ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 57001 ครั้ง

ชัชวาลย์ ทัตศิวัช
นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง


บทความนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากบทความทางวิชาการซึ่งผู้เขียนนำเสนอและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 1 ปะจำปี พ.ศ.2552 สาระสำคัญเชิงเนื้อหาของบทความที่ผู้เขียนได้นำมาแบ่งเป็นหลายตอนนี้ ได้นำเสนอองค์ความรู้เชิงแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน รวมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์การ อันจะช่วยโน้มนำหรือเปิดโลกทัศน์ใหม่ในเชิงการรับรู้เครื่องมือของการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์การของผู้สนใจทั่วไปอีกทางหนึ่งด้วย


อะไรคือสุขภาพองค์การ

แนวคิดเรื่องสุขภาพองค์การ (Organizational Health)  นับได้ว่าเป็นแนวคิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา และได้เป็นแนวคิดที่ถูกนำมาพิสูจน์อย่างกว้างขวางทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ  โดยเฉพาะในแวดวงการวิจัยสาขาการบริหารการศึกษา 


สุขภาพองค์การ เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยไมลส์
(Matthew Miles, 1972  cited in Hoy & Forsyth, 1986:  156)  นักวิเคราะห์องค์การในยุคพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Era)  ซึ่งได้ให้คำนิยามว่าเป็นการศึกษาองค์การเพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผน  โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนไปที่การพิจารณาขอบเขตอย่างกว้าง ๆ ของกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทำร่วมกันในองค์การ ด้วยการอาศัยการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างมีความหมายเกี่ยวกับความพยายามหาแนวทางที่จะปรับปรุงองค์การให้เป็นสถานที่น่าอยู่ น่าทำงานและน่าเรียนรู้หรืออย่างน้อยที่สุดในวันหนึ่งๆ ได้มีการดำเนินการในส่วนต่างๆ ขององค์การอย่างเป็นระบบ เช่นโรงเรียน และสถาบันศึกษาเฉพาะทาง เป็นต้น ผลงานที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องสุขภาพองค์การของ   ไมลส์ (Miles) ได้แก่ การศึกษาและประยุกต์เอาองค์ความรู้เชิงศาสตร์ธรรมชาติและพฤติกรรมศาสตร์ อันได้แก่ ความรู้ทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา  เข้าไปใช้ในการสังเกตการทำงานของคนงานในโรงงานผลิตยาแห่งหนึ่งของประเทศอังกฤษ  ซึ่งผลจากการศึกษาได้ข้อสรุปและชี้ให้เห็นว่า การที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์การได้อย่างมีระบบและมีระเบียบแบบแผนนั้น ต้องเริ่มต้นที่การปรับปรุงสุขภาพองค์การเป็นเป้าหมายขั้นแรก  (Milstein, and Belasco, 1973)


ฮอย และฟอร์ซิธ
(Hoy & Forsyth, 1986: 156) ได้ให้ความหมายของสุขภาพองค์การไว้อย่างน่าสนใจว่าเป็นภาวการณ์ปฏิบัติงานขององค์การตามภารกิจ และการได้ตอบสนองการกระทำตามหน้าที่สำคัญของระบบสังคมด้านการปรับตัว การทำให้บรรลุเป้าหมาย การบูรณาการ และการรักษาระเบียบแบบแผนขององค์การ  ทำให้องค์การมีความพร้อมที่จะคงอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสภาวการณ์ต่าง ๆ ในระบบสังคมได้อย่างเหมาะสม และมีโอกาสที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้องค์การมีการพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน  โดยที่สุขภาพองค์การยังเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งของความสำเร็จหรือประสิทธิผลขององค์การได้ด้วย โดยที่องค์การใดมีสุขภาพดีก็จะทำให้การบริหารองค์การนั้นมีประสิทธิผล  ในทางตรงข้าม ถ้าองค์การใดสุขภาพไม่ดี ก็จะทำให้การบริหารองค์การนั้นไม่มีประสิทธิผล  สอดคล้องกับทัศนะของฮอย และมิสเกล (Hoy & Miskel, 1991: 394-395) ที่ว่าองค์การที่มีสุขภาพดีจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นองค์การที่มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และหากองค์การใดที่มีสุขภาพดีแล้ว  องค์การนั้นย่อมมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามไปด้วย


จิรประภา อัครบวร
(2549)  ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในผลงานเขียนเรื่อง “องค์การสุขภาพดีคืออะไร”  ได้กล่าวถึงคุณลักษณะขององค์การสุขภาพดีว่าเป็นองค์การที่มีความสามารถในการประกอบการและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ซึ่งเมื่อมีปัญหามารุมเร้า ไม่ว่าเป็นปัญหาภายในหรือจากสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ  องค์การจะยังสามารถดำรงอยู่ได้ อันเปรียบได้กับการมีสุขภาพดีของมนุษย์ที่หากแม้มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน  ร่างกายของมนุษย์ก็ยังจะสามารถรองรับหรือด้านทานโรคนั้นได้  บริบทของสุขภาพองค์การที่จิรประภาได้นำเสนอไว้นี้  ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แวดงวงวิชาการและการบริหารได้เห็นว่า องค์การที่มีสุขภาพดีนั้นมิได้เป็นเพียงอุดมการณ์เท่านั้น หากแต่ยังพึงได้รับความสนใจในฐานะแนวคิดที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาองค์การ (Concept of Organization Development) เพื่อให้องค์การสามารถเติบโตและอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้  โดยประการนี้ สุขภาพองค์การ จึงจัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่เรียกกันว่า “การวินิจฉัยองค์การ” (จิรประภา อัครบวร, 2549: 100) ที่ใช้พิจารณาสาเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์เกิดขึ้นในองค์การ และใช้ช่วยสร้างความตระหนัก (Awareness) ในปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์การหรือบุคลากรในองค์การ


สรุปความเบื้องต้นได้ว่า สุขภาพองค์การ หมายความถึง สภาพขององค์การที่เกิดจากสภาวะการปฏิบัติงานตามภารกิจและความรับผิดชอบขององค์การทำให้องค์การมีความพร้อมที่จะคงอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมและสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม สามารถจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้โรงเรียน มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที