editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653533 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์เจ้าอารมณ์

หุ่นยนต์เจ้าอารมณ์

มีการถกเถียงในหมู่นักวิทยาการหุ่นยนต์กันมากพอสมควรว่าเราสามารถทำให้ สมองกลคอมพิวเตอร์มี “อารมณ์” ได้หรือไม่ แน่นอนครับว่าสาธาณชนส่วนหนึ่งคงมองว่านักวิทยาศาสตร์นี่ค่อนข้างเฟอะฟะ อยู่ดีไม่ว่าดี ชอบคิดโน่นประดิษฐ์นี่ เลอะทะอีกแล้วจะมาสร้างหุ่นยนต์ให้มีอารมณ์

ความเป็นจริงก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ผมได้ยินคำบรรยายสารคดีจากทางวิทยุ-โทรทัศน์ว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผมเห็นว่าเราไม่ควรมองความเจริญทางวัตถุเหล่านี้เป็นผู้ร้ายไปเสียหมด เทคโนโลยีอัตโนมัติในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ทำประโยชน์อย่างมากมายในการเพิ่มความสามารถในการผลิตอย่างที่ท่านผู้อ่านทราบดีนั้น ก็เป็นเทคโนโลยีตัวเดียวกันกับระบบควบคุมการขับเคลื่อนของขีปนาวุธที่ร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน มนุษย์ผู้ใช้เทคโนโลยีนั้นๆต่างหากที่ต้องมีวิจารณญาณและคุณธรรมเพียงพอจึงจะสรรค์สร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ออกมาได้ มัวไปตำหนิเทคโนโลยีมากๆอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้น้องๆหันไปเรียนสาขาอื่นๆกันหมด ทั้งๆที่ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีจำนวนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต่ำกว่าประเทศคู่แข่งเช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซียอยู่ค่อนข้างมาก ผมเพิ่งได้พบกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ของโลกที่มาลงทุนในประเทศไทยเกือบครบวงจรทุกส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ยกเว้น “ขบวนการผลิตต้นน้ำ” คือ Water Fab ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เขาเห็นว่าไทยมีจำนวนวิศวกรไม่เพียงพอ จึงจะไปลงทุนที่สิงคโปร์แทน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อยู่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ในประเทศไทยนั้นมีการจ้างแรงงานถึงหนึ่งแสนอัตรา มูลค่าผลิตภัณฑ์รวมกว่าสี่แสนล้านบาทต่อปี ผมขอเอาใจช่วยและออกแรงเท่าที่มีอยู่ช่วยให้รัฐบาลประสบความสำเร็จใช้ “การจัดการระดับประเทศ” แข่งขันในเวทีโลกครับ

เมื่อหันกลับมามองห้องปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศ เราต้องยอมรับว่าเรามีทุนรอนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ เราจึงต้อง ใช้วิธีการสร้างคนรุ่นใหม่ที่ “คิดเป็น” เมื่อออกไปทำงานก็ไปประยุกต์กับงานจริงในอุตสาหกรรม ดังนั้นการคิดและทำงานวิจัยพื้นฐานจึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะใช้งบประมาณน้อยกว่างานวิจัยประยุกต์แล้ว เราได้พัฒนาองค์ความรู้ของตนเองขึ้นมา ดีกว่าไปที่ดูงานต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว หลายคนมักคิดว่าการสะสมความรู้จากการดูงานจากแหล่งต่างๆ จะทำให้เรามีความรู้มากขึ้น ที่จริงแล้ววิธีนี้จะทำให้เราจบลงด้วยการที่เราไม่รู้อะไรเลยถ้าไม่ยอมทำด้วยตนเอง

การคิดค้นด้าน “อารมณ์” ของสมองกลหุ่นยนต์นี้เป็นเรื่องพื้นฐานหนึ่งที่เราสามารถพิจารณาจากตัวของเราเอง 30 ปีของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)เน้นการแก้ปัญหาเชิงปริมาณอย่างมีเหตุมีผล จนลืมคิดไปว่าอารมณ์ซึ่งเป็นปริมาณเชิงคุณภาพก็น่าใช้กรอบวิเคราะห์แบบมีเหตุผลในการเข้าใจแต่ละองค์ประกอบของอารมณ์ได้เช่นกัน ผมต้องขอแยกแยะให้ชัดนะครับผมกำลังกล่าวถึงตัวอารมณ์และความรู้สึก ที่เป็น “เวทนาขัณธ์” มิใช่อาการนาม “เจ้าอารมณ์” ในภาษาไทยที่อธิบายบุคคลิกภาพของการไม่สามารถควบคุมสังขาร-การปรุงแต่ง จนดูไร้เหตุผล ดังนั้นหุ่นยนต์เจ้าอารมณ์ในที่นี้คือหุ่นยนต์ที่มีขบวนการสร้างอารมณ์อย่างชัดเจนและมีที่มาที่ไป ดั่งนี้แล้วการคิดสร้างหุ่นยนต์ให้แสดงอารมณ์ของเขาอย่างที่เขาเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และน่าสนใจอย่างยิ่ง ผลลัพธ์ที่ได้ฟีโบ้จะนำไปใช้พัฒนาสมองของหุ่นยนต์ที่ต้องมาทำงานใกล้ชิดกับมนุษย์เช่นหุ่นยนต์ช่วยบำบัดคนไข้เด็กออทิสติสก์ ที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้วิทยาการทางโลกตะวันตกมักแยกความคิดกับความรู้สึกออกจากกัน อย่างสิ้นเชิง ในระยะหลังเริ่มมีผลวิจัยออกมาสอดคล้องกับทางพุทธปัญญากล่าวคือเรื่องของขัณธ์ห้านั้นมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง จิตคิดและรู้สึกเป็นโดเมนพื้นฐานนำมาซึ่งอารมณ์ ระบบมัลติเพล็กซ์ในอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สมองกลแยกแยะระหว่างกระบวนการรู้ในสิ่งที่คิดกับรู้ว่ากำลังคิดอยู่ ซึ่งหลายครั้งปุถุชนเช่นผมนั้นยังหลงรู้สิ่งที่คิดแต่ไม่รู้ว่ากำลังคิดอยู่ จึงดูเสมือนว่าหุ่นยนต์น่าจะมีสติตามอารมณ์ตัวเขาเองทันตลอดเวลากว่าที่มนุษย์จะทำได้

เขียนถึง “หุ่นยนต์เจ้าอารมณ์” วันนี้จนผมเริ่มมีอารมณ์ (อย่างมีเหตุผล) อยากให้ไทยพัฒนาเทคโนโลยีแข่งขันกับสิงคโปร์ 50 ปีเขาเคยล้าหลังกว่าเรา แต่อารมณ์คงช่วยอะไรมากไม่ได้หรอก จำเป็นต้องสร้าง “ปัญญาไทย” เป็นเขี้ยวเล็บขึ้นมาจึงสามารถต่อกรกับเขาได้ครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที