editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 94025 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้นำ Hyundai

ผู้นำ Hyundai

ปีที่ 2 ฉบับที่ 22
16 มิถุนายน 2552

“A man who is a master of patience is master of everything else.” George Savile (1726-1784)
ผู้ที่เป็นเจ้าแห่งความอดทนก็เป็นเจ้าแห่งทุกสิ่ง

Chung Mong-koo ประธานบริษัท Hyundai Kia Automotive Group แห่งประเทศเกาหลีใต้ เป็นผู้นำผู้บริหารที่น่าสนใจมากที่สุดคนหนึ่งเพราะเป็นผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้และใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นผู้ที่รวยที่สุดของเกาหลีใต้ แต่ทรัพย์สินและบารมีที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่ช่วยทำให้เขาหนีพ้นกฎหมายไปได้ Chung Mong-koo ถูกจับเมื่อเดือนเมษายน 2006 ด้วยข้อหาการใช้เงินเพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรมโดยการบริจาคเงินให้นักการเมืองรวมมูลค่าถึงUS$106 ล้านเหรียญ และการยักยอกเงินบริษัทอีกหลายร้อยล้านเหรียญไปใช้จ่ายอย่างไม่โปร่งใส จนถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2007 ต่อมาในเดือน กันยายน 2007 ศาลได้เมตตาบรรเทาโทษให้ทำงานรับใช้สังคมและให้บริจาคเงิน US$ 1,000 ล้านเหรียญ แก่องค์กรสาธารณะกุศล ซึ่งเขายอมรับในคำตัดสินของศาล

รถยนต์ Hyundai ครองตลาดเกาหลีใต้มากกว่า 75 % และผลิตเพื่อการส่งออกไปขายทั่วโลกถึง 70% โดยได้เข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วด้วยรถรุ่น Excel โดยใช้กลยุทธ์เรื่องราคาที่ถูกกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ เป็นตัวนำ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากตลาดดีพอสมควร แต่มีปัญหาเรื่องการเกิดสนิมที่ตัวถังและคุณภาพของรถยนต์ที่ยังไม่ดีพอ ทำให้เกิดภาพลบในด้านคุณภาพ เป็นผลให้รถยนต์รุ่นต่อๆมาของ Hyundai ไม่สามารถแจ้งเกิดได้อีกในตลาดสหรัฐอเมริกา

Hyundai เจอพิษต้มยำกุ้งจากประเทศไทยที่ระบาดเข้าเกาหลีใต้ในปี 1997 ทำเอาบริษัทเกือบล้มละลายจนประธาน Chung Mong-koo ต้องตัดสินใจเข้าควบรวมกับบริษัท Kia เพื่อความอยู่รอดของทั้งสองบริษัท และสร้างความเข้มแข็งใหม่ ให้กับองค์กรโดยใช้โอกาสวิกฤติที่เกิดขึ้นกับองค์กรทำการแก้ไขปัญหาเดิมของบริษัทและสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้แก่องค์กรในเรื่องมาตรฐานคุณภาพ โดยประกาศเจตนารมณ์ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตขนานใหญ่ ตั้งเป้าหมายให้รถยนต์ของ Hyundai มีคุณภาพเทียบเท่ากับรถยนต์ Toyota ในปี 2004 และให้รถยนต์รุ่น Sonata ของ Hyundai สามารถแข่งขันได้กับรุ่น Camry ของ Toyota เป็นการตั้งเป้าหมายที่สูงและท้าทายมาก ทำให้บริษัทต้องทำการปรับปรุงกระบวนการผลิต การออกแบบ และเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ ด้วยวิสัยทัศน์ในด้านการพัฒนาคุณภาพให้สามารถแข่งขันได้ และการกล้าทุ่มเงินจำนวนมากลงทุนพัฒนาด้านคุณภาพในการผลิตให้เทียบเท่ากับระบบคุณภาพของบริษัท Toyota

ผลของความพยายามมุ่งมั่นไปสู่ความเป็นเลิศอย่างไม่ย่อท้อ ภายใต้การนำของประธาน Chung Mong-koo มาเป็นเวลาหลายปี บัดนี้เริ่มส่งผลแล้วในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยอดขายรถยนต์ของอเมริกาตกต่ำสุดๆจนผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แทบล้มละลาย แต่ยอดขายรถยนต์ Hyundai ในสหรัฐอเมริกาในปี 2008 กลับมียอดขายเพิ่มขึ้น 2% เป็นผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 5% และ 3 เดือนแรกปี 2009 นี้ ส่วนแบ่งการตลาดของ Hyundai ในตลาดรถยนต์กลับสูงขึ้น 4.7% เกิดคำถามว่าเป็นเพราะเหตุใด

คำตอบคือ กลยุทธ์การตลาดที่ก้าวนำหน้าบริษัทรถยนต์รายอื่นในสหรัฐอเมริกาด้วยการประกาศใช้ Hyundai Assurance Program เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ของ Hyundai ทุกคน หากภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ซื้อ แล้วลูกค้าถูกเลิกจ้าง หรือถูกย้ายไปทำงานต่างประเทศ หรือกลายเป็นบุคคลล้มละลาย บริษัทยินดีให้เอารถยนต์มาคืนให้กับบริษัทได้เลย เป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนอเมริกันที่มีความไม่แน่นอนในอนาคตเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังประกาศรับประกันคุณภาพรถยนต์ Hyundai ด้วยการรับประกัน 10 ปี หรือ 100,000 ไมล์ เป็นการประกาศให้ “สองเด้ง” แก่ลูกค้าซึ่งยังไม่มีบริษัทรถยนต์ใดในโลกกล้าให้การรับประกันมากขนาดนี้ เป็นการประกาศความมั่นใจในมาตรฐานคุณภาพของ Hyundai ที่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่

Hyundai รุ่น Sonataได้สร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับบริษัทมาแล้วโดยการได้รับเลือกให้เป็นรถ Taxi อย่างเป็นทางการในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือและการตอบรับในตลาดจีนและ รถรุ่น Genesis ก็ได้รับเลือกให้เป็นรถยนต์แห่งปี 2009 จากนักเขียนนิตยสารยานยนต์ในงาน North American International Auto Show ที่เมือง Detroit สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและการตอบรับของตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกา

Hyundai ยังได้ประกาศอีกว่ารถยนต์ของบริษัทจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน5 ปีก่อนถึงกำหนดเส้นตาย ตามที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ปี 2020 เป็นปีที่รถยนต์ในสหรัฐอเมริกาจะต้องมีมาตรฐานในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ซึ่งหมายความว่าภายในปี 2015 รถยนต์ Hyundai จะต้องใช้น้ำมันเพียง 1 แกลลอนในการวิ่งระยะทาง 35 ไมล์ เป็นการประกาศตัวเป็นผู้นำไปล่วงหน้าก่อนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นในเรื่องการประหยัดน้ำมัน

ที่เขียนนำมานี้ไม่ได้มีเจตนาจะแสดงความชื่นชอบรถยนต์เกาหลีใต้เป็นการพิเศษเพราะส่วนตัวก็ยังใช้รถยนต์จากเยอรมันและญี่ปุ่น แต่ต้องการให้ดูผู้นำHyundai ที่มีปัญหา แต่สามารถแก้ไขปัญหาส่วนตัวได้โดยไม่ให้ใครเดือดร้อน และสามารถนำการเปลี่ยนแปลงบริษัทให้พ้นวิกฤติ อย่างน้อยที่สุดเรื่องความสำเร็จของ Hyundai ก็เป็นบทเรียนสอนเราว่า

  1. ผู้นำต้องมีความกล้าหาญที่ถูกต้อง Chung Mong-koo แม้จะร่ำรวยมหาศาล มีอิทธิพลทั้งทางธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง แต่เมื่อทำผิดกฎหมายก็ใช้ช่องทางกฎหมายในการต่อสู้คดี และยอมรับคำพิพากษาของศาล ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จนได้รับความเห็นใจจากสังคม ได้รับการบรรเทาโทษให้เบาลง จนสามารถกลับมาบริหารบริษัทได้ ทำให้บริษัท Hyundai ผ่านวิกฤติ และสามารถกลับมาแข่งขันได้
  2. ยอมรับความจริง Chung Mong-koo ยอมรับว่ารถยนต์ Hyundai ยังด้อยคุณภาพ จึงตั้งมาตรฐานคุณภาพโดยเอา Toyota เป็น Bench Mark การยอมรับความจริงทำให้มองเห็นจุดบกพร่องของตนเองชัดเจนขึ้น ทำให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหา เกิดความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เกิดพลังความสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจทำงาน
  3. การตลาดที่เข้าถึงจิตใจของลูกค้า ที่ไม่ได้เน้นเพียงแต่เรื่องความแตกต่าง(Differentiation)ของสินค้า หรือราคา แต่เน้นเรื่องความเข้าอกเข้าใจ (Passionate) ลูกค้าที่กำลังไม่มั่นใจในอนาคตว่าจะตกงานหรือไม่ สร้างความรู้สึกปลอดภัยและพร้อมร่วมชะตากรรมกับลูกค้า ทำให้ได้ใจลูกค้าไปครอง ยอดขายเลยพุ่งสูงขึ้นในขณะที่บริษัทอื่นยอดขายลดลง
  4. สร้างความมั่นใจ แม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องการรับคืนรถยนต์ภายใน 1 ปี และรับประกันยาวถึง 10 ปี แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพ แม้จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมีรายได้เพิ่ม
  5. ความมุ่งมั่น กว่าจะมาถึงความสำเร็จได้ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาล และที่สำคัญคือมีความมุ่งมั่นที่ไม่ย่อท้อ แม้จะต้องใช้เวลานับ 10 ปีในการฟื้นฟูตัวเองให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ผู้นำและผู้ร่วมงานก็อดทนมุ่งมั่นฟันฝ่าให้ได้
  6. การมีส่วนร่วม Hyundai ให้โอกาสผู้ผลิตชิ้นส่วนสนับสนุนที่เป็นคู่ค้าส่ง (Suppliers) ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพด้วย โดยเชิญคู่ค้าส่งให้เข้ามาเป็นกรรมการในบริษัททำให้เกิดความรู้สึกเป็นทีมเดียวกันในการพัฒนา

Niccolo Machiavelli กล่าวว่า “Where the willingness is great, the difficulties cannot be great.” ที่ใดมีความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่ที่นั่นอุปสรรคไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเรามุ่งมั่นจะแก้ไขในสิ่งผิดอย่างแท้จริง ความสำเร็จไม่ใช่สิ่งไกลตัว


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที