อ.อุดม

ผู้เขียน : อ.อุดม

อัพเดท: 21 พ.ค. 2007 15.00 น. บทความนี้มีผู้ชม: 125410 ครั้ง

สรุปโรคร้ายในภาคอุตสาหกรรมไทย จากประสบการณ์การให้คำปรึกษา


โรค "ไม่รู้อะไรคือปัญหา"

"โจรกระจอก"
ผมจั่วหัวแบบนี้ เล่นเอาหลายคนนึกภาพได้ ว่าเป็นคำพูดของใคร และสะท้อนภาพหัวข้อเรื่องที่ผมจั่วได้ชัดเจน มันคือโรคร้ายประเภทแรกที่ผมจะเอามาเล่าสู่กันฟัง
         ความสำคัญในการบริหารอย่างมีคุณภาพ หรือ TQM นั้น คือการระบุปัญหาที่ถูกต้อง ชัดเจนเพียงพอ ที่จะสามารถลงมือได้ ไม่เช่นนั้น ท่านอาจจะแก้ด้วยการพับนกไปโปรย แต่ก็แก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้สักที

               
กลุ่มแก้ไขปัญหาหลายกลุ่มที่ผมมีโอกาสเข้าไปให้คำปรึกษา มักกำหนดหัวข้อปัญหาไม่ถูก บางกลุ่มเอามาตรการมาเป็นหัวข้อ เนื่องจากประสบการณ์ที่มีมาก่อนหน้า และตัดสินใจฟันธงไปก่อนหน้านั้นแล้วว่า
“กู” จะแก้ด้วยวิธีนี้ ก็เลยเอามาตั้งเป็นหัวข้อปัญหาซะเลย

                ปัญหาที่ว่านี้ในส่วนตัวผม (คนอื่นอาจจะมองต่างมุม) ผมมองว่าเพราะคนไทยขาดการเรียนรู้ให้คิดเป็นระบบ มักจะถูกปลูกฝังให้ด่วนสรุป เพราะต้องทำงานแบบรีบร้อน ที่ผมพูดเช่นนี้เป็นเพราะว่าในขณะที่ให้คำปรึกษากลุ่มคุณภาพอยู่นั้น หัวหน้างานก็ไม่เข้าร่วม แถมมาเปิดประตูห้องแล้วถามพนักงานว่า

หน.งาน :        วันนี้จะทำโอทีไหม

พนักงานที่ 1:    ถ้ามีงานให้ทำก็ทำ

 

พนักงานก็ใจดีซะเหลือเกิน ตอบไปว่า ถ้ามีงานให้ทำก็ทำ ว่าแล้วเมื่อพนักงานตอบจบ หัวหน้าท่านนั้นก็หันมาถามผม

 

หน. งาน:        อาจารย์เหลือเพียงสองคนได้ไหม ผมจะขอคนไปทำงาน

อ.อุดม:           งง ?????

 

ท่านให้ผมตอบอย่างไรดีล่ะครับ.............

                ในสถานการณ์เช่นนั้นผมมีทางเลือกอยู่สองทาง (เท่าที่สมองพอจะคิดได้) คือ โอเค กับไม่โอเค ถ้าโอเค แปลว่าจะเหลือสมาชิกกลุ่มคุณภาพให้ผมนั่งให้คำปรึกษาเพียงสองท่าน แล้วมันจะได้อะไร ทีมมันไม่เกิด เพราะไอ้ที่เข้ามาน่ะ มันก็ไม่ครบอยู่แล้ว กับอีกทางเลือกคือไม่โอเค แปลว่าผมจะหักหาญน้ำใจกันมากเกินไป และพาลอาจจะไม่ชอบขี้หน้าผม นึกไปนึกมาก็อย่าตอบซะดีกว่า เมื่อตัดสินใจไม่ตอบตรงๆ ผมก็ต้องคิดต่อว่าจะตอบเขาด้วยวิธีการไหนดีหนอที่จะเป็นการให้เขารู้ว่าผมตอบ ทันใดนั้นก็สมองผมก็สั่งการให้ตอบเขาด้วยการตั้งคำถาม

อ.อุดม:            อยากทำงานสบายขึ้นไหม ถ้าอยากทำงานสบายขึ้นก็ให้อยู่ ถ้าอยากลำบากก็เอาไป

หน.งาน:         งง????? (งง ไปพักนึง กว่าจะตั้งสติถามผมต่อเป็นคำถามที่สอง)

อาจารย์จะใช้เวลานานไหมครับ

อ.อุดม    :         (ผมรีบชิงตอบ) “แป๊บเดียวครับ”  

 

ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานมากแค่ไหน แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ที่ปรึกษามักใจอ่อนเสมอ เพื่อให้งานประจำของเขาไม่สะดุด ผมจึงต้องจับมือทำไปก่อน และอธิบายสั้นๆ เพื่อให้เขาได้เข้าใจ และสำทับไปว่า “หากมีอะไรที่ไม่เข้าใจ ก็อย่ากลัวที่จะถามในคราวหน้าที่มาอีกนะ” กลุ่มรับปากด้วยการพยักหน้าหงึกๆ แล้วก็ กล่าวคำลาสวัสดี

พูดมาซะนาน เกือบลืมหัวข้อที่จั่วหัวมาซะแล้ว ยังงัยก็ขอต่อเลยแล้วกันนะครับ

          กลุ่มที่เข้ามาให้ผมให้คำปรึกษานั้น ได้ตั้งหัวข้อมาเสียเรียบร้อยว่า "สร้างรางรองรับงาน" ผมเห็นปุ๊บ สมองสั่งการหลายอย่างมาก เช่น กลุ่มเอาเรื่องนี้มาทำได้อย่างไร หัวหน้ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลยเหรอ (นี่ก็อีกโรค ซึ่งผมจะนำมาเล่าเป็นโรคต่อไป) หรือ ถ้ารู้แล้วว่าจะทำอะไรมันน่าจะทำไคเซ็น ไปเลย น่าจะรู้แล้วรู้รอด แต่อย่างว่าแหละ ผมมีปณิธานที่ยึดอยู่ในใจอย่างนึงที่อาจารย์โทซาว่าสั่งสอนไว้ คือ การ "Cheer up your people" หมายถึงให้กำลังใจคนให้คิดปรับปรุง ถ้าไปด่าเขาว่า สมองคิดได้แค่นี้เหรอ สงสัยต้องไปด่าหัวหน้างานก่อนเป็นอันดับแรก แต่การด่ามันก็ไม่ได้ดีขึ้นมาหรอกครับ ไม่งั้นในโลกใบนี้คงจะใช้เทคนิค "จะด่าอย่างไรให้ได้งาน" อบรมกันเกลื่อนไปแล้ว ผมคิดแบบนี้ครับคือ "ได้ทำอะไรบางอย่าง ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย" 
          ผมถามกลุ่มต่อไปเพื่อช่วยเขาว่า ก่อนที่เขาจะตั้งหัวข้อเรื่องอย่างว่ามาน่ะ มันมีอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้าเหรอ กลุ่มก็บอกว่า ในขั้นตอนของเขานั้นเป็นงาน แพ็คกิ้ง ที่หน้างานจะมีการชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักต่ำ หรือ สูงเกิน สายพานจะเทงานลงกระบะ และไอ้กระบะเจ้ากรรมก็เล็กนิดเดียว หากของตกสเป็กมากๆ มันก็เทบ่อยๆ เมื่อเทบ่อยๆ มันจะซ้อนทับกัน เมื่อซ้อนทับกันมันก็เกิดตำหนิ ผมก็ถามต่อ ว่า อ้าว แล้วอย่างนี้แสดงว่าพนักงานไม่ได้หยิบขึ้นเหรอครับ กลุ่มบอกว่า มันจะหยิบทันได้อย่างไรครับอาจารย์ ก็กะบะอยู่ทาง คนทำงานยืนอยู่อีกทาง ห่างกันตั้งเยอะ แถมต้องเดินอ้อมไม้รู้กี่สิบเมตร (ไป-กลับ) ผมก็เลยถึงบางอ้อ (ท่านผู้อ่าน ถึงบางอ้อ เหมือนผมหรือยังครับ) นึกในใจอีกที "ได้ทำอะไรบางอย่าง ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย" ก็เลยบอกกลุ่มว่า เราน่าจะตั้งหัวข้อปัญหาอย่างนี้ดีกว่าไหม ว่า "ลดตำหนิของชิ้นงานที่ตกสเป็ก" ส่วนมาตรการจะทำอะไรนั้นก็ทำไป แต่สร้างความเชื่อมโยงให้หัวหน้างานเห็นด้วยว่าคิดอย่างไร และอย่างน้อย ก็สามารถมีเป้าหมายให้ควบคุมได้ว่าทำแล้ว มันลดได้จริงหรือไม่ แถมสะดวก ไม่ต้องเดินไป-กลับหลายสิบเมตรเพื่อหยิบ ได้ลดความยากลำบากในการทำงานลงด้วย เยี่ยมเลย

ตอนนี้เล่าเสียยาว ก่อนจบ คงต้องฝากท่าผู้อ่านทั้งหลายว่า การเลือกหัวข้อปัญหานั้นสำคัญนะครับ เลือกผิด กำหนดผิด เข้าใจผิด ไปทำก็ผิดหมดล่ะครับ อนึ่ง หากลูกน้องเลือกหัวข้อปัญหาผิด มันก็สะท้อนกึ๋น ของหัวหน้างานครับ ว่าได้ดูแลลูกน้องของตนได้ดีเพียงไร หัวหน้าบางคน อาจต้องเดินซื้อกึ๋นหน้าโรงงานหลายๆไม้ก่อนไปทำงานก็เป็นได้ 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที