ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 13 มี.ค. 2009 08.50 น. บทความนี้มีผู้ชม: 21552 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะ “เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างวิชาชีพ HR” และความเป็นมืออาชีพของทุกท่าน....


ภาคทฤษฎีของขวัญกำลังใจในการทำงาน (ตอนที่ 1)

ในตอนนี้  ผู้เขียนจะขอนำเสนอพื้นฐานแนวคิดเรื่องขวัญกำลังใจของการทำงาน คั่นรายการบทเรียนของการบริหารผลการปฏิบัติงาน เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจบางประการในแง่พฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ และในการทำงาน  ความรู้เหล่านี้ เป็นทฤษฎีในสาขาวิชำพฤติกรรมองค์การ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านมีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น 

งานเขียนนี้ สรุปจากเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตของผู้เขียนที่ได้จัดทำไว้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จึงไม่ได้นำเสนออ้างอิงไว้ในที่นี้  ท่านผู้อ่านท่านใดที่ต้องการจะได้ข้อมูลรายการอ้างอิง กรุณาติดต่อกับผู้เขียนผ่านทางเมล์นี้นะครับ c_waritthorn@hotmail.com

ขวัญกำลังใจในการทำงาน (ตอนที่ 1)

ความหมายของขวัญและกำลังใจ

ขวัญและกำลังใจตรงกับภาษาอังกฤษว่า   morale   มีรากฐานมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า   “Esprit De Corps”   ซึ่งในระยะแรก   ขวัญ เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการทหารในระหว่างที่มีสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างสิ่งบำรุงขวัญและได้มีการนำมาใช้ในวงการศึกษาตลอดจนในวงการอุตสาหกรรม ผู้วิจัยได้รวบรวมความหมายจากนักวิชาการ และสรุปได้ว่า ขวัญกำลังใจในการทำงาน เป็นเจตคติแห่งจิตใจ น้ำใจ ระดับความเป็นอยู่และภาวะของอารมณ์ใน  แต่ละบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารโดยตรง   อันจะส่งผลกระทบต่อความตั้งใจ ความร่วมมือ และความสนใจในการปฏิบัติงาน โดยเป็นสภาพที่เกิดขึ้นและสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของการทำงาน เช่น การกระตือรือร้น อารมณ์  คาดหวัง ความมั่นใจ   (Davis, 1974: 106; 1992)

หรือกล่าวได้ว่าเป็นทัศนคติของบุคคลหรือกลุ่มที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมของงานที่ปฏิบัติ   ตลอดจนการให้ความร่วมมือด้วยสมัครใจในการที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดขององค์การ    ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานนี้   เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติงานของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล   เป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารงานบุคคล  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติงาน หากขวัญดีบุคคลก็ย่อมมีความพอใจที่จะปฏิบัติงานสูงขึ้น หากขวัญไม่ดีบุคคลย่อมเกิดความท้อแท้  เบื่อหน่าย   และไม่พอใจที่จะปฏิบัติงานอันส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน  ในองค์กร  ดังนั้นผู้บริหารควรรู้จักการบำรุงขวัญบุคลากรในองค์กร เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ  และมีประสิทธิผลดี 

ความสำคัญของขวัญและกำลังใจในการทำงาน

สำหรับความสำคัญของขวัญในการปฏิบัติงานได้มีนักวิชาการให้ความเห็นพอสรุปได้แก่ (สมพงษ์  เกษมสิน, 2512  อ้างถึงใน วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์, 2542: 11) 
(1)  ขวัญกำลังใจในการทำงานเป็นสิ่งทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจเพื่อวัตถุประสงค์ขององค์การ
(2) สร้างความจงรักภักดีมีสัตย์ต่อหมู่คณะและองค์การ เกื้อหนุนให้ระเบียบข้อบังคับเกิดผลในด้านการควบคุมความประพฤติของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานอยู่ในกรอบแห่งระเบียบวินัยและมีศีลธรรมอันดีงาม
(3)  สร้างสามัคคีธรรมในหมู่คณะ  และก่อให้เกิดพลังร่วมในกลุ่ม 
(4) ทำให้เกิดพลังสามัคคี  เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายขององค์การได้
(5)  เสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างบุคคลในองค์การกับนโยบายและวัตถุประสงค์ขององค์การ
(6)  เกื้อหนุนและจูงใจให้สมาชิกและหมู่คณะหรือองค์การเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในกิจการต่าง ๆ ขององค์การ และ
(7)  ทำให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์การที่ตนปฏิบัติงานอยู่

นอกจากนี้ ขวัญกำลังใจยังเป็นการสนับสนุนและจูงใจให้สมาชิกมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรและยังเสนอ ความคิดเห็นต่าง ๆ ในการปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าในองค์กรที่สมาชิกที่มีขวัญกำลังใจดีจะมีบรรยากาศในหน่วยงานแจ่มใส ร่าเริง การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง น่าเชื่อถือ สมาชิกมีความสนใจในงานที่ตนเองรับผิดชอบ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะต่าง ๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทุกคนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืองานพิเศษด้วยความเต็มใจส่วนลักษณ์ของสมาชิกในองค์กรที่มีขวัญเสีย จะมีบรรยากาศในหน่วยงานไม่แจ่มใสมีการทะเลาะกันในหมู่เพื่อนร่วมงาน มีความเฉื่อยชา ความล่าช้าของการปฏิบัติงานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ งานมีความผิดพลาด เชื่อถือไม่ได้มากขึ้นผิดปกติ ขาดงาน ลางานมากกว่าปกติ มีการลาออกหรือย้ายไปอยู่ที่อื่นด้วยความสมัครใจในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ ผู้ใต้บังคับบัญชามีความเย็นชาต่อผู้บังคับบัญชา ไม่มีการเชื่อฟัง ไม่สุภาพและมักแข็งข้อหรือขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเสมอ มีคำร้องทุกข์หรือคำร้องเรียนมากผิดปกติ จึงสรุปได้ว่า ขวัญกำลังใจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ถ้าขวัญของบุคลากรดีทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวมย่อมส่งผลให้งานของหน่วยงานดีตามไปด้วย และการที่ขวัญของกลุ่มอยู่ในระดับสูงก็จะช่วยสร้างพื้นฐาน สำหรับการปฏิบัติงานที่ดีด้วย (Lewis, 1979: 32)

อะไรที่มีอิทธิพลต่อการมีขวัญกำลังใจในการทำงาน 

จากทัศนะของHerzberg,  Synderman and Mausner (1959: 240)  ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดขวัญกำลังใจในการทำงานได้แก่
(1) ลักษณะท่าทางและบทบาทของหัวหน้าที่มีต่อผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างานมีความสำคัญเพราะเปรียบเหมือนผู้ประสานงานระหว่างองค์กรกับผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างานมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการปฏิบัติงานแต่ละวัน 
(2) ความพึงพอใจในหน้าที่การงานที่ปฏิบัติอยู่ คนส่วนมากชอบที่จะทำงานที่ตนถูกใจและสามารถได้ดี เพราะทำให้มีโอกาสใช้ความสามารถทางสติปัญญาและพัฒนาบุคลิกภาพตนเอง
(3) การเข้ากันได้กับเพื่อนร่วมงานได้ทุกคนจะรู้สึกพอใจต่อการทำงาน ถ้ารู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนร่วมงาน 
(4) ความพึงพอใจต่อวัตถุประสงค์หลักและประสิทธิผลขององค์กร ถ้าทุกคนหรือส่วนใหญ่เข้าใจซาบซึ้งถึงระบบและวิธีดำเนินงานขององค์กรแล้ว ย่อมจะอุทิศเวลาให้แก่งาน มีกำลังใจและขวัญในการปฏิบัติงานได้ดีขึ้น 
(5) ความพึงพอใจต่อสภาพเศรษฐกิจและบำเหน็จรางวัล การให้รางวัลจะช่วยจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานมีความกระตือรือร้นต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง มั่นใจและมีกำลังขวัญดี 
(6) สุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจที่สัมพันธ์กัน เพราะจิตใจของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อันเป็นผลโดยตรงจากด้านร่างกาย จึงถือว่าปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพทางกายและจิตใจมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิบัติงาน เพราะถ้ามีปัญหาอาจทำงานไม่ได้ดี 

ส่วนในทัศนะของนักวิชาการไทย เช่น  อุทัย  หิรัญโต  (2531: 162) และปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์ (2541: 142)  ขวัญกำลังใจในการทำงาน เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบด้วย 
(1)  ลักษณะท่าทางและบทบาทของผู้นำหรือหัวหน้าที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา  และเพื่อนร่วมงาน 
(2) ความพอใจหน้าที่การงานที่ปฏิบัติอยู่ อันเกิดจากการมอบหมายงานให้บุคคลปฏิบัติหรือรับผิดชอบ
(3)  ความพอใจต่อวัตถุประสงค์หลักและนโยบายดำเนินงานขององค์การของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมงาน  ตลอดจนการจัดองค์การและระบบงาน
(4)  การให้บำเหน็จ  รางวัล  และการเลื่อนชั้น  เลื่อนตำแหน่งแก่ผู้ที่ปฏิบัติงานที่ดี 
(5)  สภาพของการปฏิบัติงาน (working condition) 
(6)  ระบบการวัดผลความสำเร็จในการทำงาน 
(7)  โอกาสในการแสดงความคิดเห็นและการยอมรับ  

ตามที่นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อขวัญในการปฏิบัติงานไว้นั้น  พอสรุปได้ว่า การที่จะทำให้องค์การประสบความสำเร็จได้หรือการทำงานร่วมกันของบุคคลหลายๆคนจะต้องมีขวัญในการทำงานที่ดี  มีความเต็มใจในการทำงานและมีความสุขกับการทำงาน  รวมถึงให้มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การและมีความรู้สึกอยากทำงาน  ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องรู้ให้แน่ชัดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่พอใจ   การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจในการปฏิบัติงานได้ต้องอาศัยสิ่งจูงใจ   และการที่องค์การใดมีสิ่งจูงใจมากผู้ปฏิบัติงานในองค์การนั้นย่อมจะมีขวัญและกำลังใจมากขึ้นด้วยเช่นกัน

มาว่ากันในตอนจบตอนหน้าครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที