editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 94030 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้นำกับผู้แวดล้อม

“A good leader makes sure he is surrounded by the right people.” Gene A. Abbott ผู้นำที่ดีต้องมั่นใจว่ามีแต่คนดีอยู่ล้อมรอบ

17 สิงหาคม 2552 ปีที่ 2 ฉบับที่ 30

ผู้นำกับผู้แวดล้อม

ความ จริงที่ผู้นำทุกคนหลีกหนีไม่ได้คือ ผู้นำไม่สามารถบริหารงานด้วยความสามารถของตนเองแต่เพียงลำพังได้ เพราะการเป็นผู้นำหมายถึงการทำงานโดยอาศัยผู้ติดตาม หรือการทำให้คนอื่นเชื่อและทำตามความคิดของตนจนสำเร็จตามความประสงค์ เหมือนที่ Gene Abbott กล่าวว่า “Success is not achieved totally by leadership alone” ความสำเร็จไม่ได้บรรลุจากความเป็นผู้นำทั้งหมดแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นความสำเร็จจึงขึ้นอยู่ที่ผู้นำมีคนดี มีความสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือในการทำงานมากน้อยเพียงใด และตรงนี้คือความล่อแหลมของผู้นำ เนื่องจากอนาคตของการเป็นผู้นำจะสั้นหรือยืนยาวหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่ที่ปัจจัยคนใกล้ชิดแวดล้อม ในความเป็นจริงมีผู้นำน้อยคนที่โชคดีสามารถดำรงสถานะความเป็นผู้นำได้นานแม้จะพ้นวาระในตำแหน่งผู้นำไปแล้ว แต่ความเป็นผู้นำยังคงดำรงอยู่ในชีวิตหลังตำแหน่งผู้นำ คือคนยังให้ความเคารพนับถือยกย่องในจิตใจไม่เสื่อมคลาย ผู้นำจำนวนมากอยู่ได้ไม่นานก็ถึงจุดเสื่อม และสาเหตุหลักของความเสื่อมส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ชิดแวดล้อมรอบข้าง ที่ชักจูงว่านล้อมให้ผู้นำทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายของผู้ติดตาม ทำให้ผู้ติดตามเกิดความเสื่อมศรัทธาและกัดกร่อนความเป็นผู้นำ

เป็นความจริงที่ว่า การเข้าสู่การเป็นผู้นำต้องอาศัยผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งก็คือบรรดาผู้มีความศรัทธาในตัวผู้นำนั่นแหละ แต่เมื่อผู้นำได้เข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจรองรับแล้ว ผู้สนับสนุนที่อยู่รอบข้างต่างมีเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้นำทำตามความต้องการซ่อนเร้นของตน ถ้าผู้นำโชคดีมีคนรอบข้างที่ดีช่วยค้ำจุน ก็จะช่วยกันกลั่นกรองหรือคัดค้านการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล และต้องอาศัยจริยธรรมที่แข็งแกร่งในจิตใจของผู้นำที่แสดงออกอย่างเด่นชัดว่ายึดมั่นในหลักการความถูกต้องมากกว่าความถูกใจหรือผลประโยชน์ของตนเองและผู้อยู่ใกล้ชิด ผู้นำจำนวนมากเริ่มอ่อนล้าและประนีประนอมกับความต้องการของผู้อยู่ล้อมรอบ เนื่องจากมีภารกิจมากจนไม่มีเวลาที่จะลงมาใส่ใจไล่ตรวจสอบรายละเอียด ส่วนใหญ่ผู้นำผู้บริหารจะรับทราบแต่หลักการ และวัตถุประสงค์ ที่ผู้อยู่แวดล้อมนำเสนอซึ่งมักจะฉลาดในการนำเสนอในส่วนที่ดีงามสอดคล้องกับความต้องการของผู้นำแต่รายละเอียดในทางปฏิบัติมักบิดเบี้ยวและมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นซึ่งนำผลเสียมาสู่ผู้นำผู้บริหารในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด

คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจม. ซีพีออลล์ ได้เขียนในหนังสือ “CEO สอนน้อง” ซึ่งตอนหนึ่งในหนังสือได้พูดถึงคัมภีร์การบริหารการปกครองของจีนที่ชื่อ “ ฉางต่วนจิง” กล่าวถึงขุนนางดี 6 ประเภท และขุนนางเลว 6 ประเภท ที่มีผลทำให้พระมหากษัตริย์ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปกครองประเทศได้ ในการเป็นผู้นำผู้บริหารองค์กร ก็คงเป็นลักษณะเดียวกันคือ ถ้ามีทีมบริหารที่อยู่แวดล้อมใกล้ชิดทำงานร่วมกันเป็นคนไม่ดี ผู้นำผู้บริหารก็ยืนอยู่บนความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการบริหารงานในที่สุด เพราะคนใกล้ชิดที่ไม่ดี จะเป็นผู้บ่อนทำลายความเป็นผู้นำของผู้บริหารไปเรื่อยๆจนถึงจุดดับในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำผู้บริหารจะต้องใส่ใจและระวังมากที่สุดคือคนแวดล้อมใกล้ตัวนั่นแหละ เราได้เห็นเป็นประจักษ์มามากต่อมากแล้วที่ผู้นำประเทศต่างๆต้องจบสิ้นความเป็นผู้นำอย่างบอบช้ำจากการกระทำของผู้แวดล้อมใกล้ชิด ขออนุญาตนำเรื่องขุนนางเลว 6 ประเภท มาเขียนใหม่ เพื่อเป็นข้อคิดให้ผู้นำผู้บริหารองค์กรได้ใช้ตรวจสอบคนแวดล้อมใกล้ชิดตนดังนี้

  1. ขุนนางกะล่อน หรือคนทำงานใกล้ตัวที่ไม่มีจุดยืนหรือความจริงใจต่อใคร เป็นคนที่เปลี่ยนสี แปรพักตร์ ได้ตลอดเวลา คนประเภทนี้เล่นละครเก่ง ลู่ตามลมชมเจ้านาย จนได้ดิบได้ดี อยู่ในวงจรกลุ่มผู้บริหารได้ทุกสมัย เก่งในการซิกแซกหาช่องทางเอาประโยชน์ให้ตนเองได้อย่างแยบยล และสามารถแทงข้างหลังเพื่อนได้อย่างเลือดเย็น ผู้นำที่มองคนใกล้ชิดประเภทนี้ไม่ออกมักจะเจ็บปวดใจภายหลัง เมื่อเห็นคนที่ครั้งหนึ่งใกล้ชิดตนกลับไปอยู่กับผู้นำผู้บริหารคนใหม่ได้อย่างสนิทสนม
  2. ขุนนางสอพลอ คนใกล้ชิดประเภท “ ถูกครับนาย ได้ครับท่าน” เป็นคนทำให้ผู้นำผู้บริหารเสียผู้เสียคนมามากแล้ว เพราะเป็นคนประเภทไม่สนใจความถูกต้องเหมาะสมใดๆทั้งสิ้น ขอให้นายชอบอะไรต้องการอะไรเป็นต้องเอาใจหามาประเคนหรือทำให้นายจนได้ โดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะเป็นผลเสียหายต่อนายในภายหลัง ผู้นำผู้บริหารมักชอบใช้คนประเภทนี้เพราะเมื่อสั่งครั้งใดไม่เคยมีคำถาม หรือ ข้อสงสัยท้วงติง และสามารถทำได้สำเร็จอย่างรวดเร็วทันใจตามความต้องการเสมอ
  3. ขุนนางบ่างช่างยุ คนใกล้ชิดประเภทนี้ใช้ปากนำความเสียหายมาให้เจ้านาย เพราะเก่งในการยกเหตุผลช่างเจรจาหาคำพูดที่น่าเชื่อถือ สามารถใช้วาทศิลป์เอาชนะเหตุผลของฝ่ายตรงกันข้ามได้ ทำให้ผู้นำผู้บริหารที่ไม่หนักแน่นในหลักการคล้อยตามคำชักจูง หรือลำบากใจในการที่จะทัดทานความคิดเห็นที่มีผู้คล้อยตามเห็นด้วยไปแล้ว อันตรายที่คนประเภทนี้นำมาคือนำศัตรูจากภายนอกเข้ามาในองค์กร และทำภายในองค์กรให้เกิดความแตกแยกแบ่งความคิดเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำร้ายกันเอง
  4. ขุนนางโฉด คนใกล้ชิดประเภทเจ้าเล่ห์ใจอำมหิต ดูภายนอกนิ่มนวลสุภาพ พูดจาปราศรัยดีเหมือนไม่มีพิษภัย ข้างในจิตใจกลับแฝงด้วยความริษยาอาฆาต ดำเนินการเงียบๆเพื่อทำร้ายทำลายคนอื่นเพื่อเอาประโยชน์ให้กับตน ในสังคมไทยของเราคงมีคนประเภทหน้าเนื้อใจเสือ ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ อยู่มาก จะเห็นได้จากละครโทรทัศน์ทุกช่องจะมีตัวร้ายเงียบทุกเรื่อง ผู้นำผู้บริหารถ้าไม่ระมัดระวังจริงๆจะไม่รู้เลยว่ามีคนประเภทนี้เป็นคนใกล้ชิดตนอยู่ กว่าจะรู้ความจริงบางทีก็สายไปเสียแล้ว
  5. ขุนนางปล้นชาติ คนใกล้ชิดประเภทนี้ ปล้นเอาผลประโยชน์ขององค์กรมาเป็นผลประโยชน์ของตน โดยอาศัยอำนาจของนายที่ตนใกล้ชิดติดสอยห้อยตาม อันที่จริงผู้นำผู้บริหารน่าจะมีความเฉลียวใจอยู่บ้างที่มีคนคอยอาสาตัวเข้ามารับใช้มากมาย ทำไมคนเหล่านั้นถึงได้เสียสละเวลามาคอยช่วยเหลือตนถ้าไม่ใช่เพราะมีประโยชน์แอบแฝง อันตรายที่สุดอยู่ตรงที่คนใกล้ชิดประเภทนี้รู้จักหาผลประโยชน์มาให้ผู้นำผู้บริหารอย่างลงตัว จนทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรและตัวผู้นำผู้บริหารในที่สุด
  6. ขุนนางล้างชาติ คนใกล้ชิดประเภทนี้ หาประโยชน์เอาดีเข้าตนเอง สนับสนุนให้เจ้านายทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หาช่องทางรูโหว่ของกฎหมาย ทำให้นายเดินเข้าสู่ปากเหวมรณะแล้วโยนความผิดให้เจ้านาย ผู้นำผู้บริหารที่มีผู้ใกล้ชิดที่เก่งเรื่องกฎหมายต้องระมัดระวังให้ดีเพราะเนติบริกรทำให้ผู้นำผู้บริหารและบริษัทหลายแห่งเสียหายจนถึงขั้นหมดตัวล้มละลายเหมือนล้างชาติมาแล้ว เพราะหลงเชื่อคำแนะนำของคนประเภทนี้มากจนเกินไป จนกลายเป็นว่าตนเองทำผิดกฎหมายโดยไม่เจตนา

ความสำเร็จของผู้นำผู้บริหารเกิดขึ้นจากองค์ประกอบมากมายแต่ที่สำคัญคือเรื่องการใช้คนที่ถูกต้องทำงานที่ถูกต้อง “Put the right man on the right job” ความหมายของ “The right man” หมายถึง คนดีและมีความสามารถด้วย ไม่ใช่คนมีความรู้ ทักษะ ความสามารถแต่ด้อยความดี เพราะคนมีความสามารถหาได้ไม่ยาก ถึงไม่มีความรู้ก็ยังฝึกฝนเรียนรู้ได้ แต่คนดีนั้นหาได้ยากกว่า ผู้นำผู้บริหารจึงต้องมีความสามารถในการสรรหา ดึงดูดคนดีมีความสามารถมาเป็นคนใกล้ชิดแวดล้อมตนเพื่อจะสามารถสนับสนุนการเป็นผู้นำผู้บริหารของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่จะดึงดูดให้คนดีมีความสามารถมาอยู่ด้วยคือผู้นำจะต้องมี

Leadership ภาวะผู้นำ ที่ต้องแสดงออกอย่างต่อเนื่องเพื่อนำผู้ติดตามไปในทิศทางที่ถูกต้องและทำในสิ่งที่ถูกต้องจนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ผู้ใกล้ชิดแวดล้อมมีความมั่นใจในสิ่งที่ทำว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่เป็นอันตรายต่อตนเอง

Dedication การทุ่มเทเสียสละของผู้นำ เป็นแบบอย่างที่ซื้อใจของผู้ติดตามได้ดีที่สุด ทำให้ทุกคนในองค์กรทุ่มเททำงานเต็มที่

Communication การสื่อสารที่ทั่วถึง เป็นการสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้ผู้ติดตามเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมตลอดเวลา

คำกล่าวสรุปที่น่าสนใจของ Gene Abbott คือ “To be the best, not the biggest, can one become a better leader” ผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ต้องเป็นผู้นำที่ดีที่สุด น่าเสียดายที่ผู้นำผู้บริหารหลายคนหลงทางมุ่งไปหาความต้องการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ยอมเสี่ยงทำสิ่งผิดๆหลอกล่อให้ประโยชน์เพื่อจะเอาใจผู้ติดตามโดยเข้าใจว่าจำนวนของผู้ติดตามตนคือตัวชี้วัดความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่ลืมไปว่าตัวเลขของผู้ติดตามนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพวกเขาค้นพบความจริงว่า ตัวผู้นำและผู้บริหารไม่ได้มีความดีจริงดังที่เขาเชื่อถือมาก่อน การติดตามผู้นำผู้บริหารก็สิ้นสุดลง


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที