editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 94031 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้นำยุคใหม่??

ผู้นำยุคใหม่??

ปีที่ 2 ฉบับที่ 14
11 เมษายน 2552

Peter Drucker กล่าวว่า “Management is doing things right; leadership is doing the right things.” การจัดการคือการทำงานให้ถูกต้อง ความเป็นผู้นำคือการทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้นำที่สังคมอยากได้คือผู้นำที่มีความสามารถในการทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคนดี ยึดมั่นในหลักการ แน่วแน่ไม่เปลี่ยนจุดยืนไปมา มีความสัตย์ซื่อ เป็นผู้นำที่เชื่อถือได้เพราะมีความมั่นคง (Consistency) ในความคิดและอุดมการณ์ของตน ในโลกยุคปัจจุบัน ผู้นำที่มีคุณลักษณะครบถ้วนแบบนี้คงเหลืออยู่น้อยมาก แทบจะกลายเป็นผู้นำในอุดมคติ หรือความฝันไปแล้ว จากการศึกษาของอาจารย์ Martin Kilduff แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge เมื่อเร็วๆนี้ พบว่าผู้นำโดยธรรมชาติ กลับมีลักษณะเป็นคนที่ไม่มั่นคง ไม่ยึดติดในหลักการ เก่งในการปรับตัว (Malleable) เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม และเป็นพวกฉกฉวยโอกาส (Opportunistic) อาจารย์ Kilduff ได้แบ่งผู้นำในองค์กรออกเป็นสองแบบ คือ ผู้นำ อย่างเป็นทางการ (Formal leaders) และ ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (Informal leaders) โดยให้ความหมายว่า ผู้นำอย่างเป็นทางการคือผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งและมีอำนาจของตำแหน่งผู้นำรองรับ ส่วนผู้นำอย่างไม่เป็นทางการคือผู้นำ ที่คนในกลุ่มทำงาน หรือคนในกลุ่มสังคม มองเห็นว่าเป็นผู้นำของกลุ่มเขา ในทัศนะของ Kilduff มีผู้นำที่สามารถเป็นได้ทั้งผู้นำอย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการในคนๆเดียวกันเหมือนกัน แต่มีน้อยคนมาก เพราะเป็นการยากที่ผู้นำจะสามารถสร้างความไว้วางใจ(Trust)ในหมู่คนผู้ติดตามให้เชื่อมั่นได้ตลอด

ผู้นำในยุคใหม่ ดี หรือ ไม่?

เนื่องจากองค์กรสมัยใหม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างจากรูปPyramid มาเป็นโครงสร้างการบริหารที่แบนลง (Flat hierarchies) มีมากแผนกแต่น้อยลำดับชั้น ทำให้มีผู้บังคับบัญชาน้อยคนลงและดูเหมือนว่าในแต่ละแผนกจะมีความเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่น แต่ถ้ามองอีกมุมมองหนึ่งจะเห็นว่ามีความแตกแยก (Fragmentation) อยู่ในโครงสร้างเพราะแต่ละแผนกจะให้ความสำคัญแก่สายสัมพันธ์โดยตรงของตนกับผู้บังคับบัญชาเท่านั้น จึงต้องมีผู้นำที่สามารถเป็นผู้ประสานรอยแยกระหว่างแผนกที่เกิดขึ้น ผู้นำโดยธรรมชาติ มีความเก่งในการประสานความแตกแยก เป็นผู้ที่สามารถปรับความเข้าใจและเปลี่ยนความคิดของกลุ่มคนที่เห็นแตกต่างได้ตามสภาพและสถานการณ์ Kilduff เรียกผู้นำที่มีคุณลักษณะแบบนี้ว่า High self-monitor คือ ผู้นำที่สนใจและห่วงใยตนเองในเรื่องบทบาทและภาพลักษณ์ของตน เป็นคนชอบแสดงออก เน้นเรื่องการสร้างความประทับใจ (Impression) ใส่ใจความเป็นไปทั้งเบื้องหน้า (Front-stage) และ เบื้องหลัง (Back-stage) เพราะห่วงใยภาพลักษณ์ของตนในสายตาสาธารณะ จึงพยายามแทรกเข้าไปมีบทบาทในคนทุกกลุ่มเพื่อสร้างความประทับใจในทางบวกให้แก่ตนเอง ในทางตรงกันข้ามก็มีผู้นำอีกคุณลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า Low self-monitor คือ ผู้นำที่ไม่เน้นเรื่องภาพลักษณ์ของตน แต่ยึดมั่นในหลักการ มุ่งมั่นตามทัศนคติของตน ถืออุดมการณ์และคุณค่า (Value) เป็นใหญ่ สนใจพฤติกรรมของตนในเชิงวิเคราะห์ภายในว่าทำไมตนถึงพูดและกระทำหรือมีพฤติกรรมเช่นนั้น และมักใช้ตนเองเป็นแบบอย่างอธิบายเหตุผลพฤติกรรมของตนให้ผู้อื่นเข้าใจ มากกว่าการพูดโน้มน้าว ผู้นำแบบ High self-monitor เป็นคนที่พูดจาปราศรัยเก่ง แสดงออกถึงความกระตือรือร้นในการเข้าไปแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่น (Flexibility) สูง สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้รวดเร็ว ผู้นำแบบนี้ชอบให้ผู้ตามเชื่อมั่นตนแต่ไม่ชอบให้ผู้ตามเชื่อมั่นกันเอง เพื่อตนเองจะได้ดำรงบทบาทสำคัญในระหว่างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันของผู้ตาม เป็นผู้นำที่เก่ง แต่ไม่รับประกันเรื่องความจริงใจ?

Dwight D. Eisenhower กล่าวว่า “Leadership is the art of getting someone else to do something you want done because he wants to do it.” ความเป็นผู้นำคือ ศิลปะการทำให้คนอื่นทำงานที่คุณต้องการทำให้เสร็จเพราะว่าเขา (คนที่ทำงาน) ต้องการทำงานนั้น


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที