ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 03 เม.ย. 2009 12.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3905 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เก็บความมาเล่า : กลยุทธ์มีดีไซน์ฝ่าวิกฤติ

ได้อ่านบทความเรื่อง “กลยุทธ์มีดีไซน์ฝ่าวิกฤติ” ของ ดร.พีรเศรษฐ์ ชมภูมิ่ง  ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2552 ที่ผ่านมาน่าสนใจครับ ก็เลยขอเก็บความมาเล่าต่อ


ในช่วงที่องค์การอยู่ในวังวนขาลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะซึมลึกไปอีก 1-2 ปีนั้น  ดร.พีรเศรษฐ์ บอกไว้ว่า องค์การส่วนใหญ่มักเลือกที่จะใช้กลยุทธ์การลดต้นทุน  เพื่อความอยู่รอด ส่วนใหญ่จึงลงเอยด้วยการตัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก  ซึ่งก็คือหลักการลดต้นทุนเพื่อให้อยู่รอดได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ผิดหรอกครับ  เพียงแต่จะเลือกใช้กลยุทธ์ของการลดต้นทุนก็ให้คำนึงถึง 12 เรื่องที่สำคัญคือคือ โอกาสสร้างผลประกอบการในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจสวิงกลับมาเร็วกว่าที่คาดหมาย และผลกระทบที่มีต่อบุคคล
3 กลุ่ม คือ พนักงาน ลูกค้า และผู้ถือหุ้น  


การกำหนดกลยุทธ์ในภาวะวิกฤติจึงต้องคำนึงถึงทั้งความอยู่รอดในปัจจุบันและความก้าวหน้าในอนาคต


โดยทั่วไปนั้น  กลยุทธ์ลดค่าใช้จ่าย เป็นกลยุทธ์ที่เรานำมาใช้โดยคำนึงถึงความอยู่รอดในระยะสั้น ซึ่งก็มักจะมองข้ามผลกระทบที่มีต่อบุคคล
3 กลุ่มคือ พนักงาน ลูกค้า และผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว กลยุทธ์การลดค่าใช้จ่ายต้องไม่ทำให้ทั้ง 3 กลุ่มมองว่าธุรกิจคำนึงถึงแต่ความอยู่รอดทางการเงินถ่ายเดียว ไม่คิดถึงปัจจัยหลักอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำเนินงาน ดังนั้นธุรกิจจึงต้องรอบคอบในการกำหนดกลยุทธ์ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อคนทั้ง 3 กลุ่มน้อยที่สุด


การลดค่าใช้จ่ายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานที่พบเห็นเสมอคือ
“การปลดพนักงาน” หรือที่ลดระดับลงมาหน่อยก็คือ “การลดเงินเดือนพนักงาน”  และ “การลดหรือตัดสวัสดิการพนักงาน”  ซึ่งเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดการต่อต้านและความไม่พอใจกับพนักงานเป็นอย่างมาก ธุรกิจจึงพยายามเลี่ยงโดยแทนที่จะใช้การปลดพนักงาน ธุรกิจมักหันมาใช้กลยุทธ์พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อให้ได้ใจพนักงานโดยเน้นความร่วมมือฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่อสู้ร่วมกับพนักงาน ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง กลยุทธ์นี้สร้างให้เกิดความผูกพัน รู้สึกซาบซึ้งและประทับใจในองค์กร


ข้อคิดจากที่ว่าไปนี้ก็คือ จะดีกว่าหรือไม่ หากองค์การจะต้องใช้กลยุทธ์การลดค่าใช้จ่าย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์การ


นอกจากนี้ การลดค่าใช้จ่ายยังปฏิบัติผ่านวิธีการอื่นๆ เช่น กระตุ้นให้พนักงานตระหนักว่าในภาวะเช่นนี้ทุกคนจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้น โดยผลตอบแทนอาจลดลง งานที่เคยจ้างผู้อื่นทำ (
Outsource) ต้องนำกลับมาทำเอง ต้องทุ่มเททำงานโดยไม่ได้ค่าล่วงเวลา ตระหนักให้ช่วยกันลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์สำนักงาน และเมื่อคนล้นงานก็อาศัยช่วงเวลานี้เพิ่มพูนความรู้โดยจัดให้มีการฝึกอบรมกันเอง มีการหมุนเวียนทำงานในตำแหน่งต่างๆ เพื่อเรียนรู้งานให้กว้างยิ่งขึ้น


การหมุนเวียนคนทำงานที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น  เป็นตัวอย่างด้านบวกที่องค์การสามารถบอกกับพนักงานว่า เป็นการขยายและเพิ่มพูนขีดความสามารถของตัวเขาที่นอกจากองค์การจะได้ประโยชน์แล้ว ตัวเขาเองก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน  เราพบเห็นได้เสมอว่า องค์การสมัยใหม่ปัจจุบัน แม้แต่ทางราชการเอง ก็ต้องการพนักงานที่มีทักษะการทำงานได้หลากหลาย เช่น ทำงาน
HR ในด้าน Recruit ได้  ฝึกอบรมพนักงานก็ได้  ไม่ใช่เป็นเพียงแค่งานใดงานหนึ่ง เพราะตั้งแต่ทำงานมาก็จับงานนี้ด้านเดียว  อันนี้ก็ลดทอนศักยภาพของตัวเขาเอง  และความหลากหลายของทักษะนี่เองครับ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของเขาในตลาดการจ้างงานได้โดยตรงทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นการหมุนเวียนคนทำงานที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น


การหมุนเวียนงานนี้  ทำให้เห็นว่าแม้เศรษฐกิจตกต่ำ องค์การก็ไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาคนโดยเลือกที่จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยสุด ส่งผลให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีกับองค์กรไม่เห็นว่าถูกเอาเปรียบ ในทางตรงกันข้ามกลับเห็นว่าองค์กรมีความจริงใจ ช่วยพวกเขาพัฒนาความรู้ความสามารถ เห็นความสำคัญของทุนมนุษย์ แม้ในยามคับขันก็ไม่หยุดที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดกับพนักงาน


การลดต้นทุนที่มักใช้อยู่เป็นประจำและมีผลกระทบต่อลูกค้า คือการตัดค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือปรับปรุงการบริการ การลดต้นทุนประเภทนี้ย่อมมีผลกระทบต่อมุมมองและความรู้สึกของลูกค้า ลูกค้าอาจมองว่าธุรกิจหยุดพัฒนาหรือบริหารเพียงเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด แต่ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อก้าวต่อไปในวันข้างหน้า ธุรกิจต้องทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นว่า การพัฒนาและปรับปรุงสินค้ายังคงทำอยู่แม้ในภาวะวิกฤติ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อลูกค้า โดยทำให้เห็นได้ชัดว่าแม้เศรษฐกิจไม่ดีบริษัทก็ยังมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ธุรกิจต้องพิจารณาให้ดี โดยหลีกเลี่ยงการตัดเงินลงทุนที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้า หรือลดค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ลูกค้าหงุดหงิดและมองว่าธุรกิจมุ่งเน้นแต่จะลดต้นทุนโดยละเลยความต้องของลูกค้า


กลยุทธ์การลดต้นทุนประเภทสุดท้ายมีผลต่อผู้ถือหุ้น มักเห็นโดยทั่วไปในรูปการชะลอการลงทุนในเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ กลยุทธ์นี้ถูกนำมาใช้มากในสถานการณ์วิกฤติ อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นโดยมากมักหวั่นเกรงว่าธุรกิจอาจเลยเถิดไปตัดการลงทุน ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของธุรกิจในอนาคต เพื่อเลี่ยงความกังวลใจนี้ ธุรกิจจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น โดยเลือกลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่า การตัดสินใจซื้อเครื่องจักรในขณะนี้อาจได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงที่กว่าปรกติ เนื่องจากเครื่องจักรราคาถูกลงเพราะอุปทานส่วนเกิน การตัดสินใจลักษณะนี้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ว่าธุรกิจมีการวิเคราะห์อย่างรอบคอบในการลงทุน ไม่ได้มุ่งแต่ตัดค่าใช้จ่ายจนส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ในเศรษฐกิจเช่นนี้ผู้ถือหุ้นมักหันมาดูผลประกอบการของธุรกิจเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด แม้ยอดขายจะตก แต่ถ้าส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นก็สามารถเรียกความมั่นใจกลับคืนมาสู่นักลงทุนได้


สรุปแล้ว  ข้อคิดที่เสนอในครั้งนี้จากทัศนะของดร.พีรเศรษฐ์ นั้น  น่าสนใจว่าในกรณีที่องค์การกำหนดและใช้กลยุทธ์ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเน้นการตัดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ  แต่ก็ต้องคาดหมายไว้ด้วยว่า การตัดค่าใช้จ่ายนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งส่งผลในทางลบต่อบุคคล
3 ฝ่ายคือ พนักงาน ลูกค้า และผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนสำคัญในความอยู่รอดของธุรกิจในอนาคตเช่นกัน  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสที่เราจะพร้อมออกตัวอีกครั้งเมื่อเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยในภายภาคหน้า  ซึ่งเป็นข้อคิดที่ฝากไว้กับผู้บริหารโดยเฉพาะ HR ครับ    


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที