editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 93813 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


วิกฤติและการเปลี่ยนแปลง

วิกฤติและการเปลี่ยนแปลง

ปีที่ 2 ฉบับที่ 20
2 มิถุนายน 2552

“You cannot understand a system unless you change it.” Kurt Lewin (1890-1947)

คุณไม่สามารถเข้าใจตัวระบบได้จนกว่าคุณเป็นคนเปลี่ยนระบบเสียเอง เป็นคำกล่าวที่สั้นแต่ความหมายยาวของ Kurt Lewin นักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน ที่มองเห็นว่าในสังคมมีระบบที่ซับซ้อนและยุ่งยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ถูกต้องทุกมิติ ถ้ายังยืนดูอยู่ข้างนอกระบบ เพราะสิ่งที่มองเห็นจากข้างนอกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบที่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ ต่อเมื่อได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบแล้วจะเริ่มเข้าใจในกลไกความซับซ้อนของระบบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำผู้บริหารส่วนใหญ่ได้พบประสบด้วยตัวเองเมื่อตั้งใจดีอยากทำการเปลี่ยนแปลงระบบ แต่ต้องผิดหวังเมื่อพบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด และยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ

เป็นเรื่องปกติที่ผู้นำผู้บริหารต้องคิดอยากเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบ เพราะหน้าที่หลักของผู้นำผู้บริหารคือการนำการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าเขาจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ระดับไหน และการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมได้เพียงใด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่อนๆไปจนถึงระดับเข้มข้น

  1. Reacting ปฏิกิริยาตอบโต้
    เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐานที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นตามปฏิกิริยาตอบสนองของผู้นำผู้บริหารโดยใช้ปฏิบัติการ หรือวิธีการที่ทำอยู่เป็นประจำ (Routine) ในองค์กร เป็นกลไกของการเอาตัวรอดเบื้องต้น เช่นเมื่อเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นผู้นำผู้บริหารจะใช้การประหยัดตัดค่าใช้จ่ายของบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก และเข้าควบคุมระบบการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจดูสิ่งที่ทำเป็นปกตินิสัยในองค์กรว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบทำงานปกติของบริษัท และเกิดผลกระทบต่อการทำงานของพนักงาน การทำธุรกิจกับคู่ค้าและการให้บริการแก่ลูกค้า เช่นการเลิกทำงานล่วงเวลา ไม่สั่งสินค้าปริมาณมากเหมือนก่อน ตัดการโฆษณา งดของแถม เป็นต้น ผู้นำผู้บริหารเพียงนำการเปลี่ยนแปลงตามปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น
  2. Reengineering ปรับเปลี่ยนใหม่
    เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงขึ้นมาโดยทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง(Structure) และ กระบวนการ (Process) ในระบบที่จำเป็น เพื่อสามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคหรือสร้างความสามารถในการแข่งขัน แน่นอนว่าเมื่อผู้นำผู้บริหารใช้ปฏิกิริยาตอบโต้ในการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นแล้วต่อไปก็ต้องทำการเฝ้าดู (Monitor) ว่าการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นนั้นเอาสถานการณ์อยู่หรือไม่ การบริหารจัดการบางอย่างในโครงสร้างเดิมอาจต้องทำการปรับ (Adjust) ให้เกิดความมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการผลิตหรือบริการบางช่วงอาจต้องออกแบบใหม่ให้สามารถเพิ่มประสิทธิผลโดยลดต้นทุนเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตหรือบริการ ในกระบวนการปรับและเปลี่ยนภายในองค์กร ผู้นำผู้บริหารต้องประเมินผลกระทบในเชิงกว้างที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งนอกองค์กรคือลูกค้า คู่ค้า ผู้บริโภค และในองค์กรคือความสามารถในการปรับตัวและยืดหยุ่นของบุคลากร เพราะการเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความกดดันและอาจเกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นใจกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีผลต่อกระทบต่อทัศนะคติของบุคลากรและสังคมข้างนอกได้ ผู้นำผู้บริหารต้องระมัดระวังแรงสะท้อนกลับ (Backfire) ถ้าไม่มีการสื่อสารที่ดีอย่างทั่วถึง
  3. Reforming ปฏิรูป
    เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับที่มากกว่าการปรับหรือเปลี่ยนโครงสร้างหรือกระบวนการทำงานตามปกติ แต่เป็นการปรับความคิดและทัศนะคติเดิมของบุคลากรในองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างรวดเร็ว การปฏิรูปไม่มองเฉพาะที่ปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้าแต่มองไปในอนาคตที่ไกลออกไปว่าองค์กรจะสามารถแข่งขันได้อย่างไรเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เช่นการปฏิรูปองค์กรจากลักษณะการเน้นหน้าที่ (Function Oriented) เป็นการเน้นความรู้ (Knowledge Oriented) จากการลอกแบบ (Copy) ผู้อื่น เป็นผู้สร้างนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งผู้นำผู้บริหารจะต้องเปิดใจกว้างให้อำนาจ (Empower) แก่บุคลากรในการคิดและตัดสินใจ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนในองค์กรมีความกล้าในการคิดสิ่งใหม่และลองทำสิ่งใหม่ ผู้นำ ผู้บริหารต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปคือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรเพื่อลบล้างวัฒนธรรมเดิมขององค์กรที่กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาองค์กร การเปลี่ยนค่านิยมและคุณค่า (Values) เดิมที่อยู่ในวิถีการทำงานของคนในองค์กรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสร้างค่านิยมและคุณค่าใหม่ให้เข้มแข็งจนสามารถกลบค่านิยมและคุณค่าเดิม
  4. Regenerating สร้างฟื้นฟูใหม่
    เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับสูงที่ผู้นำผู้บริหารองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตใจเหมือนกับการเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ ที่ผู้นำผู้บริหารต้องการนำองค์กรให้ก้าวพ้นจากวงจรชีวิตการทำงานแบบเดิมที่วนเวียนอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ที่ตัวชี้วัดความสำเร็จหลักในการทำงาน (Key Performance Indicators) ทุกตัวจะวัดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของปัจจัยทางเศรษฐกิจ และต้องการนำบุคลากรในองค์กรให้พัฒนาระดับจิตใจให้ก้าวขึ้นไปต่อสู้กับความกดดันของสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาจากข้างในจิตใจ (Inside Out) จนเกิดความปีติสุขในการทำงาน เพราะมุมมองในการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมที่เห็นความสำคัญสูงสุดที่ผลตอบแทนทางวัตถุ เป็นการทำงานที่เห็นความสุขของผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เกิดมิติการสร้างใหม่ คือการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ เปลี่ยนพันธกิจใหม่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ เช่นการสร้างองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ การค้าแบบเป็นธรรม การคืนกำไรกลับสู่สังคมด้วยความเต็มใจโดยไม่รู้สึกเสียดาย เพื่อสร้างสังคมให้มีดุลยภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

การสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งเก่าที่มีอยู่เป็นเรื่องท้าทายความสามารถของผู้นำผู้บริหารมาก เพราะยากยิ่งกว่าการสร้างสิ่งใหม่จากการไม่มีอะไรเลย เนื่องจากเราสามารถเลือกปัจจัยที่เราต้องการสร้างตั้งแต่เริ่มต้น แต่การสร้างสิ่งใหม่จากสิ่งเก่าจะต้องเสียพลังงานในการลบปัจจัยที่ไม่ต้องการที่มีอยู่เดิมให้หมดไปเสียก่อน ความสำคัญจึงอยู่ที่ความเข้มแข็งภายในของผู้นำผู้บริหารซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงว่ามีสภาพภายในจิตใจเป็นอย่างไร?

William J. O’Brien อดีต CEO บริษัท Hanover Insurance กล่าวว่า “The success of an intervention depends on the interior condition of the intervener” ความสำเร็จของการเข้าไปเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับสภาพภายในของผู้เข้าไปทำการเปลี่ยนแปลง ถ้าผู้นำผู้บริหารมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจสูง ความสำเร็จในการนำการเปลี่ยนแปลงก็มีสูงครับ


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที