มานพ

ผู้เขียน : มานพ

อัพเดท: 10 พ.ค. 2014 20.17 น. บทความนี้มีผู้ชม: 451272 ครั้ง

เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเองเป็นสิ่งที่คนทุกคนภาคภูมิใจ แต่รู้ไว้ว่า มันยาก ถ้าเข้ามาทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะธุรกิจแต่ละประเภทแต่ละธุรกิจ มีวิธีทางสู่ความสำเร็จแตกต่างกันแต่มนง่ายถ้าอ่านเรื่องนี้ มีหลายตอนติดตามอ่านตลอด แล้วท่านจะรู้ว่าเถ้าแก่มืออาชีพเป็นง่ายนิดเดียว


ขอเป็นนักวิจัยแบบเถ้าแก่ ตอนที่2

ผู้ใดที่มีพ่อแม่หรือบรรพชนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าการขายมา  ตั้งแต่กาลนานมา  ส่วนใหญ่จะนำมันมาถ่ายทอดสู่ลูกหลานที่รักในการสืบทอดกิจการค้าของตนเอง เช่น  ตั้งข้อสังเกตจากคำถามของลูกค้าที่เข้ามาถามหาเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแต่ว่าตนเองไม่มีขาย  เมื่อถามบ่อยครั้ง  เถ้าแก่จะเริ่มใช้วิจารณญาณว่าสินค้าและบริการดังกล่าวร้านค้าของตนเองจะมีศักยภาพพอที่ขายสินค้าหรือบริการนั้นได้หรือไม่  โดยพิจารณาจากต้นทุนของสินค้า  ทุนในการดำเนินกิจการรวมทั้งทำกำไรได้คุ้มค่าหรือเปล่าและสามารถนำมาขายได้จริงหรือไม่  นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่พบมากที่สุดในร้านขายของชำหรือร้านโชว์ฮ่วย              

             สำหรับบัณฑิตรุ่นใหม่ที่อยากมาช่วยป่าป๊า หม่าม๊าขายของ  ถ้าได้ดำเนินกิจการไปแล้วพบสภาวการณ์บางอย่างที่จะต้องทำวิจัยตามที่เรียนมาไม่ว่าจะเป็นยอดขายตกต่ำ หรือลูกค้าเสื่อมความนิยมในตัวสินค้าและบริการ  เราจะดำเนินการวิจัยได้อย่างไร  มันไม่เหมือนกันกับที่เรียนมา  เช่นลูกค้าบางรายอ่านหนังสือไม่ออกอ่านแบบสอบถามไม่ได้  ส่งแบบสอบถามไปบ้านไม่ยอมส่งกลับมา  ลูกค้าบางรายเป็นลูกค้าขาจร  ไม่ได้มาซื้อประจำ  ร้านค้ามีกำไรน้อยไม่คุ้มค่ากับการลงทุนทำวิจัย  หรือจะใช้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว  เราเองไม่มีเวลาเพียงพอ  และลูกค้าเองเช่นกัน มีบางรายไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวที่แท้จริงในการสัมภาษณ์  เช่น รายได้  อายุ  สถานภาพ  อาจเป็นเพราะขวยเขิน  หรือต้องการปกปิดด้วยเหตุผลบางประการ  ตลอดจนอาจเกิดความคาดเคลื่อนของสารสนเทศที่ได้เพราะไม่ทราบขนาดประชากรสำหรับการสุ่มกลุ่มตัวอย่างที่แน่นอนเพื่อกำหนดระดับความเชื่อมั่นในการทำวิจัย 

           ดังนั้นการตัดสินใจแต่ละครั้งในเรื่องต่าง ๆ  ที่ผู้ประกอบการแทบทุกรุ่นทุกวัยในฐานะเถ้าแก่ร้านหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสี่ยงกับการตัดสินใจ  หากผิดพลาดอันจะมีผลเสียคือปัญหาการขาดทุนตามมา  เรียกกันว่าจะต้องใช้ “ความเก๋าเดาสุ่ม”  เพราะขาดข้อมูลหรือสารสนเทศเพื่อประกอบการตัดสินใจ  เช่น  ในฤดูทำนาของทุกปีชาวบ้านที่เป็นชาวนาจะซื้อรถไถนาและอุปกรณ์ประกอบที่ใช้ในการทำนา  เห็นคู่แข่งหรือร้านค้าที่ขายสินค้าเหล่านี้ประจำเอาสินค้าเหล่านี้มาขายแล้วขายดี  จะเกิดคำถามว่า “เราจะซื้อมาขายเหมือนเขาได้ไหม”  ถ้าเถ้าแก่รายใดใจกล้า  จะทำการตัดสินใจเอาสินค้าเหล่านั้นมาขายทันที  โดยไม่มีการสำรวจก่อนว่าชาวบ้านที่เป็นชาวนาที่ว่านี้ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อ  ถ้าโชคดีเกณฑ์ที่ว่านี้ไม่มีอะไรมากเกินกว่าเถ้าแก่รถไถนารายใหม่จะสร้างเกณฑ์มาตรฐานได้ตามคู่แข่ง  ถือว่าโชคดีการตัดสินใจเอารถไถนามาขายครั้งนี้ไม่เสียหายจนต้องขาดทุน  แต่ในทางตรงกันข้ามลูกค้าตัดสินใจซื้อโดยดูจากชื่อเสียงของร้านค้า  ความน่าเชื่อถือและการบริการหลังการขายที่น่าประทับใจแบบไม่รู้ลืมของเถ้าแก่ร้านเดิมเจ้าประจำ  ล่ะ  ?     เถ้าแก่รถไถรายใหม่  จะทำอย่างไร  ในทางวิชาการเรียกปัจจัยที่เถ้าแก่รถไถรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันกับคู่แข่งเดิมได้  ว่า  High  Barrier  Entries   หรือกำแพงในการขวางกั้นมิให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันได้ง่าย ๆ  ถ้าเป็นเช่นนี้  ถือว่าการตัดสินใจในการทำธุรกิจผิดพลาดเพราะขาดข้อมูลหรือสารสนเทศ  แล้วเราจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือสารสนเทศเหล่านี้มา  นอกจากวิธีระเบียบวิจัยทางธุรกิจ  แบบที่สอนในสถาบันการศึกษาที่มุ่งใช้กับองค์การธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที