ชนิตพล

ผู้เขียน : ชนิตพล

อัพเดท: 05 พ.ย. 2013 04.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 20295 ครั้ง



ENEV-Houses (Energy saving and Environmental friendly Houses)

“Why we all need to go green!”
ความจำเป็นที่ต้องหันมาช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อเอื้อต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์

บทนำ

บทความเรื่อง ENEV มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจิตสำนึก ในความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงภัย ที่เกิดจากการเสียสมดุล ของระบบนิเวศวิทยา ที่เป็นสิ่งมีชีวิตทั้ง พืช สัตว์ รวมถึง ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็น ดิน แร่ธาตุในดิน แหล่งน้ำ ทะเลที่มีพื้นน้ำกว่า 70% ของพื้นที่ผิวโลก สภาพของพื้นแผ่นดิน ผืนป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของน้ำ และสิ่งชีวิตตามธรรมชาติ ทั้งปวงเป็นต้น การเรียบเรียงเนื้อหาจะเป็นลักษณะอิงหลักของวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เคมีเป็นหลัก เป็นการบรรยายและอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย ด้วยการยกตัวอย่าง พร้อมหลักคิดเบื้องต้น โดยเฉพาะความรู้ใน รายละเอียดของหลากหลายมุมมอง ในรายละเอียดของบ้านที่เราอยู่อาศัยกันทุกวันนี้ ต่อไปนี้จะเกริ่นนำเพื่อความเข้าใจที่มาของแหล่งความร้อนที่เราได้รับกันอยู่ในขณะนี้

สภาพภูมิอากาศ ของโลกทั่วทุกภูมิภาค มีการเสียสมดุลทางนิเวศน์มากขึ้นตามลำดับ จากการลุกล้ำป่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพื่อทำการเกษตร และอุตสาหกรรม พร้อมๆกับการขยายตัวของชุมชนและการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการอย่างกว้างขวาง มีการเพิ่มขึ้นของประชากร เกิดการเจริญเติบโต ของชุมชนบ้าน และชุมชนเมืองทั่วทุกภูมิภาค การขยายตัวดังกล่าว รวมถึง การดำรงชีวิต ประจำวันและการคมนาคม ติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กัน กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิด มลพิษ ตามมาเป็นจำนวนมาก เช่น ขยะ ควันพิษและน้ำเสีย ของเสียส่วนใหญ่มาจากระบวนการผลิตพลังงาน ด้วยการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil) เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งมาจาก กิจกรรมทางการเกษตร การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างผิดวิธี สาเหตุต่างๆเหล่านี้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชั้นบรรยากาศที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้
คาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นส่วนที่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนโดยตรง จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่า เมื่อแสงอาทิตย์ส่งผ่านชั้นบรรยากาศมากระทบผิวโลก ก็จะเกิดการดูดซับพลังงานความร้อนไว้ที่ผิวโลกทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและน้ำ พลังงานบางส่วนจะถูกสะท้อนกลับไปสู่บรรยากาศชั้น ซึ่งจะถูกดูดกลืน และบางส่วนสะท้อนกลับลงมาอีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้น สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ที่สูงจากผิวโลกขึ้นไปราว 40-60 กิโลเมตร ซึ่งชั้นบรรยากาศของก๊าซเรือนกระจกนี้มีทั้งประโยชน์และผลเสีย และมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะมีผลต่อสภาพความร้อนบนผิวโลกโดยตรง ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในบทต่อไป


///////////////////////////

25/6/2556





2 สังคม สิ่งแวดล้อม และพลังงานที่ยั่งยืน (1)

2  สังคม  สิ่งแวดล้อม  และพลังงานที่ยั่งยืน (Social -Environment and Sustainable energy) (1)

 

 

                                    รูปที่5 แสดง ความสัมพันธ์ของ สังคม พลังงาน และสิ่งแวดล้อม                                   

 2.1 สังคม (Social) คือการดำรงชีวิตของ มนุษย์/คน มากกว่าสองคนขึ้นไปใน อาณาเขต/พื้นที่ ในที่หนึ่งๆ ภายในเวลาที่เหมาะสม เกิดการติดต่อ และสร้างความสัมพันธ์ กลายเป็นกิจกรรมของสมาชิกในสังคมของทุกเพศ ทุกวัย ในหลากหลายสถานะภาพ มีการทำหน้าที่ของตนเอง และมีการปฏิบัติต่อผู้อื่น ภายใต้กฎเกณฑ์หรือระเบียบของสังคม โดยมีวัฒนธรรม เป็นแบบอย่างและขั้นตอนในการดำเนินชีวิต มีการปฏิบัติหน้าที่ ตามบทบาทของสังคม เพื่อการเป็นอยู่ ความเจริญก้าวหน้า ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจนเกิดเป็นระเบียบ และวิถีการดำเนินชีวิตของสังคม  สมาชิกในสังคมมีการปรับตัว เพื่ออยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึก และความพอเพียง ของคนในสังคม ก่อให้เกิดความสงบสุข อย่างยั่งยืน

2.2  สิ่งแวดล้อม (Environment)  คือสิ่งที่อยู่รอบๆตัวมนุษย์และสังคมของมนุษย์ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เกิดการหมุนเวียน และการถ่านเท กลายเป็นระบบนิเวศน์ ที่มีความสมดุล  หรือการรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติ  สามารถส่งผลแก่มนุษย์ได้  ทั้งในแง่สร้างสรรค์และทำลาย ขึ้นอยู่กับความสมดุลหรือไม่สมดุลของระบบนิเวศนั้นๆ  การส่งผลจะเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคม ในแง่เศรษฐกิจ สังคม  และต่อทรัพยากรธรรมชาติ   ซึ่งต้องมีการหมุนเวียน ถ่ายเทและการนำกลับมาใช้ใหม่ได้  ทำให้เกิดการพัฒนาของสังคมมนุษย์อย่างยั่งยืนตลอดไป    

2.3  พลังงาน (Energy) คือความสามารถของสสารหรือวัตถุในการทำงาน ทำให้สสารเกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ  เช่น เกิดความร้อน  เกิดการเคลื่อนที่ หรือเกิดการเปลี่ยนสถานะ  พลังงานไม่สามารถจะทำให้สูญสลายไปได้ แต่สามารถทำให้เปลี่ยนรูปเป็นพลังงานแบบอื่นได้  ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน มี 6 ประเภท ได้แก่  พลังงานความร้อน (Thermal Energy)  , พลังงานกล (Mechanical Energy), พลังงานไฟฟ้า (Electrical Energy) ,  พลังงานเคมี (Chemical Energy) พลังงานจากการแผ่รังสี (Radiant Energy) , พลังงานไฟฟ้า (Electrical Energy)  และ พลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Energy)

        2.3.1  พลังงานจำแนกตามแหล่งกำเนิดได้เป็น 2 ประเภท คือ

                  1. พลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติ (natural / primary energy) ได้แก่ แสงแดด ลม และน้ำ  จัดอยู่ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน (Renewable  energy resources) ส่วนพลังเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่กัมมันตรังสี ต้นไม้ และพลังงานความร้อนใต้พื้นโลก พลังงานกลุ่มนี้จัดเป็นพลังงานหมดเปลือง (Non-renewable energy resources) เป็นต้น

                   2.  พลังงานแปรรูป (Secondary energy) คือพลังงานที่ได้จากการนำ เอาพลังงานธรรมชาติ /พลังงานต้นกำเนิด มาแปรรูป ปรับปรุง ปรุงแต่งให้อยู่ในรูปที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆกันได้ตามความ ต้องการ เช่น พลังงานไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านอัดแท่ง และแกลบ เป็นต้น

          2.3.2  พลังงานจำแนกตามลักษณะการทำงาน 3 ประเภท คือ
                    1. พลังงานศักย์
(Potential Energy) คือพลังงานที่เกิดในตัววัตถุพยายามต้านทานแรงภายนอกที่มากระทำ สามารถทำให้วัตถุเกิดการเปลี่ยนตำแหน่ง ที่ตั้ง/ที่อยู่ หรือสามารถทำเกิดการเปลี่ยนขนาดหรือปริมาตร ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอิสระเดิม แรงที่กระทำดังกล่าวเช่น แรงดึงดูดของโลก / แรงโน้มถ่วงของโลก เช่น ต้นไม้ ก้อนหิน มนุษย์หรือสัตว์ ที่อยู่บนเขาสูงเป็นต้น 

                   2. พลังงานจลน์ (Kinetic Energy) คือพลังงานที่มีอยู่ในวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ที่กำลังวิ่งอยู่   เรือที่กำลังแล่นอยู่ในน้ำ เครื่องบินที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า  หรือน้ำตกที่กำลังตกลงจากหน้าผา เป็นต้น   สิ่งที่มีผลกับพลังงานจลน์ เป็นไปตามขนาดของมวลวัสดุ และความเร็วในการเคลื่อนที่ 


                   3. พลังงานสะสม (Stored Energy) เป็นพลังงานที่เก็บสะสมในวัสดุ หรือ สิ่งของต่างๆ เช่น พลังงานเคมีที่เก็บสะสมไว้ในอาหาร ในก้อนถ่านหิน น้ำมัน หรือไม้ฟืน ซึ่งพลังดังกล่าว จะถูกเก็บไว้ในรูปขององค์ประกอบทางเคมีหรือของวัสดุหรือสิ่งของนั้นๆ และจะถูกปล่อยออกมาเมื่อวัสดุหรือสิ่งของดังกล่าวมีการเปลี่ยนรูป เช่น การเผาไม้ฟืนจะให้พลังงานความร้อน เป็นต้น

 

//////////////////////////////////////

13/10/56

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที