ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 07 พ.ค. 2009 15.26 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6596 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


หล่อหลอมความคิดเพื่อเตรียมเป็นผู้นำ...

หลายองค์การ  มุ่งที่จะพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของหัวหน้างานในหน่วยงานของตนเอง เพื่อให้เป็น “คนดี และคนเก่ง” ขององค์การ เพียงพอที่จะมีศักยภาพ ผลักดันให้หน่วยงานดำเนินงานไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนด  การให้ความสำคัญดูได้จากหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะหัวหน้างานที่เปิดโดยสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด  ข้อมูลต่อไปนี้  หัวหน้างานทุกท่านลองดูศึกษาดู  แล้วย้อนกลับมาทบทวนดูว่า ตนเองยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นหัวหน้างานที่ดี โดยในบทความนี้  ผมขออนุญาตเก็บความมาจากผู้เขียนบางท่านที่ได้เสนอไว้ใน bloggang.com ซึ่งได้เสนอแนวความคิดวิธีการหล่อหลอมความเป็นผู้นำสำหรับหัวหน้างานให้เกิดขึ้น ซึ่งน่าสนใจมากครับ .

1. เรียนรู้ตนเอง
ต้องฝีกฝนความอดทน  อดกลั้น  สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน  พัฒนามนุษยสัมพันธ์ของตนเองให้ดีสามารถเข้าได้กับคนทุกระดับชั้น  ปรับปรุงลักษณะนิสัยของตนเองอยู่เสมอให้เข้ากับคนอื่นๆ ให้ได้  สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความสังเกตุในพฤติกรรมของตนเอง  และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น  ถ้าตัวเองยังไม่ศึกษาตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร  ก็เป็นอันว่าจบ  ไม่ต้องไปทำเรื่องอื่นเลยครับ

2. เรียนรู้คนรอบข้างทุกๆ คน  เข้าใจธรรมชาติของคน
คนรอบข้างของเรา เป็นฐานความรู้เพื่อทำให้เราเข้าใจคนอื่นๆได้มากขึ้น  คนส่วนใหญ่มุ่งมองผลประโยชน์เพื่อตนเอง  จนลืมไปว่าจริงๆ แล้วการใช้ชีวิตในโลกนี้  เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่น  ต้องมีการติดต่อสื่อสาร  คนที่เข้าใจธรรมชาติของคนอื่นๆ ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว  หรือคนรวย คนจน ขอทานก็ตาม  การที่เข้าใจความคิดของคนอื่น  เข้าใจพฤติกรรมของคนอื่นจะเป็นคนที่สามารถมองเห็นความเป็นจริงของคนอื่นว่า เขาเป็นเช่นใด  เมื่อฝึกทักษะการมองนิสัยของคนรอบข้างจนสามารถคุย 2-3 คำถาม   หรือใช้เวลาอยู่กับเขาสัก 10-20 นาที  แล้วสามารถบอกได้ว่า คนๆ นั้นมีลักษณะนิสัยคร่าวๆ เป็นอย่างไรได้  นั่นแหละคุณจะเข้าใจธรรมชาติของคนอื่นๆ ได้ดี  เมื่อเข้าใจคนอื่นๆ ได้ดี  เราจะเอาความสามารถเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับการเข้ากับเพื่อนร่วมงาน  เข้ากับเจ้านาย  หรือแม้แต่เข้ากับศัตรูได้ดีเช่นกัน  การที่เรารู้จักเขาได้เร็วทำให้เราได้เปรียบ และสามารถนำคนอื่นๆ ได้ง่าย

3. จริงใจและหวังดีกับทุกคน
ความจริงใจเป็นสิ่งที่สื่อสารทางจิตใจ  จากความรู้สึกที่ผ่านจากการแสดงออก น้อยคนนักที่อยากจะให้คนอื่นได้ดี  และยิ่งมีน้อยคนที่มีความจริงใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะให้คนอื่นประสบความสำเร็จ  การสร้างให้ตนเองมีความจริงใจ  แสดงความจริงใจ  ไม่เสแสร้งแกล้งทำว่า  นี่เป็นคำแนะนำจากใจจริงแต่แฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์  คนกลุ่มนี้สามารถสัมผัสได้จากความรู้สึกถึงการให้ว่า  เขาให้จากใจจริงหรือไม่  ส่วนคนจริงใจก็จะสามารถรับรู้ได้ว่า  เขาหวังดีกับเราได้มากแค่ไหน  คนทุกคนต้องการความจริงใจจากคนอื่น  ดังนั้นผู้นำหากมีความจริงใจเป็นที่ตั้ง  คนอื่นๆ ก็จะมองเห็นและจะเชื่อใจในการตัดสินใจของผู้นำ

4. สื่อสารได้อย่างดี
 ไม่ว่าเรื่องยากแค่ไหน  ก็ต้องสามารถสื่อสารให้ทั้งคนฉลาดและไม่ฉลาดเข้าใจได้ครบถ้วน  ต้องฝึกทักษะทั้งการพูด เขียน  รวมถึงการตีความหมายของคำที่ผู้อื่นสื่อสารมาให้ได้ตรงประเด็น  คนโง่ฟังคำอธิบายแล้วเข้าใจ  คนฉลาดพูดนิดหน่อยถึงเข้าใจ  ต้องรู้จักว่าคนที่เราสื่อสารด้วยนั้น  มีความสามารถเช่นใด  จะสื่อสารอย่างไรเพื่อให้คนหมู่มากเข้าใจได้อย่างพร้อมกัน  และตรงกับสิ่งที่เราต้องการ  ทักษะการสื่อสารเป็นหัวใจของผู้นำ  เพราะผู้ตามจะทำตามได้อย่างถูกต้องตามความต้องการหรือไม่นั้น ขึ้นกับการสื่อสารของผู้นำเป็นสำคัญ

5. สร้างจุดยืนของตนเอง
โดยปกติผู้นำจะมีจุดยืนของตนเอง  แต่ไม่ใช่หัวแข็งจนไม่รับฟัง  จุดยืนเปลี่ยนแปลงได้ถ้าหากจุดที่กำลังยืนอยู่นั้นมันจะทำให้เกิดอันตราย   ผู้นำต้องเก่งในเรื่องความคิดและความมุ่งมั่นในตนเอง  และเก่งในการรวบรวมความคิดที่เป็นประโยชน์ แล้วกลั่นกรองความคิดต่างๆ ของคนอื่น  รวบรวมความคิดเหล่านั้นที่เป็นข้อดี จุดดี มารวมไว้ที่ตัวตนของตนเอง  เป็นการพัฒนาจากความคิดของคนอื่น  เลี่ยงจุดตาย  สร้างจุดเป็นอยู่เสมอ  ไม่ใช่แข็งทื่อไม่เปลี่ยนแปลง

6. พัฒนาความคิดให้เป็นระบบ ระเบียบ จนสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ในทันที
ความคิดของคนเราโดยปกติ  จะคิดโน่นคิดนี่  คิดไปทั่วไม่เป็นระเบียบ  การฝึกให้คิดให้เป็นระบบ ระเบียบนั้น จะทำให้เรามองเห็นความเป็นจริงได้เร็วขึ้น  เข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น  เมื่อเข้าใจและ รู้ว่าสิ่งต่างๆ เป็นไปเช่นใด  จะทำให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้นเป็นลำดับ  การฝึกคิด ฝึกเรียบเรียงความคิด  จึงเป็นสิ่งที่จะสนับสนุนให้ผู้นำได้เห็นมุมมองต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว  และถูกต้องแม่นยำ

7. เสนอความคิดเห็นที่คิดว่าดี บ่อยๆ กับกลุ่ม หรือ ที่ประชุม
ผู้นำมักเริ่มจากการเสนอความคิดเห็น  ที่ถูกวิเคราะห์ในสมองแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี ถึงออกความคิดเห็น  การฝึกออกความคิดเห็นจะเป็นตัวกระตุ้นให้สมองเกิดการวิเคราะห์และแจกแจงสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น  ผู้นำส่วนใหญ่จึงชอบสอน  ชอบแนะ  ชอบให้ความคิดเห็นของตนกับคนอื่นๆ เสมอๆ  ทั้งในที่ประชุม การคุยกัน หรือแม้แต่การพักผ่อน  พวกเขาจะอยู่สนุกอยู่กับการคิด  และประยุกต์สิ่งต่างๆ ให้สามารถเป็นจริงขึ้นมา

8. สร้างแนวความคิดที่แตกต่าง แต่เป็นความจริง และสามารถใช้ได้จริง และ สื่อสารให้คนอื่นได้รับรู้
ผู้นำมักมีแนวความคิดที่แตกต่างจากความคิดของคนสามัญ  แต่สามารถทำให้ได้ผลจริงขึ้น  แนวความคิดเหล่านี้มักเกิดจากประสบการณ์  และความเก่งกาจในการแยกแยะ วิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อยู่เป็นประจำ  เมื่อแยกแยะได้ก็จะต้องสามารถกระจายความคิดที่รวบยอดออกมาเป็นความคิดโดยละเอียดได้  และความคิดจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็ต่อเมื่อ  ต้องสื่อสารความคิดเหล่านั้นให้กับคนรอบข้างได้รับรู้อย่างดี  ซึ่งต้องพี่งการสื่อสารนั่นเอง

9. ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ และ ความรู้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานให้มากที่สุด
ผู้นำมักมีวิสัยทัศน์และมุมมองใหม่ๆ มาประยุกต์ให้เข้ากับการทำงานอยู่เสมอ นิสัยหนึ่งที่ทำให้เกิดลักษณะนี้ได้  คือนิสัยที่ชอบเรียนรู้และทดลอง  สามารถเอาสิ่งที่รู้ที่เห็นมาประยุกต์ใช้กับงาน  การเข้าใจและจดจำสิ่งต่างๆ จึงมีผลกับความคิด  โดยเฉพาะ ความรู้ใหม่ๆ สิ่งของใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ จะเป็นอาหารสมองอันโอชะของผู้นำเกือบทุกคน

10. หัดนำทีมงาน ตั้งแต่เล็กๆ ไปจนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
การเริ่มเป็นผู้นำมันเริ่มจากความมั่นใจเล็กๆ ที่สามารถนำเพื่อนให้พ้นภัย   แก้ปัญหาให้กับเพื่อนๆ เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความบาดหมางของเพื่อนๆ  เป็นหัวหน้าทีมเล็กๆ ไปจนถึงหัวหน้าชั้น  หัวหน้าชั้นปี  เจ้าของกิจการ  ผู้นำประเทศ  ผู้นำจะไต่เต้าหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า  เพื่อจะลองใช้ความสามารถนำพาให้ไปถึงจุดมุ่งหมาย  และจะโหยหาการนำที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นธรรมชาติของผู้พิชิต  ดังนั้นการจะเริ่มเป็นผู้นำ  ก็ต้องหัดนำพาคนตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ให้ประสบความสำเร็จ  เพื่อสร้างความมั่นใจขั้นพื้นฐาน ก่อนจะไปนำกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยๆ

11. สะสมประสบการณ์ และ หาข้อดีและข้อเสียของการนำทีม แล้วเอามาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
คนที่ทำงานย่อมมีผิดพลาด  การเป็นผู้นำก็เช่นกัน  บางครั้งก็ต้องผิดพลาด หากมัวแต่กังวลกับข้อผิดพลาดเก่าๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว  ก็จะเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจตนเอง  แต่หากมองในมุมว่าหากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก  เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ดีขึ้น  ต้องสรุปและหาข้อดีข้อเสียของการทำงานในแต่ละขั้นอย่างเป็นกลางมากที่สุดแล้วปรับปรุงตนเองให้มีนิสัยเหล่านี้  ก็จะทำให้ภาวะผู้นำในตนเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น...

ผมคิดว่าถ้าฝึกหัดให้เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ให้เกิดความชำนาญ  จะสามารถทำให้ภาวะผู้นำในตัวได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ  มันอาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะปรับนิสัยทางด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับการเป็นผู้นำอย่างถาวร  คนที่มีประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีภาวะผู้นำได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่คนที่ไม่มีประสบการณ์  หรือยังไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลกับเรื่องเหล่านี้  อาจจะต้องใช้เวลาอย่างมาก ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมาก  ซึ่งน้อยคนนักที่เป็นคนไม่ชอบเปลี่ยนแปลงตนเอง จะสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้นำได้  แต่ถ้าเริ่มและมุ่งมั่น  ไม่ว่าจะเป็นคนลักษณะใด  ก็สามารถทำให้มีศักยภาพการเป็นผู้นำได้ครับ...


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที