editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 93816 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


การจัดการวิกฤติ

การจัดการวิกฤติ

ปีที่ 2 ฉบับที่ 19
26 พฤษภาคม 2552

“Crises and deadlocks when they occur have at least this advantage; that they force us to think.” Jawaharlal Nehru

นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอินเดียท่าน Jawaharlal Nehru กล่าวว่า วิกฤติและทางตันเมื่อเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดก็มีข้อดีนี้คือมันบีบให้เราคิด เป็นคำกล่าวที่แม้จะผ่านเวลามานานหลายสิบปีแต่ผู้นำผู้บริหารทั่วโลกต้องนำมาใช้ในเวลานี้เพื่อให้กำลังใจแก่ตัวเอง เพราะทุกคนต้องคิดๆๆเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังทำให้หลายประเทศอยู่ในสถานการณ์ทางตันที่ยังหาทางออกที่ดีไม่ได้ เช่นเดียวกับในระดับบริษัทธุรกิจที่ผู้บริหารก็กำลังคิดหาทางออกอยู่เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของตนเกิดความเสียหายน้อยที่สุด

วิกฤติสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะทันทีทันใด (Sudden Crisis) ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น หรือในลักษณะที่ส่อให้เห็นว่าจะลุกลามเป็นวิกฤติ (Smoldering Crisis) ซึ่งผู้นำผู้บริหารพอจะคาดการณ์ได้ ไม่ว่าวิกฤติจะเกิดขึ้นในลักษณะใดล้วนนำความเสียหายมาให้ทั้งเชิงเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมแก่ประเทศ ในระดับบริษัทความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจทำลายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของบริษัทและตัวผู้บริหาร หรือทำร้ายองค์กรในด้าน กระบวนการสร้างคุณค่า (Value creation process) แหล่งรายได้ (Income sources) ตำแหน่งในการแข่งขัน (Competitive position) และ ธุรกิจที่ต้องทำต่อเนื่อง (Ongoing business) ของบริษัทได้

มีผู้กล่าวว่า “In bad times, prepare for good times” ในเวลาที่แย่ๆให้เตรียมตัวสำหรับเวลาดีๆที่จะมาถึง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่แย่ตลอดไปและจะไม่ดีตลอดไปเช่นกัน แต่ถ้าผู้นำผู้บริหารไม่มีการจัดการวิกฤติ (Crisis Management) ที่ดี บางทีอาจไม่มีโอกาสหรือเวลาที่ได้เตรียมตัวสำหรับสิ่งดีๆ เพราะวิกฤติได้ทำลายความเป็นผู้นำหรือผู้บริหารของเขาไปเรียบร้อยแล้ว การจัดการวิกฤติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำผู้บริหารทุกคนจะต้องรู้และเข้าใจเพื่อสามารถจัดการกับวิกฤติที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดแม้จะไม่สามารถห้ามวิกฤติให้เกิดขึ้นได้ แต่สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติ หรือลดความรุนแรง หรือผลกระทบในวงกว้างจากวิกฤติลงได้ระดับหนึ่ง

ต่อไปนี้เป็นแนวทางที่อาจช่วยท่านผู้นำผู้บริหารได้ในการจัดการวิกฤติ

  1. Prepare contingency plans เตรียมแผนสำรองเผื่อใช้ในเวลาที่เกิดวิกฤติ
    ผู้นำและผู้บริหารไม่มีใครปรารถนาให้มีวิกฤติเกิดขึ้นในขณะที่ตนเป็นผู้บริหารอยู่ แต่บ่อยครั้งก็เป็นเหมือนแกล้ง ที่วิกฤติมักจะเกิดขึ้นในเวลาที่ผู้นำผู้บริหารเข้าสู่ตำแหน่งได้ไม่นาน เหมือนจะเป็นการพิสูจน์ว่าผู้นำผู้บริหารมีความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤติหรือไม่ ถ้าแก้ไขได้ดีก็เป็นที่แจ้งเกิด ถ้าจัดการไม่เป็นความเด่นก็กลายเป็นความด้อยได้ ความสำคัญของการวางแผนสำรองไว้ล่วงหน้าคือการที่ผู้นำผู้บริหารมีกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการคิดแก้ก่อนเกิดปัญหา (Proactive) และความสามารถในการอ่านและเข้าใจภาพเหตุการณ์จำลอง (Scenario) และลำดับเหตุการณ์ (Consequences) ของวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น เพราะแผนสำรองที่เตรียมไว้จะใช้ได้ผลจริงต้องอิงการคาดการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น
  2. Immediately and clearly announce การแจ้งให้ทราบอย่างจัดเจนอย่างทันที
    เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมใจไว้รับวิกฤติจึงเกิดความตื่นตระหนก (Panic) ไม่รู้ว่าจะจัดการกับตัวเองอย่างไรในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น ผู้นำผู้บริหารจะต้องมีความรวดเร็วในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ (Analyze) และ แปล (Interpret) ข้อเท็จจริงของข้อมูลที่สัมพันธ์กับวิกฤติที่เกิดขึ้น แล้วทำให้ข้อมูลง่ายขึ้น (Simplify) ต่อการเข้าใจ และแจ้งให้ผู้คนทราบอย่างรวดเร็วเพื่อลบความเข้าใจคลาดเคลื่อนและลดความวิตกกังวล เหมือนอย่างเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในตอนแรกที่ Mexico คนเข้าใจว่าสุกรเป็นตัวนำเชื้อโรคเกิดความตื่นตระหนก พากันเลิกรับประทานเนื้อสุกร เขียงหมูตามตลาดยอดขายหายไปครึ่งหนึ่ง
  3. Move quickly เคลื่อนไหวรวดเร็ว
    ในสถานการณ์วิกฤติจะใช้การแก้ไขปัญหาตามปกติมาจัดการย่อมไม่ทันเหตุดังนั้นจึงต้องใช้การจัดการที่มีขั้นตอนระเบียบวิธีการสั้นที่สุด วิธีที่ควรทำคือ กำหนดให้บุคคลหรือคณะบุคคลทำหน้าที่เป็นหัวในการรับผิดชอบ (Symbolic head) เพื่อทุกคนจะได้มองไปที่จุดเดียวในการแก้ไขปัญหาวิกฤติ (Point person of crisis) จะได้รับทราบความเคลื่อนไหวในการแก้ไขปัญหาพร้อมกันจากแหล่งข้อมูลเดียว เพื่อลดความสับสนและป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องข้อเท็จจริง จิตวิทยามวลชนต้องการเห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วเพื่อลดความวิตกกังวลลง เช่น การตั้งกล้องวัดไข้สูงที่สนามบินทุกแห่งเพื่อตรวจคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทำให้คนเกิดความรู้สึกคลายกังวลได้ในระดับหนึ่ง และเกิดความเชื่อมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาได้
  4. Use consultants ใช้ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษา
    ในวิกฤติต้องรีบสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด แม้ผู้นำผู้บริหารจะมีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหาแต่ไม่สามารถสั่งให้คนเชื่อถือได้ ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาด แม้รัฐมนตรีสาธารณสุขจะออกมาชี้แจงยืนยันข้อมูลแต่คนอาจไม่เชื่อเพราะคิดว่าอาจจะมีการปกปิดข้อมูล ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางออกมาชี้แจงคนถึงจะเชื่อมั่นในข้อมูล การใช้ผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นสิ่งจำเป็นในสถานการณ์วิกฤติ
  5. Accurate and correct information ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล
    ข่าวลือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติในเวลาวิกฤติ และมีคนเชื่อข่าวลือแม้จะมีการให้ข้อมูลในภายหลังก็ยากที่จะลบล้างความสงสัยได้ อย่างเช่นกรณีที่เชื่อว่าตู้ขนสินค้าที่จมอยู่ใต้ทะเลอาจมีกระดูกของผู้สูญหายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม เป็นเพราะไม่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาเกิดวิกฤติ การให้ข้อมูลต้องให้เหมาะกับเวลา ถ้าให้ข้อมูลเร็วเกินไป (Too early) ก็อาจไม่ได้ผล แต่ถ้าให้ข้อมูลสายเกินไป (Too late) ก็อาจไม่ได้ประโยชน์
  6. Consider long-term effects พิจารณาผลระยะยาวด้วย
    การรีบแก้ไขวิกฤติเพื่อให้ปัญหายุติโดยเร็วแม้ว่าจะเป็นความจำเป็น แต่ผู้นำผู้บริหารต้องคำนึงถึงผลในระยะยาวด้วยเหมือนกัน จะคิดเอาแต่ผลระยะสั้นเพื่อให้ปัญหาจบไปโดยเร็วเท่านั้นไม่ได้เพราะวิธีแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีในระยะสั้นอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายที่รุนแรงกว่าในระยะยาวก็ได้ เหมือนเชื้อโรคดื้อยานั่นแหละ

Henry A. Kissinger กล่าวว่า “In crises the most daring course is often safest.” ในวิกฤติเส้นทางที่เสี่ยงมากมักจะเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะวิกฤติเป็นทั้งปัญหาและความท้าทาย (Challenge) ของผู้นำผู้บริหาร


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที