วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 28 พ.ค. 2009 16.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4431 ครั้ง

หยุดเรียนรู้ ก็หยุดเป็นหัวหน้า


-


18845_untitled01.jpg


วิกูล โพธิ์นาง

ทฤษฏีและเทคนิคทางรัฐศาสตร์ รัฐศาสตรบัณฑิต มสธ.

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 

 

หัวหน้า  พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของหัวหน้าว่า  “ผู้เป็นใหญ่ในหมู่หนึ่ง ๆ”

 

ถ้าจะพูดให้ง่าย หัวหน้า ก็เป็นทั้ง “หัว” เป็นทั้ง “หน้า” ของลูกน้องของงาน เป็นทั้งแรงดึงและแรงดัน อุปมาคล้ายหัวรถจักรที่รากขบวนรถไฟ

 

เป็นหัวหน้างาน ก็เป็นใหญ่ในหมู่หนึ่งๆของงาน ของลูกน้องกลุ่มหนึ่งๆ จงภูมิใจเถิดที่ได้เป็นหัวหน้า เพราะจะได้ใช้ตำแหน่งนั้นสร้างสรรค์ความดี ความถูกต้องให้เกิดกับสังคม  ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงให้สาธารณะชนได้ทราบถึงผลงานในอดีต ที่ได้ส่งผลมาจนได้เป็นหัวหน้า

 

แต่บ่อยครั้งมักได้ยินคำพูดเชิงลบต่อหัวหน้าว่า “เสียพนักงานดีๆไปหนึ่งคน ได้หัวหน้างานแย่ๆมาหนึ่งคน” คำพูดแบบนี้แสดงว่าหัวหน้าผู้นั้น มิได้ปฏิบัติงานภายใต้บทบาทของตนเองอย่างถูกต้องเต็มที่ หรือเป็นหัวหน้างานที่ไม่ดีนั้นเอง

 

แล้วหัวหน้างานที่ดีเป็นอย่างไร?

 

การเป็นใหญ่ในหมู่หนึ่งๆ ต้องไม่ใหญ่เฉพาะตำแหน่ง แต่ต้องรวมถึงความเป็นใหญ่ทางวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ที่จะสามรถนำพากลุ่มงานให้มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ทั้งยังมีเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่ ในอันที่จะสนับสนุนให้ลูกน้องก้าวหน้าต่อไปแทนตน

 

ดังนั้น

 

หัวหน้างานที่ดี  ต้องไม่หยุดเรียนรู้  ๑. เรียนรู้ที่จะเพิ่มทักษะในการทำงาน  (Technical) ๒. เรียนรู้ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Job Enhancement) และ ๓.เรียนรู้เพื่อรองรับความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Development)

 

เพราะทั้งสามประการนั้น เป็นหลักสำคัญที่จะทำให้ตนเกิดการพัฒนา จนสามารถนำศักยภาพทั้งมวลในตนเอง ในกลุ่ม และในองค์กรออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานด้วยต้นทุนที่ต่ำแต่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงกว่า

 

และการเรียนรู้นั้น ก็ต้องครอบคลุมไปถึงลูกน้องทุกคนเช่นเดียวกัน จึงจะทำให้กลุ่มงานที่รับผิดชอบของตนได้เกิดการพัฒนาทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่รุดหน้าไปอย่างรวด  โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละวันล้วนมีพัฒนาการ มีความสัมพันธ์สลับซับซ้อนที่ต้องอาศัย เทคนิควิธีการที่รู้เท่าทัน ตามหลักวิชาการประสบการณ์ มิได้เกิดจากการเดาสุ่ม หรือคิดเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด

 

เมื่อตัวหัวหน้าเกิดการเรียนรู้ ลูกน้องเกิดการเรียนรู้ จะทำให้ทั้งกลุ่มเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จนสามารถพัฒนาไปสู่กลุ่มงานแห่งการเรียนรู้ โดยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสานเสวนาจนเป็นความรู้ใหม่ ความรู้เฉพาะเหมาะสมกับการแก้ปัญหา และพัฒนางานนั้นๆ เมื่อเป็นได้ดังนี้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้เหมือนกัน ทำงานสอดคล้องกัน และพัฒนาไปสู่อนาคตที่มีเป้าหมายเดียวกัน

 

สภาพการดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหัวหน้า เปิดใจยอมรับตัวเอง ว่าตัวตนของเราอยู่ ณ จุดใดของกระแสการเปลียนแปลงในปัจจุบัน โดยการติดตามข่าวสาร อ่านหนังสือ เข้ารับการฝึกอบรมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือถ้าเป็นไปได้ก็เข้าสู่สถาบันการศึกษาเพื่อเพิ่มวิทยฐานะของตนเองให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

ถ้าไม่เรียนรู้ หยุดนิ่งกับปัจจุบัน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลาที่ตายแล้ว เพราะปลาที่ตายแล้วจะไม่ว่ายทวนกระแสน้ำ ปลาเป็นเท่านั้นที่ว่ายทวนกระแสน้ำ ไม่เรียนรู้ ไม่ศึกษา ก็จะกลายเป็นหัวหน้าผู้ว่างเปล่า อย่าหลงและอย่ายึดติดกับอดีต ที่คิดว่าตนเองเก่งมากนักหนา เพราะอดีตได้ผ่านไปแล้วความเก่งเมื่อวันวาน จะนำมาใช้กับปัจจุบันไม่ได้ทั้งหมด คนละยุคกัน

 

การเรียนรู้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาตนเองแล้ว ยังถือได้ว่าทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานที่ดีอีกด้วย เพราะ หัวหน้าก็ไม่ต่างอะไรกับครูอาจารย์ที่จะต้องรับทำหน้าที่คอยสอนลูกศิษย์ ดังที่ทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงหน้าที่ครูอาจารย์ไว้ดังนี้

๑.            ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
๒.           สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๓.            สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
๔.            ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน
๕.            สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศคือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงาน

 

หากไม่เรียนรู้ ท่านจะทำหน้าที่ ทั้ง ๕ ข้อ ข้างตนอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไรเล่า?

 

ครับ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หัวหน้างานที่ได้อ่านบทความนี้ จะได้ตระหนักรู้ว่าภาระหน้าที่ของตนนั้นยิ่งใหญ่นัก จะมานั่งกินบุญเก่าที่เป็นประสบการณ์ในอดีตมาเป็นเครื่องมือการทำงานไม่ได้แล้ว

 

ต้องเริ่มจากการ ติดตามข่าวสาร อ่านหนังสือ และเข้ารับการฝึกอบรมให้มากขึ้น พร้อมทั้งพยายามเข้ารับการศึกษาในสถาบันการศึกษาในเวลาที่เหมาะสมให้ได้ หรืออย่างง่ายที่สุด ท่านก็จงเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่พูดมากๆ มาเป็ผู้ฟังให้มากๆ ไม่ต้องฟังใครหรอก ก็ลูกน้องของท่านนั่นเอง แล้วจะทำให้ได้เห็นโลกทัศน์จากแง่คิดดีๆมากมาย

 

อย่าให้ตำแหน่งมาหลอกตัวเอง ว่ายิ่งใหญ่ รู้รอบ ไม่จำเป็ต้องศึกษา...!!!

 

และ

 

อย่าให้ลูกน้องได้สบประมาทว่า “เป็นหัวหน้า เหมือนเป็นหัวหน้ากบในกะลา” ผมมั่นใจครับว่า ท่านจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่สร้างสรรค์ในงานของท่าน ในเร็ววันนี้...!!!

 

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

บทความโดย : วิกูล โพธิ์นาง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที