พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 12 พ.ย. 2013 15.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 152402 ครั้ง

ทำไม TPM จึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม


จะพัฒนา TPM ให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างไร

ตอนที่ 6 : จะพัฒนา TPM ให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างไร

                เมื่อเราเรียนรู้ปรัชญา TPM มาพอสมควรแล้วถึงแม้จะยังเข้าถึงปรัชญาของ TPM ไม่มากนักก็ตามก็จะสามารถหยั่งรู้ได้ว่า TPM มีประโยชน์ต่อโรงงานมากน้อยแค่ไหน เหมาะสมที่จะนำมาใช้หรือไม่ ถ้าหากว่าสนใจ TPM จริงๆเราก็เข้ามาดูโปรแกรมการดำเนินกิจกรรมกันว่ามีอะไรบ้าง TPM JIPM ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้ 12 ขั้นตอนด้วยกันโดยการจัดตามลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนของงานที่ทำและปัญหาเป็นหลัก  จากการรวบรวมข้อมูลการเข้าช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและปรับปรุงการทำงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรมจนประสบความสำเร็จ แล้วนำข้อมูลและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิเคราะห์วิจัยกันหลายปีจึงสรุปได้ว่า แนวทางการดำเนินกิจกรรม TPM สามารถจะเรียงให้เป็นลำดับเพื่อความเหมาะสมและสะดวกง่ายดายในการทำกิจกรรมได้เป็น 12 ขั้นตอนนั่นเอง

                ในการดำเนินกิจกรรม 12 ขั้นตอนในทางปฏิบัติจริงผู้ทำจะพบปัญหา อุปสรรค เงื่อนไข กลไก ต่างๆมากมายจึงต้องใช้กลยุทธ์เข้าช่วยในระหว่างการดำเนินการเพื่อให้งานประสบความสำเร็จลุล่วงไปให้ได้ในแต่ละขั้นตอนเป็นระยะๆ แต่การที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆให้ผ่านไปได้จะต้องได้รับความร่วมมือตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ หัวหน้างาน และพนักงานทุกคนร่วมกันทำ อีกทั้งได้รับคำแนะนำที่ดีจากทีมงานส่งเสริมกิจกรรม TPM รวมทั้งที่ปรึกษาโครงการจากภายนอกด้วย              

Step 1.การประกาศนำ TPM มาใช้โดยผู้บริหารระดับสูง

                การนำ TPM มาใช้ในโรงงานขั้นแรกต้องพยายามให้พนักงานทุกคนเข้าใจ TPM ให้ชัดเจน โดยผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ประกาศและอธิบายทำความเข้าใจกับพนักงานด้วยตนเอง และเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรติดบอร์ดให้ทุกคนรับทราบด้วยจะดีมาก  ขั้นตอนที่ 1-5 เป็นการเตรียมงานช่วงนี้จะต้องจัดเตรียมงบประมาณไว้สำหรับพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงเครื่องจักร จะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหรือมากกว่าซึ่งส่วนใหญ่จะมากกว่าบางโรงงานใช้เวลาเป็นปีก็มีแต่ไม่ควรเกิน 1 ปีเพราะถ้าคิดจะทำ TPM แล้วต้องสามารถวางแผนและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะทำได้สำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดเพราะถ้าทำไม่ได้เป็นการ สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้ปรัชญา TPM และความมุ่งมั่นของผู้บริหารยังมีน้อยมาก

Step 2.การรณรงค์และให้การศึกษาเพื่อนำ TPM มาใช้

                   การให้การศึกษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นในการทำกิจกรรม TPM ให้กับพนักงานทุกคนเพื่อจะได้เข้าใจว่า TPM มีประโยชน์อย่างไรกับตัวพนักงานซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ก็จะจัดให้มีการฝึกอบรมแบบ Inhouse Training ในหลักสูตร Introduction TPM  หรือ TPM Concept ให้กับผู้บริหารและพนักงานระดับต่างๆ ทุกคนเข้าใจ จะได้นำไปสู่การเข้าถึงปรัชญาของ TPM ได้ ในขณะเดียวกันในช่วงนี้ก็จะมีการรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรู้จัก TPM ให้มากที่สุดโดยใช้วิธีการต่างๆเช่น บอร์ด  โปสเตอร์  คำขวัญ   ป้าย  ธงญี่ปุ่น  แผ่นพับ  ฯลฯ  เพื่อให้ TPM เข้าถึงพนักงานทุกคนก่อนไม่ใช่รอให้พนักงานเข้ามาหา TPM เอง ส่วนพนักงานจะยอมรับ แบบขอถึงหรือเข้าถึงหรือไม่ยอมรับ ก็ขึ้นอยู่กับตัวพนักงานเอง ดังนั้นถ้า TPM ยังเข้าไปไม่ถึงตัวพนักงานเลย ก็อย่าหวังว่าพนักงานจะเข้าถึง TPM ได้   

Step 3.การจัดตั้งองค์กรส่งเสริม TPM และองค์กรที่จะทำ TPM เป็นตัวอย่าง

                การจัดตั้งองค์กรส่งเสริมกิจกรรม TPM มีความสำคัญอย่างมากเพราะเราใช้เป็นกลไกในการผลักดันการดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าจนบรรลุเป้าหมายให้ได้  องค์กร TPM จะประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ชุดๆแรกเรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรม TPM (TPM Steering Committee ) จะใช้โครงสร้างปกติของโรงงานตามสายงานการบังคับบัญชาปกติ ( Overlapping organization )กลไกการดำเนินการTPM ก็จะถูกผลักดันลงไปตามลำดับชั้นจากผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ หัวหน้างาน จนถึงกลุ่มพนักงานปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานซึ่งเป็นผู้ใช้เครื่องจักร ( Small Group ) ในทางกลับกันผลงานจากการปฏิบัติงานของกลุ่มย่อยก็จะมีกลไกการส่งผลงานย้อนกลับไปหา หัวหน้างาน ผู้จัดการ จนไปสิ้นสุดที่ผู้บริหารระดับสูงกลไกที่ทำให้ผลการปฏิบัติงานเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นโดยใช้ปรัชญาของ TPM เข้ามาดำเนินการเราเรียกว่า TPM Effect นั่นเอง ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 เรียกว่า คณะอนุกรรมการส่งเสริมกิจกรรม TPM (TPM Sub-committee)โครงสร้างองค์กรจะแตกต่างกับชุดแรกเป็นชุดเฉพาะกิจที่ถูกคัดเลือกให้มาช่วยงานพิเศษโดยใช้ปรัชญาของ TPM 8 Pillar มาดำเนินการโดยใช้กลยุทธ์ แก้ไข ปรับปรุง รักษา และป้องกัน เข้าช่วยเหลือกลุ่มย่อยต่างๆตามลำดับชั้นของสายงานในโรงงานซึ่งอธิบายไว้ในบทที่ 4 แล้วว่าบทบาทหน้าที่ของทั้งสองคณะกรรมการจะแตกต่างกันแต่บุคลากรอาจเป็นคนเดียวกันทำ 2 หน้าที่ก็ได้

 ในขณะเดียวกันขั้นตอนนี้ก็จะมีการจัดตั้งทีมงานที่จะทำกิจกรรม TPM เพื่อเป็นต้นแบบ(Pilot model)ให้พนักงานทุกคนได้เห็นเป็นตัวอย่างก่อนว่า TPM มีประโยชน์อย่างไรซึ่งเราเรียกกันว่า Machine / Line Model หรือ บางแห่งเรียกว่า Manager Model เพราะเป็นเครื่องจักรต้นแบบที่มีพนักงานระดับบริหารเข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วย โดยทดลองนำกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตัวเองและกิจกรรมการปรับปรุงเฉพาะเรื่องมาทำกันเพื่อทดสอบดูว่าปรัชญาของ TPM เมื่อนำมาปฏิบัติแล้วจะเกิดผลอย่างไร เป็นความจริงหรือไม่  ทำอย่างไรถูก ทำอย่างไรผิด เพื่อค้นหาความจริงและเกิดประสบการณ์จริงก่อนแล้วจึงนำไปขยายผลให้กับกลุ่มอื่นๆต่อไปทั่วทั้งโรงงาน  

Step 4.การกำหนดนโยบายพื้นฐานและตั้งเป้าหมายของ TPM

                เมื่อเรามีองค์กรรองรับการดำเนินการ TPM แล้วจุดเริ่มต้นก่อนลงมือทำกิจกกรมคือการตั้งเป้าหมาย ให้ชัดเจนโดยการค้นหาปัญหาและความต้องการของโรงงานให้ชัดเจนก่อนว่าปัจจุบันการปฏิบัติงานมีผลการดำเนินการ (KPI) อยู่ในสถานะใดเช่น คงที่ แย่ลง หรือดีขึ้น เป้าหมายสูงสุดของ TPM คือ 3 Zero( Zero Breakdown ,Defect,Accident) แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันสถานะอยู่ตรงไหนใกล้หรือไกลจาก 3 Zero มากน้อยเพียงใดเราต้องค้นหาให้ชัดเจน จากนั้นจึงจะสามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่าจะรักษาหรือเปลี่ยนแปลงสถานะผลการดำเนินการในอนาคตอย่างไร เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนแล้ว จึงจะมีการกำหนดเป็นนโยบายพื้นฐานขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการคิด จัดการและการกระทำตลอดทั้งกระบวนการ นโยบายพื้นฐานนี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่การทำกิจกรรมโดยความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆและ 8 อนุกรรมการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโรงงาน

Step 5.การสร้าง TPM Master Plan

                ในการทำกิจกรรมคณะกรรมการส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM ทั้ง 2 ชุดคือ TPM Steering Committee และ TPM Sub-Committee จะต้องร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการให้ผู้ปฏิบัติสามารถมองเห็นทิศทาง และปริมาณงานที่จะทำของแต่ละกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรม สอดคล้องกับ ฝ่ายต่างๆที่มีกลุ่มย่อย(Small Group)ที่จะทำกิจกรรม TPM กัน โดยมีขั้นตอนและมีระยะเวลาเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ ซึ่งหัวหน้าแต่ละเสากิจกรรม(Head Pillar)ก็จะจัดทำแผนของตัวเองมาก่อนและมาประสานงานกับฝ่ายต่างๆอีกครั้งจนได้แผนงานหลักของแต่ละเสากิจกรรม(Pillar Master Plan) จากนั้นจึงนำแผนงานทั้งหมดมาจัดรวมกันเพื่อทำให้ทุกคนมองเห็นภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดร่วมกันได้ทั้งโรงงานเราเรียกขั้นตอนนี้ว่า การวางแผนงานหลักของการทำกิจกรรม TPM  (TPM Master Plan) 

 

 

Step 6.การประชาสัมพันธ์และเริ่มต้นทำ TPM ทั่วทั้งองค์กร( Kick off )

                                ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญโรงงานที่จะผ่านปัญหาและอุปสรรคตั้งแต่ Step 1-5 มาได้อย่างถูกต้องตามแนวทาง JIPM แบบเข้าถึง......ไม่ใช่แบบขอถึงหรืออยากถึง...... นะครับ ก็นับว่าประสบความสำเร็จในขั้นต้นแล้วเพราะก่อนที่จะทำ Step นี้ได้ TPM ได้เข้าไปถึงพนักงานทุกคนแล้วนั่นคือ พนักงานทุกคนในโรงงานได้รับการอบรมให้ความรู้เรื่อง TPM ในหลักสูตรTPM Introduction หรือ TPM Concept แล้วผู้บริหารและคณะกรรมการส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานที่ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรม TPM จนได้รับรางวัล TPM Award จาก JIPM แล้ว มีการรณรงค์ให้พนักงานรู้สึกใกล้ชิดและเป็นมิตรกับ TPM ด้วยการใช้สื่อต่างๆประชาสัมพันธ์โครงการ มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการทำกิจกรรม TPM อย่างเป็นระบบและเข้มแข็งพอที่จะเป็นผู้นำได้  มีการทดลองทำกิจกรรม TPM  2 กิจกรรมหลัก นั่นคือ การบำรุงรักษาด้วยตนเองและการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง ที่เครื่องจักรต้นแบบโดยผู้บริหารและพนักงานปฏิบัติการช่วยกันทำจนสำเร็จแล้วระดับหนึ่งเพื่อเรียนรู้หาประสบการณ์และใช้เป็นตัวอย่าง มีการกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และนโยบายไว้อย่างชัดเจน มีการวางแผนการทำกิจกรรมตั้งแต่บัดนี้จนถึงปีที่จะขอรับรางวัล TPM Award ไว้อย่างชัดเจน

ถ้าทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ก็เตรียมการจัดบอร์ด จัดนิทรรศการ แสดงผลงานที่ทำมาทั้งหมด ประชาสัมพันธ์ ความสำเร็จขั้นต้นให้ทุกคนในโรงงานทราบรวมทั้งบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงงานรับทราบด้วย โดยการกำหนดวันจัดงานวันเปิดตัวโครงการTPM (TPM Kick off) นั่นเอง       

                Step 7.1 การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง

Step 7.2 การบำรุงรักษาด้วยตนเอง

Step 7.3 การบำรุงรักษาตามแผน

Step 7.4 การเพิ่มทักษะพื้นฐานทางช่างให้ผู้ใช้เครื่องจักรและเพิ่มทักษะขั้นสูงให้ช่างซ่อมบำรุง

Step 8.1 การควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้น

Step 8.2 การควบคุมดูแลเครื่องจักรตั้งแต่เริ่มต้น

Step 9.   การบำรุงรักษาคุณภาพ

Step 10. การปรับปรุงงานสำนักงาน

Step 11. การสร้างระบบจัดการเรื่องของความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม

Step 12. ดำเนินการปรับปรุงตามระบบของ TPM อย่างต่อเนื่อง

                สำหรับขั้นตอนที่ 7-12 รายละเอียดแต่ละขั้นตอนยังมีอีกมากมาย การทำกิจกรรมก็แตกต่างกันไม่มีซ้ำซ้อนกัน กิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะแบ่งงานกันทำแต่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันเพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือ 3 Zero ถ้าใครนำกิจกรรม TPM ไปทำแล้วกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรมเกิดการซ้ำซ้อน ขัดแย้งกัน แย่งกัน หรือ เกี่ยงกันทำ แสดงว่าใช้ปรัชญา TPM ไม่ถูกต้องแล้วครับให้ทบทวนใหม่ ก่อนที่จะหมดกำลังใจกันไปเสียก่อน

                                                                                                                                                                  พยัพ มาลัยศรี

                                                                                                                                            ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม ส.ส.ท.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที