ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 57005 ครั้ง

ชัชวาลย์ ทัตศิวัช
นักศึกษาปริญญาเอกหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง


บทความนี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากบทความทางวิชาการซึ่งผู้เขียนนำเสนอและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับที่ 1 ปะจำปี พ.ศ.2552 สาระสำคัญเชิงเนื้อหาของบทความที่ผู้เขียนได้นำมาแบ่งเป็นหลายตอนนี้ ได้นำเสนอองค์ความรู้เชิงแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน รวมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์การ อันจะช่วยโน้มนำหรือเปิดโลกทัศน์ใหม่ในเชิงการรับรู้เครื่องมือของการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลองค์การของผู้สนใจทั่วไปอีกทางหนึ่งด้วย


บทสรุป

โลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกร้องและท้าทายต่อองค์การในแง่ของการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลต่อเนื่องถัดมาในอัตราเร่ง   เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมแห่งยุคโลกาภิวัตน์นี้  องค์การที่ฐานะที่เปรียบเสมือนกับสิ่งมีชีวิตในระบบเปิด (Open Systems) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้จักที่จะปรับตัวหรือพัฒนาปรับปรุงให้สามารถดำรงอยู่รอดและเติบโตได้โดยอาศัยความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness)  การพิจารณาว่าองค์การสามารถในเชิงประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใดนั้น  เป็นเรื่องของการประเมินหรือการตรวจสอบที่สามารถดำเนินการได้หลากหลายวิธีการ หนึ่งในแนวคิดหรือวิธีการหลากหลายและได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะการบริหารการศึกษาได้แก่ แนวคิดเรื่องการวัดสุขภาพองค์การ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว สุขภาพองค์การ เป็นความสามารถหลักขององค์การในการปฏิบัติงานตามภารกิจและหน้าที่ของระบบสังคมที่ทำให้องค์การอยู่รอดได้


สุขภาพองค์การ  ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ทางการบริหารจัดการไม่ว่าจะในมุมมองการของบริหารงานภาครัฐหรือการจัดการของภาคธุรกิจเอกชนแต่อย่างใด  โดยเนื้อแท้แล้ว สุขภาพองค์การ ได้รับความสนใจนำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานเพื่อใช้ในการศึกษา/ประเมินสมรรถนะในการบริหารจัดการองค์การอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา  ในประเทศไทย  ความสนใจหลักในการศึกษาสุขภาพองค์การ อันสามารถพิจารณาได้จากงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการบริหารการศึกษาจำนวนหนึ่ง ให้ความสำคัญและสนใจศึกษาสุขภาพองค์การ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในเชิงการปรับปรุงระบบการบริหารเพื่อให้เกิดสมรรถนะมากขึ้น  แม้ว่า ประเด็นที่สนใจศึกษาในงานวิจัยระดับมหาบัณฑิต จะไม่ลึกซึ้งเทียบเท่ากับงานวิจัยรูปแบบดุษฎีนิพนธ์  แต่คณูปการแห่งความสนใจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นได้ในระดับหนึ่งถึงการให้ความสำคัญต่อเรื่องการวัดสมรรถนะหรือความสามารถในการบริหารจัดการองค์การภาครัฐได้อย่างดียิ่ง  และคุณูปการเช่นนั้น ย่อมมากทับทวีเมื่อได้นำผลการจากการศึกษาวิจัยไปสู่การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการสถานศึกษานั่นเอง และจากกรอบแนวคิดและตัวแบบเพื่อใช้ศึกษาสุขภาพองค์การดังกล่าว  ข้อสำคัญที่นำมาสู่ความสนใจของผู้เขียนครั้งนี้ และความมุ่งประสงค์ที่ต้องการจากการวิจัยที่ผู้เขียนกำลังดำเนินการคือ เราจะสามารถนำตัวแบบหรือกรอบความคิดเรื่องการวัดสุขภาพองค์การดังกล่าว มาใช้กับหน่วยงานภาครัฐอื่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ซึ่งมีบริบทแตกต่างไปจากสถานศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยการวิเคราะห์เดิมอย่างไร  รวมทั้งมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนากรอบตัวแปรหรือองค์ประกอบของตัวชี้วัดสุขภาพองค์การขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้เขียนสนใจจะทำการศึกษาวิจัยในแง่มุมหรือประเด็นใดบ้าง  อันนับเป็นความท้าทายต่อเนื่องไปถึงการริเริ่มพัฒนากรอบแนวคิดเรื่องสุขภาพองค์การเพื่อไปใช้เป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์สำหรับหน่วยงานภาคธุรกิจเอกชน ควบคู่กับเครื่องมือประเมินสมรรถนะองค์กรที่กำลังได้รับความนิยมเช่น
Balance Scorecard เป็นต้น ต่อไปในภายหน้า 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที