สร

ผู้เขียน : สร

อัพเดท: 15 พ.ย. 2006 16.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 12027 ครั้ง

ไม่เคยคิดมาก่อนว่าคุกหรือเรือนจำ จะมีการทำ 5 ส และคุกหรือเรือนจำเขาทำกิจกรรม 5 ส ไปเพื่ออะไร ก่อนอื่นลองมาดูกันก่อนว่า เรือนจำที่ผมกำลังพูดถึงนี้ เป็นเรือนจำอะไรและอยู่ที่ไหน

เรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยเป็นเรือนจำที่รับตัวผู้ต้องขังโดยตรงจากศาลอาญาธนบุรี ศาลแขวงธนบุรี และศาลแขวงตลิ่งชัน


เรือนจำพิเศษธนบุรี กับ 5ส

ไปดูเรือนจำ เขาทำ 5 ส

 

 

ม่เคยคิดมาก่อนว่าคุกหรือเรือนจำ จะมีการทำ 5 ส และคุกหรือเรือนจำเขาทำกิจกรรม 5 ส ไปเพื่ออะไร ก่อนอื่นลองมาดูกันก่อนว่า  เรือนจำที่ผมกำลังพูดถึงนี้ เป็นเรือนจำอะไรและอยู่ที่ไหน

 

เรือนจำพิเศษธนบุรี   เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม  เรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยเป็นเรือนจำที่รับตัวผู้ต้องขังโดยตรงจากศาลอาญาธนบุรี  ศาลแขวงธนบุรี  และศาลแขวงตลิ่งชัน  

 

ภารกิจหลักของเรือนจำพิเศษธนบุรี คือ การควบคุมผู้ต้องขัง  การพัฒนาผู้ต้องขัง  การจัดสวัสดิการและให้การสงเคราะห์รวมทั้งการฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง

 

นายฐานิส ศรียะพันธ์  ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีกล่าวว่า ปัจจุบันเรือนจำพิเศษธนบุรี ถือได้ว่าเป็นเรือนจำที่ดีที่สุดในประเทศไทย และทางผู้บริหารเรือนจำได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “ภายในปี พ.ศ. 2549 เรือนจำพิเศษธนบุรี จะเป็นเรือนจำต้นแบบของเรือนจำพิเศษในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้”

 

ในอนาคต หากท่านใด เกิดจะต้องย้ายนิวาสถานไปอยู่เรือนจำล่ะก้อ เลือกที่นี่เป็นอันดับแรกนะครับ (ฮา)

 

เมื่อเดือนเมษายน ปี 2548 ประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม  สหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 11 หรือ The Eleventh United Nation Congress on Criminal Prevention and Criminal Justice ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ รัฐบาลได้เลือกให้เรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นสถานที่แห่งหนึ่งในการดูงานของผู้ที่เข้ามาจากหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุมสัมมนาในครั้งนี้  ซึ่งในการไปดูงานในครั้งนั้นมีสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศร่วมติดตามมาทำข่าวด้วยจำนวนมาก  สื่อมวลชนบางคนกลับไปเขียนข่าวว่าทางเรือนจำพิเศษธนบุรีมีการโรยผักชีเพื่อการต้อนรับการมาดูงานของตัวแทนประเทศต่างๆ ในครั้งนั้น  ซึ่งผู้บริหารของเรือนจำต้องตอบกลับไปว่า ถ้าคิดว่าทางเรือนจำโรยผักชีเพื่อการต้อนรับการดูงาน ก็ต้องบอกว่าเรือนจำพิเศษธนบุรีโรยผักชีอย่างที่เห็นนี้ทุกวันตลอดทั้งปี  เพราะสิ่งที่ทุกคนเห็นนั้นเหมือนกันทุกวันตลอดไป

 

ทุกวันนี้เรือนจำพิเศษธนบุรี มีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้นประมาณ 3,900 คน ซึ่งเป็นชายทั้งหมด โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังที่ยังรอคำตัดสินของศาลและผู้ต้องขังที่ได้รับการตัดสินแล้ว ถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี

                                                                                            

การทำกิจกรรม 5 ส ของเรือนจำพิเศษธนบุรี

เรือนจำพิเศษธนบุรีได้ดำเนินการพัฒนากิจกรรม 5 ส มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาระบบการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและกิจกรรม 5 ส นับเป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่จะพัฒนาต่อยอดระบบงานอื่นๆ  ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธ ศาสตร์ของกรมราชทัณฑ์ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างและการบริหารจัดการให้ดีขึ้น

 

ในการประกวดชิงรางวัล 5 ส ดีเด่นแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2548 หรือ The 4th Thailand 5 S Award 2005 ซึ่ง สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท.จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน (วันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2548) ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  กรุงเทพมหานคร นั้น เรือนจำพิเศษธนบุรีเป็น 1 ใน 6 หน่วยงานภาครัฐที่ส่งผลงานกิจกรรม 5 ส เข้าประกวด เพราะมีความเชื่อมั่นว่ากิจกรรม 5 ส ของตนน่าจะสู้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้  ซึ่งในที่สุดเรือนจำพิเศษธนบุรีก็สามารถติด 1 ใน 10 หรือ Top 10 จากจำนวนหน่วยงานต่างๆ ที่ส่งผลงาน 5 ส เข้าประกวดในปีนี้ร่วม 30 หน่วยงาน (ส่วนมากเป็นบริษัทหรือโรงงานญี่ปุ่น) ผ่านรอบแรกจากการคัดเลือกและให้คะแนนของคณะกรรมการตรวจและพิจารณารางวัล 5 ส ของ ส.ส.ท.ไปได้ ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ทำงานในเรือนจำพิเศษธนบุรีทุกคน

 

จริงๆ แล้วรางวัล 5 ส ดีเด่นที่ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จัดประกวดขึ้นนี้เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น เพราะหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรม 5 ส นั้น ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากการทำกิจกรรม 5 ส จะตกกับหน่วยงานและผู้ที่ทำงานในหน่วยงานนั้นๆ เอง  เพราะเมื่อทำ 5 ส แล้ว สภาพสำนักงานทั้งภายในและภายนอกจะดูสวยงาม  สะอาดตา บรรยากาศน่าทำงานมากขึ้น การค้นหาเอกสารต่างๆ ก็รวดเร็วมากกว่าเดิมเนื่องจากการ สะสาง (ส ที่ 1) การจัดการและทำสถานที่ให้ดูดี เรียบร้อยและ สะดวก (ส ที่ 2) หลายประการ นอกจากนั้นบริเวณภายในและภายนอกสำนักงาน/หน่วยงานยังมีความ สะอาด ( ส ที่ 3) ทั่วๆ ไปและมีมาตรฐาน (สร้างมาตรฐาน หรือ ส ที่ 4) ซึ่งเป็นการจัดการที่มีหลักวิชาการ  เป็นระบบและถูกต้อง  สิ่งเหล่านี้หากทำจนเคยชินและติดเป็นนิสัยแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นการ สร้างนิสัย (ส ที่ 5 ) ซึ่งถ้าถึงจุดนี้แล้วถือได้ว่าหน่วยงานนั้นประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม 5 ส แล้ว

 

สำหรับเรือนจำพิเศษธนบุรี ไม่ใช่เฉพาะผู้บริหารและข้าราชการของเรือนจำเท่านั้นที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมตามแนวทางของ 5 ส แต่รวมไปถึงผู้ต้องขังทุกคนด้วยที่จะได้รับทราบแนวทาง วิธีการดำเนินกิจกรรม 5 ส เพื่อจะได้ทำกิจกรรม 5 ส ร่วมกัน  อาจจะด้วยเพราะเหตุนี้ เรือนจำพิเศษธนบุรีจึงมีสภาพไม่เหมือนเรือนจำทั่วๆ ไป เมื่อท่านได้มีโอกาสย่างกรายเข้าไปบริเวณด้านหน้าของเรือนจำที่มีต้นไม้ร่มรื่น  ดอกไม้สีสันต่างๆ บานสะพรั่งงามตาทำให้เพลิดเพลินตาและเพลินใจแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยือน (อาจเป็นอีก 1 ส ที่เป็นผลพลอยได้เพิ่มเติมขึ้นมาหลังการทำกิจกรรม 5 ส นั่นคือ ส - สิ่งแวดล้อม) รวมทั้งผู้ที่มาเยี่ยมญาติก็ได้รับการต้อนรับและบริการอย่างดี  ซึ่งกิจกรรม 5 ส ที่เรือนจำแห่งนี้นำมาใช้  ทำให้ญาติที่มาเยี่ยมไม่ต้องรอพบผู้ต้องขังนานเช่นแต่ก่อน

 

นอกจากนั้น ญาติๆ ที่ไปเยี่ยมไม่ต้องซื้อของจากข้างนอกแล้วหิ้วเพื่อเอาไปฝากผู้ต้องขัง เพราะในเรือนจำแห่งนี้เขามี ร้านสะดวกซื้อ หรือ Convenience Store ไว้คอยบริการเสร็จเรียบร้อยในราคาเดียวกันกับร้านค้าข้างนอก ซื้อเสร็จก็ฝากให้กับผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำได้เลย  ทั้งสะดวกและสามารถป้องกันการยัดไส้สิ่งของต้องห้ามให้กับผู้ต้องขังได้ด้วย

 

ผมเป็นห่วงว่าผู้ต้องขังที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรีแห่งนี้ จะติดใจในบรรยากาศ (ร่มรื่น สวยงาม)  สถานที่ (สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย) และอาหารที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งการได้ฝึกฝนอาชีพจนไม่อยากออกไปจากเรือนจำแห่งนี้  ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีรีบบอกว่า “สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการเหมือนกัน คือ อิสระภาพ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครหรอกที่อยากจะอยู่ในเรือนจำนานๆ  แต่เมื่อทุกคนเข้ามาอยู่แล้ว เขาน่าจะได้รับสิ่งดี ๆ ที่มีขอบเขต รวมทั้งได้รับการฝึกฝนอาชีพต่าง ๆ เพื่อจะได้ออกไปไม่เป็นภาระแก่สังคม  แต่ควรจะออกไปเพื่อเป็นคนดีและทำประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป”

 

                                                                                                                            

                                                      สร  ปิ่นอักษรสกุล

                                นักวิชาการ  สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)

 

 

นสพ.มติชน รายวัน ลงบทความนี้เพื่อการเผยแพร่ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที