นักแสวงหา

ผู้เขียน : นักแสวงหา

อัพเดท: 08 ม.ค. 2014 13.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3152 ครั้ง

ทุกการตัดสินใจในการใช้ชีวิตมีผลต่อความเป็นไปในอนาคต ที่ความเชื่อมโยงทางเลือกเพื่อสร้างอนาคตที่คุณออกแบบเองได้


“Hello World! เราจะออกแบบอนาคตกันอย่างไร”

 
เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นทุกวันในยุคที่เราเลือกใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ในการกำหนดตัวตนของเรา ความเร่งรีบเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง จะผสมผสาน “สินทรัพย์” เดิมกับ “ปัญญา” ใหม่อย่างไรเพื่อสร้างคุณค่าและชีวิตที่ดีกว่า อะไรคือสมดุลใหม่ในการอยู่กับความเหลือเฟือจากเทคโนโลยีและความขาดแคลนของทรัพยากรโลก อนาคตจึงไม่ใช่การเลือกระหว่างความ “เหมือน” หรือ “ต่าง” หากเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสองสิ่ง เพื่อให้ทุกๆ คนได้ใช้คุณค่าและปัญญาในแบบฉบับของตนเอง เพื่อออกแบบตัวเราและโลกที่สร้างสรรค์กว่าเดิม
 
ค้นหาความเชื่อมโยงของการตัดสินใจต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่คุณออกแบบเองได้ กับนิทรรศการ “Hello World!” 20 ธันวาคม 2556 – 23 มีนาคม 2557 ที่ TCDC
 

 

 - แนวคิดที่ 1 - เหมือนหรือต่าง
       

       เริ่มต้นตั้งคำถามกับผู้ชมด้วยภาพจำลองของมหานครนิวยอร์ก คือหม้อหลอมของความหลากหลายและพื้นที่แห่งอิสรภาพในการสร้างสรรค์และใช้ชีวิต จิตวิญญาณของเมืองจึงเป็นผลรวมของเงื่อนไขและองค์ประกอบเฉพาะตัวที่ทำให้นิวยอร์กคงความ “ต่าง” ในโลกที่ดูคล้ายคลึงกันเข้าไปทุกขณะ
       

       ตัวอย่าง
       

       :: โลโก้ ไอ เลิฟ นิวยอร์ก
       บทพิสูจน์ของการรู้จักสะท้อนภาพลักษณ์อันเป็นมิตรแก่ผู้มาเยือน จับใจทั้งชาวเมืองนิวยอร์กและชาวโลกจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโดยปริยายมาเกือบสี่สิบปี

- แนวคิดที่ 2 - บิด ปรับ แปลง

เมื่อเส้นคั่นทางสังคมและขีดจำกัดในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการกำลังเลือนหาย เมื่อการเรียนรู้และส่งรับทางวัฒนธรรมพบกับเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่และสังคม กระบวนการบิด ปรับ แปลง และต่อยอด จึงเกิดขึ้น เช่นเดียวกับการต่อรองที่ปรับให้เข้ากับความเชื่อและรสนิยมการใช้ชีวิต สะท้อนออกมาเป็นผลลัพธ์เปี่ยมความหมายและคุณค่าที่อาจต่างกันโดยสิ้นเชิงกับต้นทาง
       
       ตัวอย่าง
       
       :: ช็อคโกแลตคิทแคทที่จำหน่ายในญี่ปุ่น

       จากชื่อคิทแคท ซึ่งมาจากชื่อเล่นของคลับวรรณกรรมและการเมืองในลอนดอนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ช็อคโกแลตสัญชาติอังกฤษนี้ได้กลายเป็นตัวแทนความโชคดีในญี่ปุ่น เมื่อคำอ่านสำเนียงญี่ปุ่น “คิทโตะคัทโตะ” ไปพ้องเสียงกับคำว่า “คิตโตะคัทสึ” ซึ่งแปลว่า “ชนะอยู่แล้ว” เนสท์เล่ก็ไม่พลาดที่จะหยิบฉวยเอาความได้เปรียบแบบบังเอิญนี้มาสร้างสรรค์เป็นคิทแคทมากกว่า 200 ชนิดเพื่อขายในญี่ปุ่น ทุกวันนี้ คิทแคทคือ ช็อคโกแลตขายดีอันดับ 1 ในญี่ปุ่น ประเทศที่ประชากรกว่า 126 ล้านคนอยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขันกันตลอดเวลาตั้งแต่เด็กยันโตและยังคงมีความเชื่อเรื่องโชคลางไม่เสื่อมคลาย


       
       :: โปสเตอร์คีพคาล์มแอนด์แครี่ออนและโปสเตอร์ล้อเลียน
       ทุกวันนี้โปสเตอร์คีพคาล์มแอนด์แครี่ออน (มีสติแล้วดำเนินชีวิตต่อไป) ถูกนำมาล้อเลียนด้วยการปรับเปลี่ยนโลโก้ข้อความและสีสันที่สร้างความหมายใหม่ชนิดที่เพี้ยนไปเป็นอะไรก็ได้แบบนับไม่ถ้วน แถมคนใช้จำนวนมากก็ไม่รู้ที่มาของโปสเตอร์ดังกล่าวโดยจากโปสเตอร์ปลุกขวัญประชาชนซึ่งไม่เคยถูกนำออกใช้จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผลิตโดยรัฐบาลอังกฤษในปี 2482 กลับมาเตะตาผู้คนอีกครั้งเมื่อสจ๊วตและแมรี่แมนเลย์สามีภรรยาเจ้าของร้านหนังสือบาร์เตอร์บุ๊กส์ในนอร์ธทัมเบอร์แลนด์ค้นพบโปสเตอร์ดั้งเดิมในกล่องหนังสือเก่าที่ประมูลมาในปี 2543 และนำมาเข้ากรอบแขวนตกแต่งภายในร้านจนเมื่อปี 2552 ทั้งสองได้ตัดสินใจผลิตโปสเตอร์เลียนแบบเพื่อขายในร้านหลังทนเสียงรบเร้าไม่ไหว โปสเตอร์ที่ขายได้ถึงสี่หมื่นใบจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วอังกฤษและทั่วโลก

เทียนตู้เฉิง จำลองสิ่งปลูกสร้างในปารีส ทั้งห้องชุดพร้อมระเบียงเหล็กดัดหรือหอไอเฟลสูง 108 เมตร
แต่ราคาที่สูงลิบทำให้มีผู้อาศัยน้อยจนจะกลายเป็นเมืองผีสิงที่มีสถาปัตยกรรมขัดแย้งกับวิถีชีวิตของชาวจีนในมณฑลเจ้อเจียงโดยสิ้นเชิง และอาจจบลงด้วยการเป็นแค่ฉากหลังให้กับการถ่ายภาพ
พรีเวดดิ้ง

 

 

 

impossible instant poraliod

- แนวคิดที่ 3 - ของเก่าเท่ากับคุณค่าใหม่ ของใหม่คลี่คลายโจทย์เก่า
       

       กลยุทธ์การสร้างสรรค์อนาคตเป็นได้ทั้งการกลับไปหาของเก่าและการสร้างของใหม่ ตราบใดที่คนเรายังคงบริโภคเพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึก พร้อมกับเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่าเดิม ทุกสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นไม่ว่าจะด้วยทักษะเดิมหรือเทคโนโลยีล้ำสมัย จะต้องมีทั้งคุณค่าและความหมาย ทั้งสำหรับเรา และสำหรับโลก
       
       ตัวอย่าง
       
       :: เครื่องพิมพ์ดีดต่อสายยูเอสบีพร้อมที่วางไอแพด
       เสียงปัดแคร่และแป้นเครื่องพิมพ์ดีดที่พาเราย้อนกลับไปยังวันวาน คือแรงบันดาลใจให้ แจ็ค ซิลกินดัดแปลงอุปกรณ์ยุคเก่าให้เป็นคีย์บอร์ดที่พิมพ์ได้ทั้งบนหน้าจอและบนกระดาษ พร้อมพิสูจน์ให้เห็นว่ายังคงมีที่ทางให้ของใช้จากยุคอนาล็อกอยู่ร่วมกันได้กับเทคโนโลยีดิจิทัล

:: กล้องดิ อิมพอสซิเบิล อินสแตนท์ แล็บ
       ภาพถ่ายโพลารอยด์แบบเก่าที่อาจซีดจางไปกับกาลเวลาได้เดินเคียงข้างไปกับเทคโนโลยีใหม่อย่างลงตัวในกล้อง
       ดิ อิมพอสซิเบิล อินสแตนท์ แล็บ ของดิ อิมพอสซิเบิล โปรเจ็กต์ ที่สามารถแปลงไฟล์ภาพดิจิทัลจากไอโฟนหรือ
       ไอพอดทัชออกมาเป็นภาพฟิล์มโพลารอยด์หลากสีภายในไม่กี่นาทีผ่านแอพพลิเคชันในมือถือ ในปี 2551 ฟลอเรียน “ด็อก” แค็ปส์ และอังเดร บอสแมน ซื้อโรงงานผลิตฟิล์มโพลารอยด์แห่งสุดท้ายของโลกในเนเธอร์แลนด์ และร่วมมือกับอดีตลูกจ้างโรงงานในฐานะทีมดิ อิมพอสซิเบิล ที่มุ่งมั่นหาวิธีคงสายผลิตฟิล์มโพลารอยด์ไว้ กล้อง ดิ อิมพอสซิเบิล อินสแตนท์ แล็บ ได้รับการสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ kickstarter ที่ช่วยระดมทุนในการทดลองผลิตกล้องรุ่นดังกล่าวได้มากถึงกว่าหกแสนเหรียญสหรัฐ จากผู้สนับสนุนกว่า 2,700 คนทั่วโลก

 


       
     

จากชื่อที่สื่อถึงโครโมโซมมนุษย์ 23 คู่และเซลส์ร่างกายมนุษย์หนึ่งเซลส์ 23&me เปิดโอกาสให้คนทั่วไปตรวจสอบรหัสพันธุกรรมเพื่อสืบย้อนบรรพบุรุษ ตรวจสอบโรคที่รับมาทางดีเอ็นเอ และป้องกันแนวโน้มความเสี่ยงการเจ็บป่วย ทั้งยังเปิดความเป็นได้ในการสร้างแผนที่ทางพันธุกรรมของประชากรในสหรัฐฯ

 

 


       
       - แนวคิดที่ 4 - โลกที่เป็นหนึ่งเดียว
       

       เทคโนโลยีไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น แต่ยังเปิดเสรีภาพในการสร้างสรรค์ ทั้งในแง่ของทุน การผลิต การบริโภค การดำรงชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมกันในสังคม โลกที่เป็นหนึ่งจึงไม่ได้หมายถึงการหลอมทุกอย่างให้กลายเป็นหน้าตาเดียว หากคือโอกาสในการกำหนดรูปร่างหน้าตาตนเอง ท้องถิ่น และโลกของเรา

หนุ่มญี่ปุ่นไม่เห็นแปลกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อดูแลภาพลักษณ์ ที่กันคิ้วนี้คือตัวแทนของปรากฏการณ์ดังกล่าว เมื่อยอดขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามชายที่ห้างโตคิวแฮนด์สาขาชิบุยะพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 50

 

เฟรชเนส เบอร์เกอร์ ร้านฟาสต์ฟู้ดอเมริกา สัญชาติญี่ปุ่น ออกแคมเปญลิเบอเรชั่น แรปเปอร์ ปลายปี 2555 ออกแคมเปญลิเบอเรชั่น แรปเปอร์ ด้วยการจัดทำกระดาษห่อเบอร์เกอร์พิมพ์หน้าหญิงสาวสวยพร้อมเรียวปากเล็ก เพื่อแก้ปัญหาระหว่างการรับประทานซึ่งสาวญี่ปุ่นมักจะไม่กล้าอ้าปากกว้างในที่สาธารณะ  นอกจากทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นแล้ว โฆษณาที่ทำโดยแอด เดนท์สึ โตเกียว อิงค์ ยังคว้ารางวัลจากการประกวดเทศกาลคานส์ด้วย

 


       
       :: บิทคอยน์
       ในปี 2551 ซาโตชิ นากาโมโตะ อาศัยความรู้ที่เป็นเลิศด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเศรษฐศาสตร์ เผยแพร่แนวคิดบิทคอยน์ ระบบเงินตราแบบใหม่สำหรับโลกดิจิทัลโดยไม่จำเป็นต้องผลิตเป็นธนบัตรหรือเหรียญตรา โครงสร้างระบบบิทคอยน์ออกแบบให้ไม่มีองค์กรหรือรัฐบาลใดสามารถควบคุมหรือแทรกแซงได้ และการโอนเงินที่มีรูปแบบคล้ายการส่งอีเมลก็สามารถทำได้สะดวกในระดับบุคคลถึงบุคคลโดยไม่ผ่านคนกลางอย่างธนาคาร อีกทั้งยังหมายถึงการปลอดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม การได้บิทคอยน์มาแต่ละเหรียญหรือการทำเหมืองบิทคอยน์ มีวิธีการที่อาจดูเหมือนกับการเล่นเกมสุ่มหาโอกาส แต่หากคือการแก้โจทย์คอมพิวเตอร์ที่ยากและซับซ้อน ซึ่งระบบได้สร้างกลไกการควบคุมอันน่าเชื่อถือที่ทำให้เกิดมูลค่าที่สามารถใช้เป็นเงินได้ แม้ในปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ไม่ยอมรับสกุลเงินบิทคอยน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบเพื่อกำจัดคนกลางและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบการค้าโลกมายาวนาน

ตัวแทนของระบบการค้าขายในยุคใหม่ที่กลายเป็นมาตรฐานของโลก เมื่อสัญลักษณ์รถเข็นถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในโลกออนไลน์ ก็คล้ายกับการควบรวมโลกจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน เพราะการซื้อขายและหยิบของใส่รถเข็นนี้ สามารถเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร และอย่างไรก็ได้

การเผลอหลับขณะโดยสารรถไฟกับพี่ชายกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ดำเนินมานานกว่า 25 ปี สำหรับ ชารู เบรียลีย์ หนุ่มเชื้อสายอินเดีย เพราะขณะนั้นเขาเพิ่งอายุได้เพียง 5 ขวบขณะอยู่ในกัลกาตา กว่าสัปดาห์จึงได้รับการอุปการะไปอยู่กับครอบครัวใหม่ในออสเตรเลีย จนกระทั่งปี 2554 เมื่อเขาเรียนจบจึงตัดสินใจใช้เทคโนโลยี กูเกิล เอิร์ธ แผนที่ดิจิตอล หาหนทางกลับบ้าน ด้วยการปะติดปะต่อภาพในความทรงจำ คำนวณชั่วโมงเดินทางรถไฟ กระทั่งเจอสัญญลักษณ์ที่คุ้นตา ไม่น่าเชื่อว่าการซูมภาพไปที่เมืองคันธวา ทำให้เขาพบกับน้ำตกที่เคยเล่นสมัยเด็ก เขาค่อยๆลัดเลาะจนพบเส้นทางกลับบ้านได้อีกครั้ง

Hello World! คือคำที่มักใช้ทดสอบความถูกต้องของการเขียนโปรแกรม ทั้งนี้ ในปี 2556 เว็บไซต์ code.org จัดแคมเปญชวนเด็ก 10 ล้านคนในสหรัฐฯ หัดเขียนโปรแกรมผ่านบทเรียนง่ายๆ เพราะเชื่อว่าเด็กควรเข้าใจเรื่องการเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาระบบความคิดและใช้เป็นเครื่องมือได้ ไม่ว่าจะทำงานด้านใดก็ตาม

 

      
       นิทรรศการ “Hello World! เราจะออกแบบอนาคตกันอย่างไร” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2557 ที่ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ เวลาทำการ 10.30 - 21.00 น. (ปิดวันจันทร์)
       
       สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ 02- 664- 8448 ต่อ 213, 214 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdc.or.th :: Text by FLASH

 

ที่มาข้อมูลเนื้อหา

http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9570000002510

http://www.tcdc.or.th/calendar/detail.php?ID=17648&lang=th

http://thaibusinessmarket.wordpress.com/2014/01/04/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88/
       
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที