังจากนั้นไม่นานบริษัทกูเกิลจึงเปิดโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ "The Google Lunar X PRIZE" เพื่อท้าทายนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยให้โอกาสทีมหุ่นยนต์ทั่วโลกเข้ามาร่วมการแข่งขัน มีเงินรางวัลมอบให้สูงถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 960 ล้านบาท

หุ่นยนต์ที่เข้าแข่งขันจะต้องสามารถเคลื่อนที่สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ให้ได้ระยะทางไม่ต่ำกว่า 500 เมตร และต้องส่งภาพถ่าย รวมถึงข้อมูลที่สำรวจกลับมายังโลก ซึ่งทีมที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องหาเงินทุนในการแข่งขันจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และต้องทำการสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2553 (31 December 2010)

รางวัลใหญ่สำหรับทีม ที่สามารถขึ้นไปทำภารกิจบนดวงจันทร์สำเร็จ คิดเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 640 ล้านบาท โดยจะต้องทำภารกิจให้สำเร็จตามเงื่อนไขภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2555 ผู้ที่พลาดโอกาสรอบแรก ยังสามารถส่งผลงานได้ แต่เงินรางวัลจะลดลงเหลือ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนรางวัลที่สอง มีมูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จะมอบให้ทีมที่ไม่สามารถส่งผลงานทันรอบแรก แต่สามารถส่งได้ภายในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2557 และมีเงินอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรางวัลพิเศษ สำหรับทีมที่สามารถปฏิบัติภารกิจเพิ่ม เช่น ส่งหุ่นยนต์ออกไปสำรวจได้ระยะทางไกลกว่า 5,000 เมตร หรือทำการค้นพบน้ำจากน้ำแข็งบนดวงจันทร์ เป็นต้น สิ่งที่หุ่นยนต์ต้องนำติดตัวไปด้วยคือ อุปกรณ์วิดีโอที่บันทึกภาพด้วยความคมชัดสูง (High Definition) และกล้องถ่ายภาพนิ่ง ในการเก็บภาพถ่าย พร้อมข้อมูลส่งกลับมายังโลก โดยจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการ The Google Lunar X PRIZE ต่อไป สำหรับรายละเอียดของโครงการ พร้อมเงื่อนไขการแข่งขัน สามารถติดตามต่อได้ที่เว็บไซต์ www.googlelunarxprize.org

หุ่นยนต์สายพันธ์ของชาติไทย เคยแสดงความสามารถในการแข่งขันจนเป็นแชมป์ระดับเอเชีย (ABU RoboCon) และ ระดับโลก (World ROBOCUP: Rescue Robot) มาแล้ว สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเห็นว่า หุ่นยนต์ไทยก็ควรเข้าสู้สนามที่ท้าทายทางเทคโนโลยีเช่นนี้ กระผมในฐานะกรรมการก่อตั้งและนายกสมาคมคนแรก ได้ไตร่ตรองเรื่องการแข่งขันนี้นี้มาพอสมควร ด้วยเกรงว่าเมื่อข้อมูลการเข้าร่วมการแข่งขันนี้เมื่อกระจายสู่สาธารณะแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่านักวิชาการไทยด้านหุ่นยนต์ทำงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย ท้ายที่สุดผมเชื่อการเข้าร่วมการแข่งขันนี้น่าจะส่งผลบวกในเรื่องต่อไปนี้ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตาม

ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ส่ง รศ.ดร.สถาพร ลักษณะเจริญ เลขานุการ สมาคม ไปที่ Jet Propulsion Laboratory หน่วยงานใน California Institute of Technology ที่ทำงานวิจัยให้กับ NASA ดร.สถาพร มีโอกาสพบกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันนี้และได้แจ้งความจำนงค์ขั้นต้นว่าหุ่นยนต์ไทยก็อยากจะเข้าร่วมการแข่งขันนี้ ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากการที่เขารับทราบผลงานของสมาคมในอดีต

ที่ผ่านมาประเทศในแถบเอเขียได้ส่งมนุษย์อวกาศ หรือสร้างสถานีอวกาศเท่านั้น แต่การส่งหุ่นยนต์สำรวจบนดวงจันทร์ยังเป็นงานที่ท้าทายและยากลำบาก ม้ามืดจากประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศแรกแห่งเอเชียที่ส่งหุ่นยนต์ไปถึงดวงจันทร์ได้หรือไม่? ยังไม่ใครทราบได้หรอกครับ แต่หากได้มีโอกาสเข้าแข่งขันแล้ว ผมเชื่อว่าเยาวชนไทยจักทำงานหนักสร้างความภูมิใจให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอย่างแน่นอน ทำงานหนักดีกว่าอยู่เฉยๆครับ ท่านผู้อ่านที่นิยมอ่านนิยายกำลังภายในคงทราบดีว่า

คนผู้หนึ่งหากใช้ชีวิตสะดวกสบายเกินไป พลังฝีมือก็ยากรุดหน้าได้

drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไป รู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้าน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการ ลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมี ประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที