พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 12 พ.ย. 2013 15.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 152159 ครั้ง

ทำไม TPM จึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม


จะบำรุงรักษากันอย่างไร

ตอนที่ 2: จะบำรุงรักษากันอย่างไร

                วัตถุประสงค์ของการบำรุงรักษาก็เพื่อคงสภาพหรือดำรงอยู่ ของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เราใช้งานอยู่ให้สามารถทำงานให้เราได้เมื่อเราต้องการตลอดเวลา เหมือนตัวเราเองต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้คงสภาพ ที่แข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยมีสมรรถนะของความเป็นมนุษย์พร้อมตลอดเวลา การบำรุงรักษาของมนุษย์เราจะมีทั้งเฉพาะบุคคลและเป็นหมู่คณะ ซึ่งผลของการขาดการบำรุงรักษาระหว่างบุคคลกับหมู่คณะจะแตกต่างกันนั่นคือ ถ้าเป็นเฉพาะบุคคลการเจ็บป่วยก็จะอยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นเช่นโรคประจำตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ส่วนหมู่คณะการเจ็บป่วยจะแพร่กระจายไปหลายๆคนเช่นโรคติดต่อหรือมลภาวะสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เราใช้งานก็จะมีเฉพาะบุคคลหรือเรียกกันว่าประจำตัวก็ได้และเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกันและประกอบกันเป็นกระบวนการของโรงงานหรือบริษัท ซึ่งผลของการขาดการบำรุงรักษาก็จะเหมือนกับมนุษย์เรานั่นเองคือเครื่องจักรอุปกรณ์ประจำตัวก็จะกระทบกับการดำรงชีวิตเฉพาะตัวเองในกรณีอยู่ที่บ้านหรือทำงานส่วนตัวเท่านั้น แต่ถ้าอยู่ที่โรงงานหรือบริษัทต้องทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ผลกระทบก็จะขยายไปยังคนอื่นๆด้วยไม่ใช่เฉพาะตัวเราเท่านั้น ส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ งานร่วมกันในโรงงานหรือบริษัทผลกระทบก็จะเกิดกับหมู่คณะที่ทำงานร่วมกันทั้งหมดเลย ถ้าปีนี้บ้านใครถูกน้ำท่วมก็จะเข้าใจผลกระทบที่ได้รับเฉพาะตัวได้ดีไม่ต้องอธิบายความรู้สึกนั้นหรือถ้าใครทำงานโรงงานหรือบริษัทที่ถูกน้ำท่วมอีกด้วยก็จะเข้าใจเลยว่าผลกระทบร่วมกันนั้นเป็นอย่างไร

 วิธีการบำรุงรักษาทีใช้กันถ้าเป็นมนุษย์ก็จะมีการพัฒนากันมาเป็นระยะๆเริ่มต้นด้วย การบำรุงรักษาหลังการเจ็บป่วย การบำรุงรักษาสุขภาพในสภาวะปกติ และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งการบำรุงรักษาของมนุษย์จะประกอบด้วย การบำรุงรักษาด้วยตนเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาร่วมกันหรือไปโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเมื่อต้องการบำรุงรักษาสุขภาพที่ดีไว้ หรือต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลทั่วไปเมื่อเจ็บป่วยมากรักษาตัวเองไม่ได้ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือพิเศษช่วยรักษา ส่วนการบำรุงรักษาของเครื่องจักรอาจมีความแตกต่างจากของมนุษย์ไปบ้างซึ่งจะมีการพัฒนามาเป็นระยะๆเช่นเดียวกันเริ่มต้นด้วย การบำรุงรักษาประจำวัน (Daily Maintenance) การบำรุงรักษาหลังเครื่องจักรชำรุดเสียหาย (Breakdown Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขหรือปรับปรุง (Corrective Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) และสุดท้ายการป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Prevention) หรือการที่เราไม่ต้องบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ตลอดอายุการใช้งานเลย

แนวคิดในการบำรุงรักษาเครื่องจักรของญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาคนและเครื่องจักรไปพร้อมๆกันเพราะปัจจุบันเครื่องจักรมีความสำคัญมากทำงานแทนคนได้หลายเรื่อง การบำรุงรักษาด้วยตนเอง(Autonomous Maintenance)เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ว่า การบำรุงรักษาที่ก่อให้เกิดผล(Productive Maintenance)นั้นเป็นอย่างไร  ถ้าขาดการบำรุงรักษาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีผลกระทบโดยตรงกับใครบ้าง มีผลข้างเคียงไปถึงใครบ้าง การสูญเสียที่เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน แต่ถ้าทำการบำรุงรักษาให้ดี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน เฉพาะบุคคล ทั้งในการทำงานส่วนตัวและการทำงานร่วมกันกับคนอื่น  สำหรับในโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัท การบำรุงรักษาเฉพาะบุคคลเพียงอย่างเดียวคงยังไม่เพียงพอ  เพราะการทำงานเป็นหมู่คณะร่วมกันหลายคนถ้าเครื่องจักรอุปกรณ์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเกิดการขัดข้อง จะมีผลกระทบกับโรงงานหรือบริษัททั้งหมดแต่ถ้ามีระบบการบำรุงรักษาที่ดีทุกคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานหรือบริษัทช่วยกันทำกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง จะทำให้มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องซึ่งจะก่อให้เกิดผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ จึงได้เรียนรู้ว่า การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม”(Total Productive Maintenance)นั้นมีความสำคัญอย่างไร

Total Productive Maintenance หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆว่า TPM  นั้นไม่ใช่ว่าโรงงานไหนอยากทำก็สามารถนำมาทำได้เลย เพราะ TPM สไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่นิยมทำกันมากมาจาก Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลกและมีผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์หลายคนร่วมกัน ทำวิจัยแต่งตำรา TPM ออกมาเผยแพร่ให้ความรู้ในการทำกิจกรรม TPM อย่างถูกต้องให้แก่อุตสาหกรรมทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น โดยการทำกิจกรรมเริ่มต้นจะเน้นไปที่การดำเนินกิจกรรมในฝ่ายผลิตก่อนหลังจากนั้นก็จะขยายครอบคลุมไปถึงฝ่ายบริหาร การขายและฝ่ายสนับสนุนต่างๆทั่วทั้งบริษัทจึงสอดคล้องกับความหมายของคำว่าTPM ในอดีตที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า TPM เป็นกิจกรรมเฉพาะการบำรุงรักษาเครื่องจักรของฝ่ายผลิตเท่านั้นซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะการจะก่อให้เกิดผลผลิตที่ดีออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกันทำงานจึงจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้  TPM เป็นปรัชญาที่เริ่มต้นจากการให้ความรู้เพิ่มทักษะความสามารถให้กับบุคลากรในการบริหารจัดการงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยมองที่แหล่งกำเนิดของปัญหาก่อนแล้วจึงตัดสินใจบริหารจัดการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับปัญหาให้ได้ประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นการนำTPM มาดำเนินการในโรงงานของประเทศญี่ปุ่นจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ TPM มาเป็นที่ปรึกษาคอยให้ความรู้และคำแนะนำในการทำกิจกรรม TPM เป็นระยะๆไปจนกว่าจะทำกิจกรรมจนติดเป็นนิสัยได้

สำหรับการนำ TPM มาใช้ในประเทศไทยปัจจุบันมีบริษัทที่สนใจทำกิจกรรม TPM เป็นจำนวนมากหลายบริษัทได้รับรางวัล TPM Awards ไปแล้วแต่มีอุปสรรคที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมก็คือการไม่เข้าใจวิธีการ ขั้นตอนรายละเอียดต่างๆในการดำเนินกิจกรรมแม้ว่าจะมีตำราเป็นภาษาไทยให้อ่านแล้วก็ตาม ทำให้เกิดความสับสนในการทำกิจกรรม การทำกิจกรรมจึงไม่ต่อเนื่องหรือไม่ก้าวหน้าเลย ในบางบริษัทจึงมีความจำเป็นต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็จะมีปัญหาตามมาอีกคือการสื่อสารจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย ต้องใช่ล่ามแปลให้อีกต่อหนึ่ง และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัจจุบันปัญหานี้เริ่มจะหมดไปเมื่อทาง Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) ได้มีนโยบายขยายตัวแทนการตรวจประเมินเพื่อขอรับรางวัล TPM Awardsไปนอกประเทศญี่ปุ่น ( TPM Awards Assessment Agency outside Japan ) ประเทศไทยนับว่าเป็น1 ใน 6 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนตั้งแต่เดือน มกราคม 2550 และสถาบันที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนก็คือ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น)หรือ ส.ส.ท.นั่นเอง จึงมีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำกิจกรรม TPM จากผู้เชี่ยวชาญของ  Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM) มาให้กับผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมชาวไทย ของ ส.ส.ท.โดยตรง(Assistant Assessor Training by JIPM )เพื่อไปเป็นที่ปรึกษาการทำกิจกรรม TPM ที่ถูกต้องและเตรียมตัวเป็นผู้ตรวจประเมินการให้รางวัล TPM Awards ร่วมกับชาวญี่ปุ่นทำให้อุปสรรคนี้หมดไปซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อโรงงานอุตสาหกรรมไทยที่ต้องการทำกิจกรรม TPM  มากทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกในการขอรับคำแนะนำปรึกษาจากที่ปรึกษาชาวไทยที่ใช้ภาษาไทยด้วยกันโดยมีเนื้อหาสาระการทำกิจกรรมTPM ไม่ผิดเพี้ยนไปจากญี่ปุ่นเลย

 ปีเก่ากำลังจะผ่านไปความทุกข์ยากต่างๆที่ได้รับในปีนี้ก็กำลังจะหมดไปเช่นกันปีใหม่กำลังจะมาถึงให้นึกถึงความสุขที่กำลังจะได้รับในปีใหม่กันดีกว่าชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า สวัสดีปีใหม่ 2555 ส่งความสุขให้กับทุกๆคนที่อ่านครับ

 

 

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที