นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 05 ต.ค. 2009 09.13 น. บทความนี้มีผู้ชม: 7653 ครั้ง

บทความนี้ มุ่งนำเสนอและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในแง่มุมต่าง ๆ อันได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเป็นมาของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาคราชการไทย หลักการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งสำคัญที่พึงระวังซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคให้เกิดความล้มเหลวต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ และยังชี้ให้เห็นเป็นการทบทวนถึงการปรับใช้องค์ความรู้เรื่องดังกล่าวในระบบบริหารภาครัฐไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยองค์ความรู้ในเรื่องนี้ปัจจุบันนับได้ว่ามีพลวัตที่ค่อนข้างสูง ตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงไปของหลักการพื้นฐานด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารจัดการภาครัฐ รวมตลอดจนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของภาคเอกชนที่หลายหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นต้นแบบและนำมาปรับใช้กับองค์การภาครัฐเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการบริหารกิจการสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทความนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีมากนักเนื่องจากมักเป็นที่เข้าใจยากโดยเฉพาะในแง่ของการทบทวน หรือการขยายขอบเขตไปวิพากษ์แนวคิดทฤษฎี และการวิพากษ์ผลการนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย่อมมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นต่างกันไปบ้าง และในประการหนึ่งนั้น แม้ในความเป็นจริงที่แนวคิดเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับบุคลากรภาครัฐไทยในแง่ผู้ปฏิบัติเอง กลับน่าจะมีไม่มากนักที่จะเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งมากไปกว่าการรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือผู้บังคับบัญชาระดับบนมาปฏิบัติ


การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สัมฤทธิ์ผล ตอนที่ 17

บทสรุป

 

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา  การบริหารงานของภาครัฐในอดีตจะเน้นที่การการบริหารปัจจัยนำเข้า (Inputs) ซึ่งได้แก่ ทรัพยากรต่างๆ ที่รัฐจะนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน คือ เงิน คน วัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ โดยเน้นการทำงานตามกฎ ระเบียบ และความถูกต้องตามกฎหมาย และมาตรฐาน เปลี่ยนมาเป็นการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เน้นไปยังผลลัพธ์ (Outcomes) ของงาน  ภายใต้การให้ความสำคัญที่การกำหนดพันธกิจและวัตถุประสงค์ของโครงการ/งาน เป้าหมายที่ชัดเจน การกำหนดผลผลิตและผลลัพธ์ที่ต้องการของทุกโครงการในองค์การให้สอดคล้องเป็นไปในทางเดียวกับภารกิจและวัตถุประสงค์ขององค์การ มีการกำหนดตัวบ่งชี้วัดผลการทำงานหลัก (Key Performance Indicators) ไว้อย่างชัดเจน เป็นที่เข้าใจของทุกคนในองค์การ การวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานโดยใช้ตัวบ่งชี้ การยืดหยุ่นทางการบริหารและสนับสนุนทรัพยากรแก่ผู้บริหารระดับล่างอย่างเหมาะสม การประเมินผลการปฏิบัติงานและการให้ค่าตอบแทนตามผลงาน ตลอดจนถึงการปรับปรุงพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนในฐานะผู้รับบริการจากองค์การของรัฐได้เป็นอย่างดี  โดยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐในปัจจุบัน นอกเหนือไปจากเครื่องมืออื่นอันได้แก่ การจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Vision Management) การจัดการต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity-Based Costing)การรื้อปรับระบบงาน (Business Process Reengineering) การบริหารวงรอบเวลา (Cycle-time Management) และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Management) เป็นต้น  คือ การที่องค์การต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมภายนอกอย่างรุนแรง จนไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ โดยเฉพาะหากการปฏิบัติงานมุ่งหรือยึดติดอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีการแบบเดิม ๆ  การบริหารงานภาครัฐที่ก้าวหน้า จึงต้องการความยืดหยุ่นพอสมควร ในอันที่จะทำให้องค์การสามารถปรับตัวได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ พร้อมกับการให้อำนาจผู้รับผิดชอบที่จะตัดสินใจดำเนินการในภาระหน้าที่รับผิดชอบได้โดยอิสระ โดยแนวทางหนึ่งที่ใช้ได้คือการเปลี่ยนแปลงหลักการควบคุมรายละเอียดมาเป็นควบคุมที่ผลงาน หลักการจัดการแบบใหม่นี้จะต้องให้อิสระ (Autonomy) แก่ผู้บริหารให้รับผิดชอบต่อเป้าหมายขององค์การ และเพื่อความโปร่งใสผู้บริหารจะต้องพร้อมที่จะให้สาธารณชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ กล่าวได้ว่ามีลักษณะสำคัญ 4 ประการคือ  (1) การมุ่งผลงาน (Result-oriented) (2) การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานและตัวชี้วัด (Performance Standard and Index) (3) ความมีอิสระ (Autonomy) ของผู้รับผิดชอบ และ (4) การตรวจสอบทางการบริหาร (Management Accountability) โดยมีองค์ประกอบที่สรุปจากผลงานเขียนของนักวิชาการได้เป็นองค์ประกอบอย่างน้อย 8 ประการ กล่าวคือ ประการแรก การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การ (Objectives and Goals Determination) ประการที่สอง การกำหนดตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมายและผลการปฏิบัติงาน (Performance Indication and Key Result Area Determination)   ประการที่สาม การจัดทำข้อตกลงเพื่อให้รับรู้ถึงเป้าหมาย (Performance Agreement) ประการที่สี่ การจัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology System)  ประการที่ห้า การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)  ประการที่หก การให้รางวัลและการยกย่อง (Reward and Recognition) ประการที่เจ็ด การวัดและการประเมินผลงาน (Performance Measurement and Evaluation) และประการที่แปด การจัดวางกลไกการตรวจสอบ (Accountability Mechanism) การให้อำนาจ (Empowerment) แก่ผู้บริหารหน่วยงาน    ซึ่งในประเทศไทย การบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-based ) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการบริหารราชการให้มามุ่งเน้นที่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจ โดยให้มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (Key Performance Indicators) และเป้าหมาย และจัดสรรงบประมาณตามเป้าหมายโดยให้อิสระแก่ส่วนราชการในการเลือกวิธีการปฏิบัติ  แต่จะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ได้ปรากฎอยู่ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 9 ซึ่งบัญญัติให้การบริหารราชการจะต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการโดยให้มีรายละเอียดของขั้นตอน ระยะเวลาและงบประมาณที่จะต้องใช้ เป้าหมายของภารกิจ ผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ และตัวชี้วัดความสำเร็จของภารกิจ และส่วนราชการต้องจัดให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติราชการ ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือ ก.พ.ร. กำหนด


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที