editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654503 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


เปิดใจ 'ทีมฟีโบ้' กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก

เปิดใจ “ทีมฟีโบ้” กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก

ข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์ เปิดใจ 'ทีมฟีโบ้' กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก

ถ้าหากพูดถึงการแข่งขันหุ่นยนต์ ที่ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี จากเรื่องราวต่างๆ ที่ไอทีไดเจสได้นำเสนอไป ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์โรโบคัพ หรือหุ่นยนต์เก็บขยะ แต่ถ้าพูดถึงหุ่นยนต์เดิน 2 ขาเลียนแบบมนุษย์ได้ หรือ ที่เรียกว่า Humanoid อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย แต่จะเห็นในภาพยนตร์การ์ตูนจากญี่ปุ่นอย่าง หุ่นเหล็กหมายเลข 28 และโมบิลสูท กันดัม หรือภาพยนตร์จากฮอลลีวูด ทรานส์ฟอร์เมอร์ ของสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าจะให้ใกล้ตัวที่สุด ก็คือ อาซิโม (ASIMO) ของ บริษัท ฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มาโชว์ตัวที่เมืองไทยหลายครั้ง

สำหรับประเทศไทยเราก็มีทีมงานอาจารย์ และนักศึกษาที่สนใจและพยายามพัฒนาหุ่นแบบฮิวมานอยด์ มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 คือ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ (Institute of FIeld roBOtics: FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ขณะนี้กำลังเตรียมทีม และหุ่นยนต์เพื่อจะเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์รายการ โรโบคัพ 2008 ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 14-20 ก.ค.2551 นี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยเพื่อทำความรู้จัก และรับรู้ถึงแนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ และความพร้อมล่าสุดของทีมเยาวชนคนเก่งของประเทศ ส่วนรายละเอียด จะเป็นอย่างไรนั้น เชิญ ติดตามได้แล้ว ณ บัดนี้...


IT Digest: แนะนำสมาชิกในทีม FIBO และประวัติการสร้างหุ่นยนต์

ทีมฟีโบ้: สำหรับสมาชิกของทีมฟีโบ้ตัวแทนของประเทศไทยที่จะไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ปี 2008 มีผมชื่อนายบัณฑูร ศรีสุวรรณ รับหน้าที่ในด้านการออกแบบและสร้างการควบคุมการเดินพื้นฐาน และไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นสมาชิกอาวุโสที่อยู่พัฒนาหุ่นมาตั้งแต่แรก ส่วนสมาชิกน้องๆ ในทีมประกอบด้วย นายสาธิต วณิชชัยกิจ เป็นโปรแกรมเมอร์ระบบ Artificial Intelligence: AI และระบบการมองเห็น กับผู้จัดการระบบลีนุกซ์ นายภาณุวัฒน์ สินศรานนท์ ผู้จัดการฮาร์ดแวร์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ นายศักดา คงช่วงวิทย์ โปรแกรมเมอร์ระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และนายอดิศร ศิริคำ โปรแกรมเมอร์ท่าพิเศษของหุ่นยนต์ โดยมี ดร.ปาษาณ กุลวานิช เป็นผู้ออกแบบและสร้างโครงสร้างหุ่นยนต์ และทฤษฎีการเดิน ทั้งนี้มี ดร.ชิต เหล่าวัฒนา เป็นผู้อำนวยการของฟีโบ้ และเป็นผู้หาทุนสนับสนุนแก่ทีมงาน

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ (Institute of FIeld roBOtics: FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งขึ้นมาตามแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 7 มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิจัยพัฒนาการศึกษาระดับสูงทางด้านวิชาการหุ่นยนต์ และงานวิจัยทางด้านระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของการพัฒนาหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ของฟีโบ้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 จากการพัฒนาหุ่นยนต์เดิน 2 ขาที่มีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์ ส่วนการพัฒนาหุ่นยนต์ 2 ขาขนาดเล็กนั้นได้เริ่มทำงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2546 ในขั้นต้นฟีโบ้ได้ทำต้นแบบเพื่อศึกษาการเดินแบบสถิตย์ศาสตร์ (Static Walking) ที่สามารถเดินได้เร็ว 0.5 เมตรต่อนาที

หลังจากนั้นฟีโบ้ได้พัฒนาแบบโครงสร้างหุ่นยนต์เดิน 2 ขาขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “ใจดี” ที่ยังใช้การเดินแบบสถิตย์ศาสตร์เหมือนหุ่นต้นแบบทำความเร็วได้ 1 เมตร/นาที ต่อมาในปี 2549 ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบรักษาสมดุลของหุ่นยนต์ใจดี ให้เป็นการเดินแบบกึ่งสถิตย์ศาสตร์ (Quasi-Static) และสร้างหุ่นยนต์ตัวใหม่อีก 1 ตัวชื่ว่า “จี๊ด” ที่ทำความเร็วในการเดินได้ 3 เมตร/นาที และในปี 2550 ได้เปลี่ยนระบบการทรงตัวของหุ่นยนต์ใจดีใหม่ให้เป็นการเดินแบบพลวัตร (Dynamic Walking) แต่ก็ไม่อาจจะเดินได้เร็วกว่าเดิม เพราะประสิทธิภาพของมอเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ ไม่เพียงพอ จึงได้หันไปปรับปรุงหุ่นยนต์ “จี๊ด” ที่ปรากฎว่าหุ่นยนต์จี๊ดสามารถทำความเร็วได้ 15 เมตร/นาที

และล่าสุดในปี 2551 ทางฟีโบ้ ได้พัฒนาหุ่นยนต์เดิน 2 ขาขนาดเล็กขึ้นมาใหม่รวม 4 ตัวมีชื่อว่า “KM1”, “KM2”, “KM3” และ “KM4” โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างให้มีความแข็งแรง รองรับกับการแบกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก พร้อมทั้งระบบการติดต่อสื่อสารกับหุ่นยนต์ทั้ง 4 ตัวแบบไร้สาย จนสามารถเดินได้เร็ว 25 เมตร/นาที ถือว่าเป็นหุ่นยนต์ที่เดินเร็วที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา

เปิดใจ 'ทีมฟีโบ้' กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก

หมายเหตุ: จาก ภาพทีมฟีโบ้ (ซ้ายไปขวา) 1. นายภาณุวัฒน์ สินศรานนท์ ผู้จัดการฮาร์ดแวร์ระบบอีเล็คทรอนิกส์2. นายอดิศร ศิริคำ โปรแกรมเมอร์ท่าพิเศษของหุ่นยนต์3. นายบัณฑูร ศรีสุวรรณ ออกแบบและสร้างการควบคุมการเดินพื้นฐานและไมโครคอนโทรลเลอร์4. นายสาธิต วณิชชัยกิจ โปรแกรมเมอร์ Artificial Intelligence และ ระบบการมองเห็น ผู้จัดการระบบ LINUX5. ดร. ปาษาณ กุลวานิช หัวหน้าทีม, ออกแบบและสร้างโครงสร้างหุ่นยนต์และทฤษฏีการเดิน และ6. นายศักดา คงช่วงวิทย์ โปรแกรมเมอร์ Artificial Intelligence

IT Digest: การแข่งขันโรโบคัพปีนี้โจทย์ในการแข่งขันเป็นอย่างไร

ทีมฟีโบ้: เนื่อง จากโจทย์การแข่งขันของโรโบคัพมีการเปลี่ยนไปทุกปี สำหรับรายการโรโบคัพจะเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์รายการใหญ่ ประกอบด้วยการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์จิ๋ว การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์แบบฮิวมานอยด์ และการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย สำหรับการแข่งขันของฮิวมานอยด์นั้น จะมลักษณะคล้ายกับการแข่งฟุตบอลคนจริงๆ คือ มีการยิงลูกโทษแบบ 1 ต่อ 1 และ 2 ต่อ 2 ต่อมาการยิงลูกโทษถูกตัดออกไป และเปลี่ยนมาเป็นการแข่งฟุตบอลแบบ 2 ต่อ 2 เหมือนการแข่งขันฟุตบอลโกล์เล็ก

นอก จากนี้ยังมีการแข่งขันเชิงเทคนิค เช่น การเลี้ยงบอลอ้อมเสา การเลี้ยงบอล ดวลกับคู่ต่อสู่ เป็นต้น สำหรับปีนี้กติกามีการเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มหุ่นเป็นข้างละ 3 ตัว แบ่งการแข่งขันเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งครึ่งละ 10 นาทีในสนามขนาดประมาณ 4 x 6 เมตร ทั้งนี้เมื่อเริ่มการแข่งขันทีมงานจะเข้าไปในสนามเพื่อกดปุ่มเริ่มการทำงาน ของหุ่นได้ครั้งเดียว หากหุ่นขัดข้อง หรือไม่สามารถลุกขึ้นมาได้ ต้องนำออกไปจากสนามพร้อมถูกทำโทษพักข้างสนาม 1 นาที

IT Digest: ความคืบหน้าในการเตรียมทีมเข้าแข่งขันเป็นอย่างไร

ทีมฟีโบ้: จาก การแข่งขันทุกปีที่ผ่านมาทางทีมจะเน้นไปที่การเดินเป็นหลักดูได้จากผลงานการ พัฒนาหุ่นยนต์ 2 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ทีมก็ได้เพิ่มมินิพีซีเข้าไปควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ แต่ก็มาพบว่าทำให้น้ำหนักของหุ่นเพิ่มมากขึ้น จนทำให้โครงสร้างและข้อต่อชุดเฟืองและมอเตอร์รับภาระมากไป หุ่นยนต์เสียหายบ่อย จึงต้องออกแบบหุ่นตัวใหม่ เพื่อจะนำคอมพิวเตอร์มินิพีซีแบบ PC 104 ที่ ใช้ในเครื่องจักรอุตสาหกรรมทั่วไป มาควบคุม โดยทีมฟีโบ้สร้างขึ้นมา 4 ตัว ใช้จริง 3 ตัว สำรอง 1 ตัวเผื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน จะได้มีหุ่นใช้ทดแทน และทุกปีก็มีเหตุที่ต้องใช้หุ่นสำรองอยู่เสมอ

สำหรับ พีซีที่นำมาติดที่จริงแล้วก็มีความสามารถไม่ได้ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้กัน ทั่วไป เพียงแต่มีขนาดเล็ก และความสามารถไม่ได้เทียบเท่าเครื่องเดสก์ท็อป การที่มีพีซีก็จะทำให่หุ่นยนต์ประมวลผลได้เร็วขึ้น ขยับเคลื่อนไหวได้เร็วกว่าเดิมที่ใช้ควบคุมโดยไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่มีความสามารถในการทำงานที่ด้อยกว่า อีกทั้งยังช่วยในการแก้ปัญหา การที่หุ่นยนต์แย่งบอลกันเอง ที่มักเป็นปัญหาที่เจอบ่อยเมื่อต้องแข่งขัน

นอก จากนี้ปี 2551 ทางทีมฟีโบ้ได้สมาชิกน้องใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกทดแทน สมาชิกเดิมที่จบการศึกษาไปแล้ว ต้องยอมรับว่าปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทำงานแบบนี้ ในฐานะสมาชิกอาวุโสก็จำเป็นที่จะต้องรีบถ่ายทอด ประสบการณ์และความรู้ที่มีทั้งหมดให้กับน้องๆ รุ่นต่อไปได้นำไปใช้ในปีต่อๆ ไป ที่ผ่านมา 6 เดือน ทีมฟีโบ้เตรียมตัวเต็มที่ แต่ติดที่ทีมงานยังเด็กๆ เพิ่งเริ่มมาทำกัน แต่เชื่อว่าเรื่องทีมเวิร์คไม่น่ามีปัญหา จะมีก็แค่น้องบางคนอาจจะตื่นสนามเมื่อต้องแข่งจริงเท่านั้นเอง

IT Digest: เหตุผลของการพัฒนาหุ่นเวอร์ชันล่าสุดของทีมฟีโบ้

ทีมฟีโบ้: จาก ข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ การที่ต้องหาหุ่นตัวใหม่ ที่แบกรับน้ำหนักของเครื่องพีซีได้ อีกเหตุผล คือ เนื่องจากฟีโบ้เน้นวิจัยเรื่องการเดินมาตลอด จึงต้องการหุ่นทำความเร็วได้มากขึ้น ส่วนการสร้างหุ่นใหม่ในปีนี้คงไม่มี อยากมากก็อาจจะเป็นแค่ตัวทดสอบในโครงงานวิจัย เพื่อให้รุ่นน้องได้เข้ามาพัฒนาต่อในส่วนของระบบ AI เนื่อง จากหุ่นแต่ละตัวใช้เงินลงทุนสูงถึงตัวละ 2.5 แสนบาท สาเหตุที่มีราคาแพงเพราะอุปกรณ์และส่วนประกอบเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่าง ประเทศ ไม่มีผลิตขายในเมืองไทย

ทั้ง นี้เมื่อเทียบหุ่นยนต์ของฟีโบ้กับหุ่นของประเศอื่นๆ เชื่อว่าในด้านการเดิน หุ่นฟีโบ้จะเดินได้เร็วพอๆ กับหุ่นของประเทศญี่ปุ่น แต่หุ่นของประเทศญี่ปุ่นจะมีน้ำหนักน้อยกว่า เพราะเขาใช้พีซีควบคุมที่มีขนาดเล็ก และเบากว่าถึงเท่าตัว เนื่องจากทีมญี่ปุ่นเป็นทีมของบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ แม้ทางทีมงานพยายามติดต่อไปทางผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นแต่ก็ไม่มีใครขายให้ ก็นับเราถูกปิดกั้นทางเทคโนโลยีอยู่เหมือนกัน ขณะที่หุ่นยนต์แชมป์เก่า คือ เยอรมนีนั้นเดินช้ากว่าเรา แต่ระบบ AI ฉลาดล้ำลึก และเก่งมาก ส่วนประเทศจีนก็สูสีกับทีมไทย

เปิดใจ 'ทีมฟีโบ้' กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก
IT Digest: ทีมฟีโบ้มีการแบ่งการทำงานอย่างไร และขึ้นตอนการทำงานของหุ่นเป็นอย่างไร

ทีมฟีโบ้: ฟี โบ้มีทีมทำงาน 3 ทีม ประกอบด้วย 1.ทีมงานออกแบบกลไก 2.ทีมทำระบบควบคุมการเดิน และทีมพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ และกล้องจับภาพ ทั้ง 3 ทีมต้องทำงานประสานกันเพื่อให้หุ่นทำงานได้ โดยเมื่อสร้างหุ่นขึ้นมาแล้ว และโปรแกรมการเดินเสร็จ ก็จะเป็นขั้นตอนที่หุ่นพร้อมทำงาน เมื่อทีมงานเปิดสวิตช์ของหุ่นแล้ว พีซีในตัวหุ่นจะเริ่มการทำงาน จากนั้นหุ่นยนต์จะส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายไร้สายไปยังคอมพิวเตอร์โฮสต์ รับคำสั่งพร้อมยืนตัวตรง โดยโปรแกรมรูปแบบการเล่นจะถูกเขียนไว้ให้กับหุ่นยนต์ ส่งผ่านเครือข่ายไร้สายไปที่ตัวหุ่น เท่านี้หุ่นก็จะพร้อมสำหรับลงแข่งขันแล้ว

IT Digest: ในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณ และเรื่องอื่นๆ ทางฟีโบ้ได้มาจากไหน

ทีมฟีโบ้: สำหรับผู้สนับสนุนหลักในปีนี้ยังคงเป็น บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ที่ได้ให้งบสนับสนุนในการไปแข่งขันโรโบคัพปี 2008 มา 442,500 บาท นอกจากนี้ยังมี บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเอไอส ที่ให้ทุนช่วย อีกส่วนจะเป็นงบสนุบสนุนของทางมหาวิทยาลัยฯ โดยการเสนอเรื่องขอไป นอกจากนี้ทาง อ.ชิต ผอ.ฟีโบ้ยังช่วยเหลือหาผู้สนับสนุนรายอื่นๆ ด้วย

แต่ ที่ยังขาดอยู่มาก น่าจะเป็นความเข้าใจจากภาคอุตสาหกรรม ที่มีต่อวงการหุ่นยนต์ เพราะส่วนมากจะมองว่าเราทำของเล่นกัน ทั้งที่จริงเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์ไปเตะฟุตบอลเป็นแค่สีสันเท่านั้น เนื้อแท้ของการพัฒนาหุ่นยนต์ ฟีโบ้ยังคงมุ่งที่การวิจัย และศึกษารูปแบบการเดิน ที่จะเอาไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาขาเทียมสำหรับผู้พิการขาขาดตั้งแต่เข่าลงไป

IT Digest: ในส่วนของเทคโนโลยี AI เวลานี้ได้พัฒนาไปมากแค่ไหนแล้ว

ทีมฟีโบ้: อธิบายได้ว่าเทคโนโลยี AI ของหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ของไทย ขณะนี้ แตกต่างไปจากเมื่อก่อนมาก เพราะหุ่น “KM1”, “KM2”, “KM3” และ “KM4” สามารถ เข้าถึงลูกบอลได้เร็วขึ้น โดยระบบจะเลือกหุ่นที่อยู่ใกล้ลุกบอลมากที่สุดเข้าไปเล่นบอล แทนที่จะดาหน้าเข้าไปรุมแย่งกัน ตรงนี้น่าจะเป็นส่วนที่สามารถเอาไปต่อตอดเพื่อใช้ควบคุมการรทำงานของหุ่น ยนต์อุตสาหกรรม ที่มีจำนวนมากในโรงงานได้

เปิดใจ 'ทีมฟีโบ้' กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก
IT Digest: ดูเหมือนวงการ หรือสังคมนักพัฒนาหุ่นยนต์แบบนี้ค่อนข้างแคบไป

ทีมฟีโบ้: ความ จริงแม้จะดูว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์สังคมอาจจะดูแคบ แต่ทางทีมงานฟีโบ้ก็พยายามเปิดกว้าง หากว่ามีสถาบันการศึกษาใด สนใจจะพัฒนาด้านหุ่นฮิวมานอยด์ ทางสถาบันฟีโบ้ก็พร้อมที่จะแจกซอร์สโค้ดการเดินของหุ่นยนต์ให้ แต่ปัญหาก็อยู่ที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยให้ความสนใจ หรืออยากเข้ามาพัฒนาหุ่นฮิวมานอยด์

ส่วน หนึ่งนั่นอาจเป็นเพราะ ความที่ดูเหมือนระบบฮาร์ดแวร์จะยุ่งยากซับซ้อน คนที่ลองมาพัฒนาอาจจพบข้อจำกัดตรงนี้ เลยพาลไม่ชอบขึ้นมา อีกทั้งการพัฒนาหุ่นยนต์ก็ใช้งบประมาณที่สูงมาก ตรงนี้อาจเป็นกำแพงที่ปิดกั้นคนที่สนใจ อย่างไรก็ตามหากสถาบันการศึกษาใดสนใจจากลองพัฒนาดู ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาที่ฟีโบ้ได้เสมอ เพราะทีมฟีโบ้เคยปิดกั้นเทคโนโลยี

เปิดใจ 'ทีมฟีโบ้' กับภารกิจสานฝัน หุ่นยนต์ 2 ขาในเวทีโลก
IT Digest: คนที่เรียนด้านการทำหุ่นยนต์มาเมื่อจบแล้ว ส่วนมากจะทำงานด้านไหน

ทีมฟีโบ้: ถือ เป็นคำถามยอดนิยมที่มักถูกถาม คนที่เรียนด้านนี้มาส่วนมากเมื่อจบแล้ว จะประกอบอาชีพที่ทำงาน หรือพัฒนาระบบอัตโนมัติ อาจจะไม่ได้ทำหุ่นยนต์ตรงๆ คนที่ได้ทำก็นับว่าโชคดีที่ได้มาทำงานตรงสาย แต่ถ้าไม่ได้ทำงานตรงสายก็จะได้รับกระบวนการคิด และการทำงานที่เป็นระบบจากการทำหุ่นยนต์ติดตัวไป โดยการเรียนในสาขานี้จำเป็นที่จะต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์มาก่อน ที่สำคัญต้องมีความชอบที่จะประดิษฐ์ หรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ คือ ต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าชอบอะไร ที่สาขานี้เคยมีคนที่จบปริญญาตรีด้านเคมี แต่มาเรียนต่อปริญญาโทด้านหุ่นยนต์ เพราะใจรักค้นพบความชอบของตัวเอง อยากให้น้องๆ ได้พลิกแพลงโจทย์การชีวิตตัวเอง หาสิ่งที่ตรงกับใจต้องการเพราะต้องทำให้ความชอบและการเรียนไปคู่กันถึงดี

IT Digest: ฝากถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์

ทีมฟีโบ้: พวก เราทีมงานทุกคนของฟีโบ้ขอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจด้วยว่า หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ที่เรากำลังพัฒนาทำอยู่ใน ขณะนี้ ไม่ใช่หุ่นยนต์ของเล่นแบบที่ขายในท้องตลาด และเป้าหมายในการสร้างหุ่นยนต์ก็ไม่ใช่เพียง เพื่อเอามาแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ หรือ โรโบคัพ แต่เราได้นำไปวิจัยต่อยอดเพื่อสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะมามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของคนไทยอีกมากมาย ทั้งนี้ในวันที่ 14-20 ก.ค.2551 นี้ทีมฟีโบ้จะต้องเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโรโบคัพ 2008 ที่เมืองซูโจว ประเทศจีน จึงอยากขอให้คนไทยทุกคนช่วยเป็นกำลังใจ และสนับสนุนการพัฒนาของทีมฟีโบ้ด้วย...


ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th


drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไป รู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้าน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการ ลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมี ประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที