สุวรรณี

ผู้เขียน : สุวรรณี

อัพเดท: 28 เม.ย. 2013 14.19 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3295 ครั้ง

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ไทยยังน่าวิตกมาก


โลจิสติกส์ไทยพร้อมแค่ไหนกับการรุกอาเซียน

เชื่อหรือไม่ว่า..ประเทศที่น่าเข้าไปลงทุนมากที่สุดเวลานี้ คืออินโดนีเซีย รองลงมาคือเวียดนาม และไทย ตามลำดับ
 
 

อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนโดยตรงมากเป็นสถิติในปีที่แล้ว 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์ ครองอันดับหนึ่งเป้าหมายการลงทุนต่างชาติของกลุ่มอาเซียน ซึ่งประเทศที่เข้าไปลงทุนอันดับหนึ่งยังคงเป็นสิงคโปร์ ตามด้วยญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหรัฐ

สำหรับการขยายการลงทุนในอาเซียน น่าจะวิเคราะห์แยกเป็นอาเซียนเดิม 6 ประเทศ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย กับอาเซียนใหม่คือ CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

กลุ่มประเทศอาเซียนเดิมให้สนใจสินค้าไทยประเภท อาหารสำเร็จรูป (ready to eat) เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของสังคมเมืองมาก มีการบริโภคสูงขึ้น ดังนั้นอาหารประเภทแช่แข็ง (frozen food) และอาหารประเภทเพื่อสุขภาพ (organic food) จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะตลาดอาหารฮาลาลในโลกมีมูลค่าประมาณ 150,000–200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาหารฮาลาลจึงน่าจะมีโอกาสขยายตัวสูง ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาลส่งออกที่สำคัญของโลก ผู้ประกอบการจึงควรยกระดับเรื่องมาตรฐานฮาลาลให้เข้าข่ายในแต่ละประเทศและทำการสร้างแบรนด์เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาส

ด้านการขนส่งก็เช่นเดียวกัน ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สำหรับการขนส่งสินค้าประเภทแช่แข็ง หรือ cold chain และขนส่งอาหารฮาลาลของไทย หากมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงขยายเครือข่ายการให้บริการไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนโดยการหาพาร์ทเนอร์ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในเวลานี้

สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ หรือ CLMV โดยมากจะให้ความสนใจสินค้าประเภทอุปโภค บริโภคจากไทย หากแต่การขนส่งสินค้ายังทำในลักษณะกองทัพมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ผู้ผลิตสินค้าของไทยไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยเช่นเดียวกัน

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ไทยยังน่าวิตกมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย โดยมากจะเชี่ยวชาญแต่ไม่ยังครอบคลุมความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะระบบไอทีที่สมัยนี้ต้องการรู้สถานะในลักษณะ real time และที่สำคัญยังขาดความน่าเชื่อถือ

ดร. เนตรปรียา ชุมไชโย รองผูอำนวยการสำนักธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยส่วนมากยังมีจุดอ่อนเรื่องการทำมาร์เก็ตติ้ง และควรจะปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้

ด้านคุณวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยต้องเปลี่ยน Mind Set ก่อนอันดับแรก รวมตัวและจับมือกันสร้างบริการให้ครบวงจร โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งเที่ยวเปล่า (backhaul) ร่วมกันแชร์ข้อมูลเพื่อลดการขนส่งเที่ยวเปล่า ซึ่งถือว่าเป็นการทำการตลาดชั้นดี และลดต้นทุนให้กับลูกค้าด้วย

นอกจากนี้ยังมองว่า การรุกคืบของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติ จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยอย่างแน่นอน การถ่ายทอดระบบบริหารขนส่งระหว่างกันน่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการและสร้างความเชื่อมโยงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้มากที่สุด รวมถึงการออกไปขยายบริการโลจิสติกส์ในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศ CLMV ควรทำในลักษณะเป็นพาร์ทเนอร์ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้การบริหารจัดการ ระบบไอที เพื่อร่วมกันยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้า

สำหรับปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการขนส่งสินค้าในอาเซียนเวลานี้คือ กฎระเบียบต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง Transshipment Processในการขนส่งข้ามแดนในแต่ละประเทศ และการประกันความเสี่ยงทั้งต่อตัวรถและสินค้า

ปัญหาประการสำคัญคือเรื่องของข้อมูลแต่ละประเทศในอาเซียน ซึ่งแม้แต่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็อาจจะยังให้ความกระจ่างในเวลานี้ไม่ได้

ถ้าถามว่า เออีซีคืออะไร คาดว่า 90% ของผู้ประกอบการไทยในภาพรวมคงทราบดีแล้ว แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า จะเข้าไปอย่างไร ช่องทางไหน สิทธิประโยชน์ กฎระเบียบต่างๆ พิธีการศุลกากร วัฒนธรรมในองค์กร บุคลากร แต่ละแห่งเป็นอย่างไร

ประเทศไทยจึงน่าจะมีหน่วยงานที่ศึกษาข้อมูลในเชิงลึกคล้ายกับ Jetro ของญี่ปุ่นในไทย ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนี้ได้

http://logisticsviews.blogspot.com/

 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที