อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 02 ส.ค. 2007 19.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 520477 ครั้ง

แนะนำมือใหม่หัดขับ ที่สนใจการบริหาร TQM


เดมมิ่ง กับ หลักการบริหารคุณภาพ 14 ข้อ (ตอนที่ 10)

10     Eliminate slogans, exhortations, and targets for the workforce asking for zero defects and new levels of productivity. Such exhortations only create adversarial relationships, as the bulk of the causes of low quality and low productivity belong to the system and thus lie beyond the power of the work force.

เลิกใช้สโลแกน ตำเตือน หรือเป้าหมายการผลิตที่กำหนดให้กับพนักงาน หากไม่มีวันจะทำได้เสียที(เหมือนโกหกตัวเองไปวันๆ)

ในประเด็นนี้ อาจจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งกับความนิยมในการบริหารงานแบบดั้งเดิม ในการรณรงค์ต่างๆ ที่ต้องอาศัยการประกวดคำขวัญ หรือการตั้งสโลว์แกนประจำปี ที่เปลี่ยนข้อความไปเรื่อยๆ และในส่วนการกำหนดเป้าหมายผลิตนั้นก็ถือเป็นความจำเป็นขั้นแรกในการบริหารการผลิต แต่ ดร.เดมมิ่ง มีเหตุผลที่จะอธิบายดังนี้

1.               สโลว์แกนเป็นเรื่องที่อาจจะชักจูงให้ไขว้เขวได้ และจะไม่มีความหมายอันใดเลยหากปราศจากรายละเอียด แนวทางการปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมาย หรือคำขวัญอันนั้น ตัวอย่าง คำขวัญด้านความปลอดภัยในโรงงานอเมริกันที่บอกว่า “ระวัง อย่าเล่นสเก็ตบนพื้น ที่มีน้ำมันหกเลอะ” โดยไม่มีมาตรการแก้ไข หรือ Correction Action อะไร เปรียบเทียบกับโรงงานญี่ปุ่นที่เขาไม่มีสโลว์แกนอันนี้เลย ด้วยเหตุผลเพียงเพราะ พื้นโรงงานของญี่ปุ่นสะอาดปลอดภัยและปลอดน้ำมันหก

2.               มีสโลว์แกนที่พบบ่อยมากคือ ZERO DEFECTS หรือ การทำให้ของเสียไม่มี แต่การออกคำขวัญอันนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากพนักงานในโรงงงานยังคงต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่แย่ๆ เช่น มีฝุ่นเต็มไปหมด ร้อนเหงื่อท่วมกาย มืดไม่สว่างพอ การระบายอากาศแย่ๆ เครื่องจักรสามวันดีสี่วันไข้ วัตถุดิบมีปัญหา และพนักงานขาดการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ หัวหน้างานไม่สามารถช่วยเหลือแนะนำงานได้  เมื่องานที่ได้ไม่มีทางที่จะมีคุณภาพเข้าใกล้เป้าหมายหรือสโลว์แกนเลย พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรต่อสโลว์แกน นอกจากจะมองว่าเป็น “ความไม่สมประกอบของฝ่ายบริหาร หรือความขี้เท่อ” หัวหน้าของตนไม่ใส่ใจต่อปัญหา และ ผู้บริหารระดับสูงไม่มีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาต่างหาก

3.               ฉะนั้น หากยังเห็นว่าคำขวัญและสโลว์แกนมีประโยชน์ต่อการจูงใจและกระตุ้นเตือนแล้ว ฝ่ายบริหารที่ใช้สโลว์แกนนั้นต้องแน่ใจว่าได้ เสนอแนะวิธีการที่จะทำให้บรรลุถึง เป้าหมาย หรือ สโลว์แกน ด้วย

ด้วยแนวคิดนี้ผมขอเสนอให้ท่านผู้บริหารหาทางในการกำหนดแผนการย่อยในการบรรลุเป้าหมายในสโลว์แกน และหากสโลว์แกนมันมีความยากมากในการปฏิบัติจริง ก็ค่อยๆสร้างสโลว์แกนที่สามารถบรรลุในแต่ละระยะเวลาจะดีกว่า การมีสโลว์แกนแบบสุดขั้ว ที่ชาตินี้ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที