ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 09 มิ.ย. 2009 13.36 น. บทความนี้มีผู้ชม: 9214 ครั้ง

HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....

ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จากข้อเขียนนี้ และหากจะอ่านต้นฉบับได้ก็จะเป็นการดีที่จะได้รายละเอียดมากขึ้น เพราะตัวผมเองแม้จะเขียนเรื่องพวกนี้มามากพอสมควร แต่ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถสร้างสูตรสำเร็จเพื่อสอนใครเช่นเดียวกับผู้รู้หลายท่าน ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ ความคิด ความรู้มาเนิ่นนานยาวนาน จนตกผลึกเป็นความคิดที่มีคุณค่า ผมเอง


จะเป็น “คนมีอาชีพวิทยากร” และ “วิทยากรมืออาชีพ” ต้องมีสรรถนะอย่างไร (ตอนที่ 1)

บุคลากรที่ทำงานในสายฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรจำนวนไม่น้อย  มีความหวังความฝันไว้อยากที่จะเป็นวิทยากรมืออาชีพ  ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีเกียรติในสังคมไทย และเป็นการประกอบอาชีพที่คุณสามารถเรียกตัวเองได้ว่า “อาจารย์” โดยที่ไม่ต้องไปทำงานในมหาวิทยาลัย และได้รับการรับรองจากสภามหาวิทยาลัย หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้เป็นอาจารย์ตามนัยตัวบทกฎหมาย 

 

บางทีคำเรียกแทนตัวนี้ ก็ชวนให้ระรื่นหู และจุดประกายความใฝ่ฝันสำหรับคนจำนวนไม่น้อย

 

แต่การจะก้าวไปเป็นวิทยากรมืออาชีพได้นั้น  ไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ ครับ   อาจารย์มหาวิทยาลัย  ที่ได้ชื่อว่าเก่งกล้าในการสอนนักศึกษามาเป็นเวลานมนาน  เมื่อก้าวมาเป็นวิทยากรอาชีพเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับบุคลากรของหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจเอกชน ถึงกับตกม้าตายเพราะความเชื่อมั่นในฝีมือของตนเองฝ่ายเดียวมาก็มีไม่น้อย 

 

ความที่วิทยากรมืออาชีพไม่ได้เป็นง่าย ๆ  ก็มีหลายท่านสอบถามอย่างไม่เป็นทางการกันมา  ผมก็เลยไปค้นคว้าหาข้อมูลมาตอบ  เอาเป็นว่าขออ้างอิงชาวต่างประเทศนิดหน่อยนะครับ  กล่าวคือ ผลงานของ Scott B. Parry. ในงานเขียนเป็นหนังสือชื่อ “Evaluating  the  Impact  of  Training”  ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1997 โดย American  Society  For  Training  and  Development  เดี๋ยวมาดูกันครับ

 

และก็เช่นกัน เนื่องจากการบ่งบอกว่าเป็นวิทยากรมืออาชีพมันบอกยาก  ผมเองจึงขอเรียกว่า “คนที่มีอาชีพเป็นวิทยากร”   ไปก่อนครับ  นอกจากนี้  จากที่ผมจั่วหัวว่า สมรรถนะ หรือที่บางท่านเรียกว่า ความสามารถนั้น  ในที่นี้ก็คือ Competency ครับ คำคำดังกล่าวนั้น  สรุปความอย่างย่อ ๆ ที่สุดได้ว่า ความรู้ ทักษะ เจตคติ คล้องรวมไปถึงค่านิยมในการนำไปปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ ซึ่งแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมของการทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้

 

30 สมรรถนะต่อไปนี้  ใช้กับคนที่มีอาชีพวิทยากร ซึ่งทำหน้าที่หลักในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่น่าสนใจ  ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางของการพัฒนาตนเองได้ครับ

 

1)  รู้จิตวิทยาการศึกษา  หรือจิตวิทยาการเรียนรู้ของมนุษย์เรานี่ล่ะ  โดยสามารถเข้าใจและประยุกต์ใช้กระบวนการเรียนรู้ รู้สาเหตุของพฤติกรรม รู้ว่ามนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร มนุษย์หาความรู้อย่างไร เจตคติ ทักษะต่าง ๆ ที่สามารถถ่ายทอดได้ โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรม

 

2)  สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมและงาน   แยกแยะแนวคิด และกระบวนการจัดการในการทำงานให้ง่ายขึ้น จัดลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ใหม่ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ทักษะต่าง ๆ ได้

 

3)  รู้จักการสอนแบบสอนผู้ใหญ่ และการสอนแบบสอนเด็ก มีความสามารถในการสอนแบบผู้ใหญ่สอนผู้ใหญ่ ใช้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นแหล่งความรู้มากกว่าทำหน้าที่แบบพ่อแม่สอนเด็ก ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมพึ่งพาผู้สอน มิใช่พึ่งพาซึ่งกันและกัน

 

4)  มีความสามารถในการเป็นผู้กระตุ้นเร่งเร้า และนักบรรยาย   ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น จัดประสบการณ์การเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกมากกว่าผู้บรรยายที่เป็นผู้ให้ข้อมูลอย่างมาก

 

5)   ใช้โสตทัศนูปกรณ์สนับสนุนได้   โดยสามารถเลือกใช้โสตทัศนูปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สไลด์ เครื่องฉายข้ามศีรษะ ฟลิปชาร์ท กระดานไวท์บอร์ด วีดีทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การเรียนรู้แบบโปรแกรม)

 

6)  สอนเป็น  ทั้งการสอนแบบดันและการสอนแบบดึง สามารถสอนแบบดันผลักดันข้อมูลให้ผู้เรียน (การสอนแบบบรรยาย) และการสอนแบบดึง ดึงความรู้จากผู้เรียนโดยวิธีการของโสกราตีส เลือกใช้แต่ละวิธีการให้เหมาะสม

 

7)  ใช้กระบวนการกระตุ้น – ตอบสนอง – ข้อมูลย้อนกลับ สามารถให้ข้อมูลในลักษณะ มีปฏิสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม ดึงให้มีการตอบสนองบ่อย ๆ วิธีการง่ายก็คือลำดับขั้นการเรียนรู้ จะเป็นห่วงโซ่แบบกระตุ้น – การตอบสนอง – ข้อมูลย้อนกลับ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

 

8)  ให้หลักการแล้วยกตัวอย่างในระหว่างการสอนหรืออบรมได้   สามารถใช้อุปมาอุปมัย เปรียบเทียบมีเกร็ดความรู้ อธิบาย กรณีศึกษา และทำเป็นแบบอย่าง แสดงให้เห็นภาพ รูปแบบการให้ความรู้แบบมีชีวิตชีวา เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ยกตัวอย่างที่สามารถจำได้แม่นยำ

 

9)  มีทักษะในการจัดระบบความคิดเป็นขั้นตอนของผู้เรียนรู้   โดยสามารถจัดระบบความคิดสื่อเป็นไปตามลำดับได้อย่างดีที่สุด (ตามหลักเหตุผล – หลักจิตวิทยา – และเป็นไปตามลำดับขั้นตอน) ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ความสนใจและความสามารถที่จะจดจำได้

 

10)  มีทักษะในการการสอนงานและการให้คำปรึกษา สามารถยอมรับความต้องการ การเรียนรู้ ค่านิยมปัญหาต่าง ๆ และสนองตอบช่วยเหลือแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม ให้คำปรึกษา ใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นคู่ ๆ หรือมอบหมายงานพิเศษให้ทำ

 

เดี๋ยวมาว่ากันต่อในตอนที่ 2


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที