สุวรรณี

ผู้เขียน : สุวรรณี

อัพเดท: 04 ต.ค. 2013 17.53 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3191 ครั้ง

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดเวทีเสวนาระดมมุมมองนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาครัฐและเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ : Next Generation of Thai Industry “อุตสาหกรรมยุคใหม่” ก้าวที่ท้าทายสู่อนาคต เพื่อนำเสนอแนวโน้มและภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนทิศทางและแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในอนาคต โดยได้รับเกียรติจากนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานสัมมนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


อุตสาหกรรมไทยยุคใหม่

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันสูงและรุนแรงในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 40% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.86 ล้านล้านบาท

 
ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยนับจากนี้เป็นต้นไปถือว่าอยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมปี 2555-2574 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และยั่งยืนในอนาคต เพื่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็น 3 ระยะ กล่าวคือ
 
เป้าหมายในระยะที่ 1 เป็นการสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตในระดับภูมิภาคเตรียมความพร้อมสู่ AEC โดยเริ่มจากการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคที่มี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งในด้านแรงงาน วัตถุดิบ เทคโนโลยี มาตรฐาน วิจัยและพัฒนา จัดเขตพื้นที่ศูนย์ทดสอบ เป็นต้น พัฒนาคลัสเตอร์ และการเข้าไปสู่การเป็นผู้ผลิตในภูมิภาคจากการสร้าง ASEAN Supply Chain และพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
เป้าหมายในระยะที่ 2 เป็นช่วงเวลาของการมุ่งเน้นการพัฒนาต่อจากการพัฒนาฐานความรู้เพื่อนำมา ต่อยอดในการพัฒนาภาคการผลิตและสินค้า เน้นการผลิตสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับบทบาทประเทศไทยให้เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับในอาเซียน โดยการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าและบริหารจัดการการผลิตและจัดการเครือข่ายในภูมิภาค ยกระดับการผลิตวัตถุดิบเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการสร้างนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาพลักษณ์ตราสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในอาเซียน
 
เป้าหมายในระยะที่ 3 เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านตราสินค้าไทยที่ก้าวไกลในตลาดโลก เป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้าที่มีเครือข่ายการผลิตจากในภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และอุตสาหกรรมไทยเป็นที่ยอมรับ โดยมีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์
 
ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 40% แต่จากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเข้าสู่ AEC ในปี 2558, สังคมสุขภาพ/ผู้สูงอายุ, Global Warming, สถานการณ์ด้านพลังงาน, Global Food Supply, นวัตกรรมใหม่ ๆ และปัจจัยภายในที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล  ความรับผิดชอบต่อสังคม Logistics / Supply Chain/ Global Standard /กฎระเบียบที่กีดกันทางการค้าอื่นๆ (NTB) กฎหมาย/กฎระเบียบที่ไทยต้องมีการบูรณาการให้เอื้อต่อการลงทุน การรวมกลุ่ม Cluster ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัว   อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก  
http://logisticsviews.blogspot.com/2013/10/blog-post.html
 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที