ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 03 ก.ค. 2009 10.44 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6665 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


(ตอนเดียวจบ)

คุณคิดว่า “ขยัน อดทน ไม่มีปากเสียง  ไม่เถียงหัวหน้า  รับผิดชอบ” เป็นคุณสมบัติของคนทำงานที่เพียงพอต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจริงหรือเปล่า  หรือเพียงพอหรือเปล่า

ผมเชื่อว่า หลายท่านจะตอบผมว่า  “ใช่  คุณสมบัติแบบนี้ล่ะ หัวหน้างานชอบ”  หรือ “ฉันเป็นหัวหน้างาน  ฉันชอบลูกน้องแบบนี้” 

โดยความเห็นส่วนตัวนะครับ  “ขยัน อดทน ไม่มีปากเสียง  ไม่เถียงและรับผิดชอบ” มันก็โอเคสำหรับใช้ในการทำงานให้อยู่รอดได้  แต่ทว่า มันไม่น่าจะพอที่สร้างความสำเร็จหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของคุณ 

ก็เลยน่าจะต้องมาหาเคล็ดวิธีในการไปถึงจุดของความความก้าวหน้าในอาชีพการงานให้ได้  แหม.. ทำงานทั้งที มันก็ต้องเอาดีให้ได้ จริงมั้ยครับ

หนึ่งในเคล็ดวิธีที่ผมขอนำเสนอก็มาจากหนังสือเรื่อง “The Likeability Factors”  เขียนโดย Tim Sander  อีตาคนนี้แกเป็นหัวหน้าทีม Yahoo!  Valuelab ซึ่งเป็นทีมงานที่ทำหน้าที่เป็นถังความคิด  หรือที่รวมของการนำเสนอความคิดดีดีที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ให้กับองค์การ (Think Tank)  

Tim Sander พยายามค้นหาคำตอบจากบริษัทของเขาก็คือ Yahoo! เพื่อที่จะสรุปว่า อะไรหรือคือสิ่งที่ทำให้คนทำงานประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าคนอื่น  หรืออย่างน้อยก็ทัดเทียมกับคนอื่นที่มีผลการปฏิบัติงานดี  แล้วก็พบว่ามีเรื่อง 4 อย่างที่คืออะไรที่ว่านั้น  สรุปรวมเรียกว่า Likeability Factors เรียกให้สั้นลงว่า L-Factors

Likeability Factors นี้ ผู้รู้ชาวไทยท่านแปลความว่า ปัจจัยที่ทำให้คนทำงานมีลักษณะที่คนอื่นชื่นชอบ  และ Tim Sander  ก็ยังยืนยัน นั่งยัน แล้วก็นอนยันด้วยว่า Likeability Factors เป็นของจริงที่ทำให้คนเป็นที่นิยมชมชอบในการทำงาน และสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงานได้

มาดูกันสิครับว่า 4 เรื่องนี้  มีอะไรบ้าง  !!!

1)  เป็นมิตร  ทักทายผู้อื่น ผู้คนที่เจอด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจร่าเริง

2)  แสวงจุดร่วม  จุดร่วมของความสนใจที่เหมือนกัน  มีความต้องการคล้ายคลึงกัน ยิ่งเรามีเรื่องเหล่านี้ตรงกับคนรอบข้างมากเท่าไร  การทำงานก็จะมีปัญหาขัดแย้งน้อยลง และสามารถประสานงานกันได้ดีขึ้นเท่านั้น 

3)  เห็นใจเข้าใจ  ให้คนรอบข้างได้รู้สึกว่าคุณเข้าใจเขาจริงจริง พวกเขาก็จะรู้สึกชอบคุณมากขึ้น 

4) ไม่เฟค (Fake) ก็คือ ไม่หลงเรื่องหลงทาง  เป็นเรื่องของการสร้างความสอดคล้องต้องกันระหว่างความเชื่อและการกระทำของคุณ  ตัวอย่างของความสอดคล้องกันในกรณีนี้เช่น การรู้ความต้องการของการทำงาน กับวิธีการทำงานที่ทำให้ไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้  หรือการวางจุดมุ่งหมายไว้แล้ว ก็มุ่งมั่นต่อหลักการทำงานนั้น เป็นต้น 

เอาล่ะครับ พอหอมปากหอมคอ  เค้าเขียนหนังสือเป็นเล่มหลายหน้า  จะสรุปมาสั้นแค่นี้ก็คงกระไรอยู่  โอกาสหน้า ผมจะเอารายละเอียดของแต่ละ Factor มาฝากครับ  ขอไปค้นคว้าและสรุปข้อมูลสักนิดก็แล้วกันนะ...    


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที