วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 04 ส.ค. 2009 07.54 น. บทความนี้มีผู้ชม: 13009 ครั้ง


พูดภาษาไทยให้ถูกต้องกันเถิดครับ เลิกใช้คำว่า "นะฮะ" มาใช้ "นะครับ" กันดีกว่า


-




เลิกใช้คำว่า “นะฮะ” กันได้แล้วนะครับ...!!!

 

วิกูล โพธิ์นาง

รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

วันจันทร์ ที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒

 

 

วันนี้ผมมาชวนคนไทยเลิกพูดคำว่า “นะฮะ” โดยมีเหตุผลที่จะให้ผู้อ่านได้พิจารณาไปตามลำดับ แล้วทุกท่านจะเลิกพูดนะฮะ แน่นอนเมื่ออ่านบทความจบ

 

สำหรับผม ได้ยินคำว่า “นะฮะ” มานานเท่าใดมิทราบกาลเวลา ก่อนหน้านี้เข้าใจว่า “นะฮะ” เป็นคำสุภาพต่อท้าย หรือตอบรับ ที่ใช้สำหรับผู้ชายชั้นปัญญาชน ทำให้ผมเด็กชายจุกกระดากปากที่จะพูด คงใช้แต่คำไทยพื้นฐาน ที่เหมาะสมกับผมนั่นคือ “นะครับ” หรือ “ครับ” อย่างชัดถ้อย ชัดคำ ตามที่บิดามารดา ครูบาอาจารย์สั่งสอนมา

 

แม้แต่พิธีกรรายการโทรทัศน์บางช่อง ดารานักแสดง หรือแม้แต่นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่บางคน  ก็พูดคำว่า “ฮะ” แทนคำว่า “ครับ” จนผมเกือบซึมซับว่า “ฮะ”เป็นคำใหม่แทน “ครับ” ที่คงจะเก่าหรือไม่ก็ไม่สมบูรณ์ยากต่อการพูด

 

รสนิยมการพูดดังกล่าว ยิ่งหนุนความเชื้อเดิมว่า “ฮะ” หรือ “นะฮะ” เป็นคำสุภาพต่อท้าย หรือตอบรับ ที่ใช้สำหรับชนชั้นปัญญาชน และเป็นคำที่ถูกต้องในหลักภาษาไทย เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 

แต่ก็มาเกิดฉุกคิด...!!! ปุจฉาในใจตนเองระหว่างคำว่านะฮะ และ นะครับ ช่วงที่มีบทความลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ กับเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยบกพร่องของคนไทยในว  “วันภาษาไทยแห่งชาติ” โดยการนำเสนอผลวิจัย จากการเปิดเผยของ ดร. นพดล  กรรณิกา ผอ. ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน  มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ( เอแบค ) เชิงสำรวจภาคสนาม  เรื่อง วันภาษาไทยแห่งชาติ กับ สิ่งที่คนไทยต้องการรักษาไว้ในสังคมไทย

 

ผลวิจัยคนไทยอ่อนภาษาไทยสุดๆ...!!! คนไทยจำไม่ได้ว่าภาษาไทย  มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ อยู่จำนวนเท่าใด...!!!

 

สังคมต่างก็เป็นห่วง “คนไทยเมินภาษาแม่ วิกฤติวันภาษาไทย” (ไทยรัฐ), “คนรุ่นใหม่...กับมาตรฐานภาษาไทยที่ตกต่ำ” (มติชน), “ภาษาไทย เอกลักษณ์ประจำชาติ สิ่งที่เราต้องรักษาให้อยู่เคียงคู่สังคม” (เดลินิวส์)

 

เมื่อเกิดปุจฉา ก็พยายามวิสัชนาให้กับตนเอง เริ่มแรกก็เปรียบเทียบพิธีกรทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่หลายคนเชื่อว่ามีชื่อเสียง กับนักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ ๒๐ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คุณสุทธิชัย หยุ่น

 

พิธีกรคนนั้นมักพูดคำว่า “นะฮะ” หรือ “ฮะ” เป็นคำต่อท้าย หรือตอบรับ อยู่เป็นประจำทุกวัน บางครั้งก็สับสนในการพูดของตนเองที่เผลอนำนะครับมาบ้าง นะฮะมาบ้าง ผสมปนเปกันอย่างไร้หลักยึด

 

คุณสุทธิชัย หยุ่น จะพูดคำว่า “นะครับ” หรือ “ฮะ” ควบกล้ำ ร เรือ ชัดเจน เป็นคำลงท้ายอย่างสุภาพ หรือตอบรับแบบที่คนไทยควรจะใช้กันเสมอ จนผู้ฟังชินหู

 

ด้วยการเปรียบเทียบคุณภาพของทั้งสองคนที่กล่าวมา จึงตั้งสมมติฐานเลยว่า “นะฮะ” หรือ “ฮะ” เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง

 

ยืนยันสมมติฐานด้วย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  เรามาศึกษาทำความเข้าใจทีละคำร่วมกัน นะครับ

 

ฮะ        อ. คําที่เปล่งออกมาเมื่อรู้สึกสะดุดใจ แปลกใจ หรือเมื่อชะงัก เป็นต้น. ฮะฮ้าย, ฮะไฮ้ (กลอน) อ. คําที่เปล่งออกมาแสดงความเยาะเย้ย. ฮะเฮ้ย อ. คำที่เปล่งออกมาเพื่อดุว่าหรือห้ามเป็นต้น, ฮ้าเฮ้ย ก็ว่า.

 

ผมเคยได้ยินคำว่า “ฮะ” ในภาษาอีสานเหมือนกัน “ฮะ” ภาษาทางภาคอีสาน จะหมายถึง “บาด” หรือถูๆไถๆ ดังนิทานก้อม ของพี่น้องภาคอีสาน

 

เรื่อง “เชือกควายฮะ” มีเล่าสืบต่อกันมาดังนี้

 

ผู้เฒ่าคนหนึ่งกลับจากนาได้แผลจากเชือกผูกควายที่เอาไปเลี้ยง เพราะขณะควายตกใจมันกระชากเชือกที่แกถืออยู่ทำให้บาดผิวหนังจนเป็นแผล (อาการที่ทำให้เกิดบาดแผลแบบนี้ภาษาพื้นบ้านอีสานเรียก ฮะ) แกก็เลยต้องทำการรักษาตัวเองโดยไปหาซื้อยาแดงในตลาดที่ร้านหมอตี๋

หมอตี๋ "ซื้ออะไรละลุง”

หมอตี๋ซึ่งยังไม่ชำนาญการฟังภาษาอีสานก็เลยถามซ้ำว่า "อะไรฮะ "

ผู้เฒ่า "เซียก***ฮะ" (เชือกควายบาด) และควายภาษาอีสานไม่มีสระอาหรอกครับคุณ]

หมอตี๋ ???

 

พจนานุกรม ยังอธิบายคำว่า “ครับ” และ “นะ” ดังนี้ 

 

ครับ      [คฺรับ] ว. คํารับหรือคําลงท้ายอย่างสุภาพที่ผู้ชายใช้.  นะ ๑ว. คําประกอบท้ายคําอื่น บอกความเป็นเชิงอ้อนวอน บังคับตกลง หรือเน้นให้หนักแน่น เป็นต้น เช่น อยู่นะ ไปละนะ. นะ ๒     น. ชื่อตัวตั้งธาตุน้ำของเวทมนตร์คาถาทางเมตตามหานิยม เช่น เขาคงมีนะดี ใคร ๆ เห็นก็เมตตา.

 

จึงสรุปได้ว่า การลงท้ายคำพูด หรือตอบรับ ด้วยคำว่า “นะฮะ” หรือ “ฮะ” เป็นคำที่ไม่สุภาพ ดังปรากฎแล้วตามพจนานุกรม ซ้ำยังเป็นการใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดการเรียนแบบ ต่อเยาวชนคนไทยทั่วไป ในทางที่จะทำให้ภาษาไทย “วิบัติ” มากไปกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

 

ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่สื่อมวลชน ต้องเป็นแบบอย่างชี้นำสิ่งที่ถูกต้อง พื้นฐานก็เรื่องของการใช้ภาษาไทย อย่าให้จรรยาบรรณของท่านเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมวิชาชีพที่ไร้ค่า

 

หยุดใช้คำว่า “นะฮะ” กันดีกว่า “นะครับ” เพื่อรักษาศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย มีภาษาเป็นของตนเอง ถ้าคนไทยทำลายภาษาไทย ก็เท่ากับทำลายตนเอง ทำลายชาติ

 

ถ้าไม่เลิกใช้คำว่า “นะฮะ” ต้องอายนักแสดงตลก ที่สามารถนำท่าทางสำเนียงคำพูดของคุณสุทธิชัย หยุ่น ไปแสดง พร้อมคำพูด “นะครับ ๆ ๆ” อย่างคล่องแคล่วชัดถ้อย ชัดคำ

 

เชื่อผมเถิดนะครับ...!!!

 

ขอขอบคุณข้อมูล : 

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

หนังสือพิมพ์มติชน

วิกิพีเดีย: สุทธิชัย หยุ่น

ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที