editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653517 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์อุตสาหกรรมไทย


“ แขนกล...สุดยอดระบบอัตโนมัติ ” คว้าสุดยอดนวัตกรรมไทย อันดับ 8 ของงาน “10   สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 49”
จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของภาคเอกชน โดยมี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน
 

ผมยังจำได้ว่า คุณปรีชา ประเสริฐถาวร “นักอุตหกรรมไทย” เป็นทั้งเจ้าของและกรรมการผู้จัดการ บริษัทนิวสมไทยมอเตอร์เวอค ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย มาหาผมก่อนหน้านี้ว่าต้องการให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหลายสิบตัวเพื่อใช้ในสายการผลิตของเครือโรงงานนิวสมไทย ผมจึงเรียนคุณปรีชาไปว่า ฟีโบ้นั้นประกอบด้วยสามส่วนหลัก ส่วนแรกคือการศึกษามีหน้าที่สร้างนักเทคโนโลยีและวิศวกรหุ่นยนต์สายพันธ์ใหม่ ส่วนที่สองเน้นงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์เพื่อให้นักศึกษาและนักวิจัยของสถาบันสามารถติดตามและคิดค้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นในระดับสากล ส่วนสุดท้ายคือการบริการวิชาการต่อภาคอุตสาหกรรม โดยมีหลักการสำคัญว่างานที่ฟีโบ้รับแก้ปัญหาให้นั้นต้องไม่ไปแข่งขันกับเอกชนของไทย เราจะทำเฉพาะสิ่งที่ยังไม่มีเอกชนไทยทำเพราะไม่กล้าเสี่ยงกลัวไม่สำเร็จแล้วจะขาดทุนหรือมีความรู้ไม่ถึง  ในบางกรณีเราอาสาทำงานเพื่อรักษาราคาโครงการมิให้สูงเกินไปโดยเฉพาะโครงการภาครัฐที่ต้องการงบประมาณที่ได้มาตรฐานคุ้มค่ากับการลงทุน สุดท้ายโครงการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประเทศ (National Security) ฟีโบ้มักแสดงออกถึง “ความแหลมคม” เข้ารับงานแข่งขันกับบริษัทรายใหญ่ๆต่างชาติเสมอ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น

ด้วยหลักการดำเนินการข้างต้น ฟีโบ้จึงไม่ประสงค์รับงานผลิตหุ่นยนต์หลายสิบตัวนั้น แต่เลือกที่จะร่วมมือกันสร้างต้นแบบให้บริษัทนิวสมไทยไปผลิตต่อเอง  ความเป็นนักอุตสาหกรรมจึงทำให้คุณปรีชาเห็นช่องทางสร้างผลิตภัณฑ์ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ในเชิงพาณิชย์ตัวแรกของไทยขึ้นมา

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ กลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการแข่งขันได้ในตลาดโลกคือ อาศัยความสามารถเชิงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) โดยเฉพาะด้านการออกแบบและจัดสร้างระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมายังมิได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาแพง หุ่นยนต์หนึ่งตัวราคา 2-3 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตจึงสูงตามไปด้วย การคิดเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เองจึงมีความีสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้มีการเจริญเติบโตภายในประเทศอย่างมาก ทำให้มีความต้องการหุ่นยนต์ ที่ใช้ในการเชื่อมชิ้นส่วนของยานยนต์มากตามไปด้วย

โครงการออกแบบและจัดสร้างหุ่นยนต์เชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์นี้ อาศัยเทคโนโลยีและทฤษฎีทางด้าน Articulated Arm และ Iterative Newton-Euler dynamic formulation ซึ่งหุ่นยนต์ที่ได้ทำการออกแบบสามารถเคลื่อนที่ได้ทั้งหมด 6 แกน (6 degree of freedom) และสามารถรับน้ำหนักบรรทุกที่ปลายแขน (pay load) ได้ 6 กิโลกรัม มีความแม่นยำ และเที่ยงตรงสูง (Repeatability) ±0.1 มิลลิเมตร

ลักษณะของหุ่นยนต์ประกอบด้วย AC Servo motor จำนวน 6 ตัว ซึ่งข้อดีของ Servo motor คือสามารถควบคุมตำแหน่งทิศทาง และความเร็วได้ตามต้องการ การส่งกำลังของหุ่นยนต์ใช้ Harmonic Gear ที่มีอัตราทด และแรงบิดที่สูง อีกทั้งยังมีค่า Backlash ที่น้อยมากหรือเท่ากับศูนย์ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของหุ่นยนต์มีความแม่นยำสูง และหุ่นยนต์ที่ได้ทำการออกแบบและจัดสร้าง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานอย่างอื่นอีกด้วย เช่นการหยิบจับชิ้นงาน

โครงการนี้ได้รับความกรุณาด้านเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ตลอดจนได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ รับรางวัลสุดยอดธุรกิจนวัตกรรม 49 อันดับ 8 ผลงาน “แขนกล...สุดยอดระบบอัตโนมัติ ”  นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช. กล่าวว่า การคัดเลือก 10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2549 หรือ TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2006 ครั้งนี้ เป็นการคัดเลือกผลงานจากโครงการที่ สนช. ได้ให้การสนับสนุนช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนกว่า 170 โครงการ วงเงินการสนับสนุน 188 ล้านบาท และสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท

คุณปรีชาแวะมาเยี่ยมผมวันก่อน ว่าได้รับการสั่งจองหุ่นยนต์ถึง 30 ตัวแล้ว ตอนนี้จึงฟิตขึ้นมาอีก อยากพัฒนา “ยานกลอัตโนมัติ” (Automated Guided Vehicle: AGV) เพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายชิ้นงานและเครื่องมือในสายการผลิต  ผมขอชื่นชมในความกล้าหาญของนักอุตสาหกรรมไทยเช่นคุณปรีชา ที่ไม่ยอมเป็นตัวแทนขายของต่างชาติสร้างกำไรอย่างง่ายๆ แต่เลือกดิ้นรนพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเอง

ทั้งนี้ต้องปรบมือให้กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติด้วยครับ ที่ได้สร้างทางเลือกใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th




drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที