editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 93817 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้บริหารระดับกลาง

ผู้บริหารระดับกลาง

ปีที่ 2 ฉบับที่ 25
7 กรกฎาคม 2552

“Everyone in society should be a role model, not only for their own self-respect, but for respect from others.” Barry Bonds
ทุกคนในสังคมควรเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเพื่อเป็นการเคารพตนเอง แต่เพื่อการเคารพจากผู้อื่นด้วย

ในภาวะที่บริษัทต่างๆกำลังหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้บริหารต่างหันกลับมาดูภายในองค์กรตนเองและหาทางที่จะปรับปรุงระบบธุรกิจของบริษัทอย่างที่เรียกว่า Business Process Re-engineering เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติและสามารถแข่งขันได้ทันทีที่ออกจากวิกฤติ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำในองค์กร เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้บริษัทจะต้องพูดถึงความพึงพอใจของลูกค้า (Customer satisfaction) การมุ่งใส่ใจลูกค้า (Customer focus) การสร้างทีมและการทำงานเป็นทีม (Team management) การลดชั้นของโครงสร้างองค์กร (De-layered organization structures) ให้ขั้นตอนการตัดสินใจสั้นลง นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าต่างๆอีกมากมาย ที่รัฐบาลออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนที่เดือดร้อนมากที่สุดในเวลานี้คือ ผู้บริหารระดับกลาง (Middle manager) เพราะไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ระดับไหนในองค์กร ผู้บริหารระดับกลางก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี เนื่องจากอยู่ตรงกลางที่ต้องรับความกดดันจากทุกด้าน ผู้บริหารระดับกลางต้องทำหน้าที่เป็นท่อเชื่อมระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ เป็นผู้แปลความคิดความต้องการของผู้บริหารระดับสูงให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเข้าใจและปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็นำปัญหาของระดับล่างขึ้นสู่ระดับบนเพื่อขอรับการแก้ไข เป็นบทบาทที่เล่นยากยิ่ง เพราะมักถูกผู้บริหารระดับสูงมองว่าเป็นพวกไม้ตายซาก (Dead wood) เพราะสั่งให้ทำอะไรก็มักไม่ได้ดั่งใจ ในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชามักจะมองผู้บริหารระดับกลางเป็นปฏิปักษ์เพราะเห็นว่าเอาใจรับใช้แต่เจ้านายไม่เห็นใจลูกน้อง ผู้บริหารระดับกลางจึงอยู่ในฐานะลำบากที่ฝรั่งเรียกว่า the death zone

อยากขอให้ผู้บริหารระดับสูงได้มองผู้บริหารระดับกลางด้วยสายตาที่เป็นธรรมบ้าง เพราะตัวท่านเองก็เคยผ่านการเป็นผู้บริหารระดับกลางมาก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารระดับสูง และท่านต้องมองว่าพวกเขาเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพขององค์กรที่จะพัฒนาเป็นผู้นำผู้บริหารขององค์กรในอนาคต ผู้บริหารหลายองค์กรกำจัดผู้บริหารระดับกลางเพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายเกิดความล้มเหลวในการนำการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพราะขาดผู้ทำหน้าที่ตัวเชื่อมที่มีคุณภาพ ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าหลายเท่า ผู้บริหารระดับสูงที่คิดฆ่าตัดตอนผู้บริหารระดับกลางเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้นจะพบกับผลร้ายต่อตัวผู้บริหารและองค์กรในระยาว เมื่อธุรกิจต้องขยายตัวอย่างรวดเร็วในอนาคตแต่ไม่สามารถทำได้เพราะขาดผู้นำหลัก (Key persons) ในการนำการเปลี่ยนแปลงและขยายองค์กร ทำให้สูญเสียโอกาสที่มีค่ามหาศาลไปอย่างน่าเสียดาย

อยากขอให้ผู้บริหารระดับกลางได้พิจารณาตัวเองด้วยเหมือนกันในการปรับปรุงวิธีการทำงานและบทบาทของตนให้เด่นชัดมากขึ้นว่ามีความสำคัญในการช่วยนำองค์กรให้ผ่านปัญหาอุปสรรค เป็นผู้นำหลักในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ทำตัวเป็นแบบอย่าง (Role model) ที่ดีในการสร้างคุณค่า (Value) การทำงานที่มีคุณภาพให้ลูกน้อง เป็นตัวอย่างที่มีชีวิต (Living example) ให้แก่ลูกน้องในการทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อองค์กรและมีชีวิตครอบครัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย

Steve Tower ประธานบริษัท Business Process Management Group ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารระดับกลางว่า

  1. Move away from day-to-day operations.
    อย่าหลงทำงานประจำวัน ผู้บริหารระดับกลางหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าต้องก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานในระดับปฏิบัติ นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน วิธีที่ถูกต้องคือต้องพยายามสอนและถ่ายทอดความรู้และทักษะให้ลูกน้องในระดับปฏิบัติสามารถทำได้ ตัดสินใจได้ เพื่อตัวท่านเองจะมีเวลามากขึ้นในการคิดและทำงานที่มีความสำคัญมากขึ้น
  2. Think like senior managers
    คิดอย่างผู้บริหารระดับสูง หมายถึงการมองขึ้นไปข้างบนให้มากขึ้นเพื่อดูว่าตัวท่านมีโอกาสจะใช้ความคิดอะไรบ้างในการนำเรื่องสำคัญมาทำเพื่อทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่าคิดแค่เป็นผู้รับนโยบาย และทำหน้าที่เป็นเพียงนายไปรษณีย์คอยส่งสาร ท่านต้องรู้จักแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อเชื่อมแนวคิดกับการปฏิบัติให้เกิดผลมากขึ้น
  3. Understand the business strategies.
    ทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ธุรกิจ เพราะเหตุใดองค์กรถึงต้องปรับยุทธศาสตร์ มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน มีอุปสรรคและโอกาสสำคัญอะไรบ้างต่ออนาคตขององค์กร ท่านอย่าเอาแต่บ่นเมื่อได้รับมอบหมายงานโดยไม่ทำความเข้าใจสาระ ท่านต้องเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ธุรกิจคือความอยู่รอดขององค์กรและคือความอยู่รอดของตัวท่านด้วย
  4. Participate at all levels.
    มีส่วนร่วมในทุกระดับโดยที่ผู้บริหารระดับกลางมีทั้งทักษะทางความคิด (Conceptual skill) และทักษะทางเทคนิค (Technical skill) จึงต้องมีส่วนเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงทุกระดับ หลายท่านไม่ค่อยชอบเข้าร่วมในเวทีระดับสูงเพราะรู้สึกด้อยในการแสดงความคิดเห็น และมีความสุขมากกว่าในเวทีระดับล่างที่ได้แสดงความเป็นผู้นำอย่างเต็มที่ จริงๆแล้วเป็นบทบาทของท่านที่ต้องเข้าร่วมในทุกระดับเพื่อประสานความคิด สร้างความเข้าใจให้ทั้งสองเวทีเข้าใจตรงกัน
  5. Manage change and people together.
    การจัดการเปลี่ยนแปลงคือการจัดการเปลี่ยนความคิดคนให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นท่านต้องพูด อธิบาย สร้างความเข้าใจ เปลี่ยนทัศนคติ และวิธีคิดของลูกน้องที่อยู่ในระดับปฏิบัติที่ไม่มีความรู้ในวงกว้าง อย่าใช้วิธีอ้างเป็นนโยบายของเบื้องบนที่สั่งในทุกคนปฏิบัติ เพราะนั่นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงการยอมต้องปฏิบัติตาม ซึ่งไม่ได้ผลที่แท้จริง
  6. Utilize their role as 'Ace mediator'.
    ใช้บทบาทการเป็นตัวกลางชั้นดีในการประสานความคิด ความเข้าใจ ให้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่นและสิ้นเปลืองน้อยที่สุด เพราะท่านเป็นผู้รู้และเข้าใจสภาพสิ่งแวดล้อมของระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ และรู้ถึงสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกองค์กร และเป็นผู้สามารถอธิบายให้ทั้งสองระดับเข้าใจตรงกันได้
  7. Become a practical visionary.
    ท่านเป็นผู้ที่สามารถแปลงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารให้เป็นรายละเอียดในการปฏิบัติได้ สิ่งที่ผู้บริหารสูงคิด (Top-think) ท่านต้องแปลงให้เป็นการปฏิบัติในระดับปฏิบัติ (Front-line actions) ท่านเป็นผู้นำวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง
  8. Become the master of change
    การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการที่ท่านเป็นผู้วางแผนในการปฏิบัติ ท่านเป็นผู้วางตารางเวลางาน กำหนดคน ติดตามผลการปฏิบัติ และประเมินผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไข ท่านคือ ผู้รู้จริงและเป็นผู้นำทำจริงแห่งการเปลี่ยนแปลงขององค์กร

John Wolfgang von Goethe กล่าวว่า “The mediator of the inexpressible is the work of art.” การเป็นผู้ประสานโดยไม่ต้องแสดงออกคืองานศิลปะ แม้จะเป็นงานยากของผู้บริหารระดับกลางแต่เป็นบทบาทที่ท่านต้องเล่นให้ดีที่สุดครับ


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที