อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 21 พ.ค. 2007 15.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 125728 ครั้ง

สรุปโรคร้ายในภาคอุตสาหกรรมไทย จากประสบการณ์การให้คำปรึกษา


โรค “ยึดมั่นถือมั่นในแนวทางใดทางหนึ่งเกินไป”

                ผมมีโอกาสเข้าไปให้คำปรึกษาระบบ TQM มีบริษัทไม่น้อยที่เมื่อมาถึงขั้นตอนการกำหนดมาตรการ เพื่อเอาไปดำเนินการ ปรากฏว่ามาตรการที่จะเอาไปดำเนินการนั้น มีอยู่มาตรการเดียว แล้วไม่เคยคิดถึงมาตรการอื่นๆ เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการในการคัดเลือกกลั่นกรอง ก็ไม่มี เหมือนๆ กำลังจะบอกที่ปรึกษาว่า “กูจะทำอย่างนี้ แล้วจะทำไม” ที่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่แน่ใจว่า คิดไม่เป็น ไม่คิด หรือคิดแค่นี้ก็จะแย่แล้ว หรือ เพราะเห็นคนอื่นทำได้เราน่าจะทำได้เหมือนเขา หรือ “เพราะยึดมั่นถือมั่น”

                มีบริษัทอีกประเภทหนึ่งครับ ที่คิดหลายมาตรการ และได้ฟันธงเลือกมาแล้วว่าจะเลือกทำมาตรการอะไร แต่ไม่ได้บอกที่มาที่ไปในกระบวนการคิด ว่าก่อนหน้าที่จะมาฟันธงทางเลือกนั้น มีกระบวนการคิดและตัดสินใจอย่างไร อันนี้ต้องบอกว่า ในกระบวนการคิดส่วนตัวน่ะดีครับ แต่ถ้าทำแบบนี้มากๆ องค์การก็ไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่ารู้อยู่คนเดียวนั่นเอง ถ้าเอาไปทำแล้วดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็จะเริ่มโทษโน่นโทษนี่แล้วล่ะครับ ประมาณว่ารำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง แต่ไม่ได้โทษกระบวนการคิดและตัดสินใจของเราเอง ว่าพลาดไปตรงไหน ดังนั้นถ้าได้ทำดีมากว่าครึ่งแล้วก็แถมอีกหน่อยเถอะครับ อย่าเพิ่ง “Jump to the conclusion”

          มีอาจารย์ที่สอนและให้คำปรึกษาด้วยกัน ท่านได้นำแนวคิดของอาจารย์โทซาว่า มาช่วยชี้แนะ ท่านอาจารย์โทซาว่า ท่านว่าไว้อย่างนี้ครับ “อย่ายึดมั่นถือมั่น ในแนวทางการดำเนินการ แต่ถ้าจะยึดจงยึดเป้าหมายเป็นหลัก” ยกตัวอย่างแบบนี้ครับ ตอนนี้ก็หน้าหนาวแล้ว อากาศกำลังดี เชียงใหม่กำลังมีงานพืชสวนโลก ดังนั้นคิดว่า เราน่าจะไปเชียงใหม่ การที่เราบอกว่า “ไปเชียงใหม่” นั้นคือเป้าหมาย เมื่อมีเป้าหมาย เราก็ต้องมากำหนดแนวทางที่จะไปเชียงใหม่กันแล้วล่ะครับ “แนวทางที่จะไปเชียงใหม่” มีกี่วิธีการ

  1. ไปเครื่องบิน
  2. ไปรถโดยสารสาธารณะ
  3. ไปด้วยรถส่วนตัว
  4. ขับมอเตอร์ไซค์
  5. โบกรถไป
  6. ขี้ช้าง (เหมือนสมัยโบราณ)
  7. ฯลฯ

แล้วก็ทำการ “ประเมินแนวทาง และเลือก” แนวทางที่ดีที่สุดภายใต้ ทรัพยากรที่เรามี เช่นนี้แหละครับที่เราควรทำ

และมีบริษัทอีกมากครับ เมื่อในโลกนี้มีเครื่องมือทางการบริหารใหม่ๆ บูมๆ ก็แห่กันไปเอามาบริหารจัดการ โดยไม่ได้ดัดแปลงให้มันเข้ากับบริบทขององค์การตนเอง ไม่ได้คิดให้รอบ แต่ยึดมั่นถือมั่นเสียเหลือเกินว่า เครื่องมือนั้นๆ ดี วิเศษ ผมแนะว่าไอ้ที่ดีก็มีครับ แต่ต้องนำไปใช้ให้เหมาะ อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าต้องอย่างนี้อย่างนั้น ที่ควรยึดน่ะคือ เป้าหมายต่างหากล่ะครับ ไม่ใช่แนวทาง


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที