editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 93984 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้นำทาง


15
กรกฎาคม 2552 ปีที่ 2 ฉบับที่ 26
ผู้นำทาง

“Victory awaits him who has everything in order. Defeat is certain for him who has neglected to take necessary precautions in time”                                                                                                                                          Roald Amundsen

ชัยชนะรอคอยผู้ที่มีทุกสิ่งอยู่ในการควบคุม ส่วน ความพ่ายแพ้ แน่นอนว่ามีให้แก่คนที่ไม่ใส่ใจในการระมัดระวังที่จำเป็นในเวลา เป็นคำกล่าว ของ Roald Amundsen นักสำรวจชาวนอร์เวย์ ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะพิชิตขั้วโลกเหนือเป็นคนแรก แต่เมื่อ Robert Peary ได้ประกาศความสำเร็จในการเป็นผู้ไปถึงขั้วโลกเหนือแล้ว เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปพิชิตขั้วโลกใต้ (Antarctic) แทน โดยประกาศความตั้งใจของเขา และโทรเลขแจ้งให้ Robert Falcon Scott  นายทหารเรือชาวอังกฤษซึ่งก็กำลังเตรียมการจะทำการสำรวจขั้วโลกใต้เช่นกันทราบ ความพยายามครั้งแรกของ Amundsen และเพื่อนร่วมทีม เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1911 แต่การเดินทางในครั้งนี้ประสบล้มเหลวเพราะสภาพอากาศเลวร้ายเกินกว่าจะเดินทางต่อไปได้ทำให้ต้องเดินทางกลับฐาน Framheim ความพยายามครั้งที่สองเริ่มในวันที่ 19 ตุลาคม 1911 โดยมีเพื่อนร่วมทีม 4 คน ใช้แคร่เลื่อน (Sledge) 4 ตัว ใช้สุนัข52 ตัว ลากแคร่เลื่อน เดินทางฝ่าความหนาวเหน็บของอากาศและธรรมชาติที่โหดยากลำบาก จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 1911 ทีมของเขาและสุนัขลากที่เหลือ 16 ตัว ก็สามารถพิชิตขั้วโลกใต้สำเร็จ และทีมของเขาสามารถเดินทางกลับถึงฐานด้วยความปลอดภัยในวันที่ 25 มกราคม 1912 โดยเหลือสุนัขลากเพียง 11 ตัว  

Robert Falcon Scott นำทีมทั้งหมด 8 คนออกเดินทางในวันที่ 1 พฤศจิกายน 1911 ทั้งๆที่ทราบอยู่แล้วว่า ทีมของ Amundsen ได้ออกเดินทางล่วงหน้าไปแล้ว แต่เพราะมีความมั่นใจอย่างสูงว่าจะสามารถไปถึงขั้วโลกใต้ได้ก่อนเนื่องจากทีมของเขาใช้ยุทธวิธีเอาแคร่เลื่อนเครื่องยนต์มาใช้แทนการลากของสุนัข ใช้ม้าเป็นพาหนะหลักในการบรรทุกสัมภาระ และสุนัขบางส่วน แต่การเดินทางกลับพบกับปัญหาเรื่องความเร็วในการเดินทางที่แตกต่างกันของแคร่เลื่อนเครื่องยนต์ สุนัข และม้า และพบปัญหาแคร่เลื่อนเครื่องยนต์ไม่สามารถใช้การได้หลังจากเดินทางได้ 5 วัน เพื่อเป็นการลดภาระความล่าช้าในการเดินทาง ดังนั้นในวันที่ 4 มกราคม 1912  เขาจึงตัดสินใจเลือก 4 คนให้เดินทางต่อไปกับเขาและให้อีก 3 คนเดินทางกลับ จนถึงวันที่ 17 มกราคม 1912 ทีมของเขาก็สามารถเดินทางถึงขั้วโลกใต้ แต่กลับเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิตของเขาเมื่อพบเต็นท์ของ Amundsen พร้อมกับบันทึกที่ทิ้งให้ทราบว่าได้เดินทางมาถึงก่อนแล้ว Scott นำทีมเดินทางกลับฐานระยะทางประมาณ 1300 กิโลเมตร ด้วยความรู้สึกถดถอยและต้องต่อสู้กับอุปสรรคอันโหดร้ายทางธรรมชาติที่โหมกระหน่ำซ้ำเติม ทำให้ผู้ร่วมทีมคนหนึ่งล้มป่วยตายไป อีกคนหนึ่งเกิดแผลจากหิมะกัด (Frostbite) ทำให้เดินได้ช้ามากจนเจ้าตัวตัดสินใจเดินออกจากเต็นท์ไปสู่ความตายเพราะไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นเดินทางช้าลง ทำให้เหลือเพียง 3 คนสุดท้าย ที่สามารถเดินทางต่อได้ แต่โชคร้ายเจอพายุหิมะพัดถล่มติดต่อกัน 9 วัน ทำให้ขาดอาหาร เชื้อเพลิงและทั้ง 3 คนเสียชีวิตในความหนาวเหน็บของพายุหิมะเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1912 ซึ่งScott ได้เขียนบันทึกไว้ก่อนตายว่า

 “พวกเราเลือกเสี่ยง พวกเรารู้ว่าเราเลือกมัน ทุกสิ่งได้เป็นอุปสรรคต่อพวกเรา ดังนั้นเราจึงไม่มีเหตุที่จะต่อว่า แต่ก้มยอมรับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า พวกเรายังคงมีความแน่วแน่ในการทำดีที่สุดจนถึงวาระสุดท้าย ถ้าหากพวกเราจะมีชีวิตรอดได้ ข้าพเจ้ามีเรื่องราวที่จะเล่าให้ฟังถึงความยากลำบาก ความอดทนและความกล้าหาญของเพื่อนร่วมทางซึ่งจะสะเทือนหัวใจของชายชาวอังกฤษทุกคน บันทึกคร่าวๆนี้และซากศพของพวกเราจะเล่าเรื่อง”

ร่างของScott และผู้ร่วมทีมอีก 2 คน ถูกค้นพบในวันที่ 12 พฤศจิกายน 1912 หลังจากเสียชีวิตแล้ว 8 เดือน ชาวอังกฤษในเวลาต่อมายกย่องเขาว่าเป็นผู้กล้าที่เสียสละเพื่อประเทศชาติ แม้จะไม่ได้เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่เหยียบขั้วโลกใต้ แต่วีรกรรมความตั้งใจที่จะทำเพื่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศอังกฤษได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนเกิดความรักและเสียสละเพื่อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารอังกฤษต้องทำการต่อสู้อย่างกล้าหาญในหลายสมรภูมิ

บทบาทของผู้นำสองคน ที่ตั้งใจทำในสิ่งเดียวกัน ได้ให้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้นำผู้บริหารอย่างไรบ้าง

1.      มุ่งเอาชนะจนเกินไป

แม้ว่า Scott ได้รับโทรเลขของ Amundsen ในเดือนตุลาคม 1910 ถึงการเตรียมเดินทางพิชิตขั้วโลกใต้ แต่ เขาไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจของเขา อาจเป็นเพราะว่าเขาเป็นนายทหารเรือของกองทัพราชนาวีอังกฤษ ความยิ่งใหญ่และศักดิศรีของอังกฤษทำให้เขาไม่สามารถยอมได้ และแม้ก่อนจะเริ่มออกเดินทางเขาก็ทราบดีว่าทีมของ Amundsen ได้ออกเดินทางล่วงหน้าไปหลายวันแล้ว เขายังมีความมั่นใจว่าทีมของเขามีโอกาสที่ดีกว่าที่จะไปถึงก่อน นี่คือหลุมพรางแห่งความล้มเหลวที่ผู้นำผู้บริหารหลายคนเคยมีประสบการณ์อันเจ็บปวดมาแล้ว การมุ่งเอาชนะเพื่อศักดิ์ศรีมากจนเกินไปทำให้มองข้ามข้อเท็จจริงที่สำคัญ และเกิดความคิดลำเอียงเข้าข้างตนเอง เป็นผลทำให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด

2.      การวางแผนที่ดี

Amundsen วางแผนใช้สุนัขลากแคร่เลื่อนเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าเขานำสุนัขถึง 52 ตัวไปด้วย เผื่อความจำเป็นถ้าหากต้องใช้สุนัขเป็นอาหารให้สุนัขและคน ในขณะที่ Scott มุ่งใช้ เครื่องยนต์เข้ามาแทนการลากของสุนัขเพราะต้องการความเร็ว และใช้ม้าบรรทุกสัมภาระเพราะต้องการปริมาณในการบรรทุก แต่กลับกลายเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดเพราะเครื่องยนต์ไม่ทำงานในอากาศที่หนาวจัดเมื่อเดินทางไปได้เพียง 5 วัน เช่นเดียวกัน ม้าก็ไม่สามารถทนความหนาวจัดได้เป็นเวลานานหลายวัน จึงทยอยป่วยตายหมด เมื่อแคร่เลื่อนใช้ไม่ได้และม้าตาย ทำให้ในที่สุด คนต้องแบกสัมภาระที่หนักแทน และต้องใช้การเดินตลอดเวลา ทำให้การเดินทางช้าลงมาก เสียกำลังมากทำให้ร่างกายเจ็บป่วย

3.      ประสบการณ์

Amundsen เคยประสบความสำเร็จในการเดินข้าม Northwest Passage ใกล้ขั้วโลกเหนือมาก่อน ทำให้เขาสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเตรียมงาน แม้กระทั่งรายละเอียดของเสื้อผ้าก็ใช้แบบที่ชาวเอสกิโมใช้เพราะมีน้ำหนักเบา ส่วนScott เป็นนักเดินเรือ และมีอคติชอบม้ามากกว่าสุนัข การวางแผนที่ขาดประสบการณ์ทำให้เขาเลือกใช้สิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมจึงเกิดปัญหาขึ้นในเวลาปฏิบัติจริง ผู้นำผู้บริหารหลายคนล้มเหลวเพราะขาดประสบการณ์และมีอคติในการเลือกใช้คนและทรัพยากร เพราะความชอบส่วนตัว ทำให้เกิดความผิดพลาดและล้มเหลวในที่สุด

4.      ความชัดเจนของเป้าหมาย

Amundsen มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเดินทางเพื่อพิชิตขั้วโลกใต้ ทุกคนในทีมถูกคัดสรรมาเพื่อจุดประสงค์เดียวคือเดินให้ถึงขั้วโลกใต้ให้ได้ ทั้ง 5 คนรู้ชัดเจนแต่แรกว่าเป้าหมายคืออะไร ส่วนทีมของ Scott ผู้ร่วมทีมไม่ทราบเป้าหมายที่ชัดเจนในตอนแรกว่าจะต้องทำการสำรวจเส้นทางและเก็บตัวอย่างธรรมชาติด้วย ผู้ร่วมทีมมีถึง 8 คน และ 1 คนในทีมถูกเลือกมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลม้า ผู้นำผู้บริหารที่ไม่สร้างความชัดเจนของเป้าหมายให้กระจ่างตั้งแต่แรกจะทำให้ผู้ร่วมงานเกิดความสับสนในเวลาปฏิบัติงานจริงและเป็นผลทำให้เกิดปัญหาในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ

Zig Ziglar กล่าวว่า “A goal properly set is halfway reached.” การวางเป้าหมายที่เหมาะสมทำให้สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ®

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ บทความเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อการพาณิชย์... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที