นักแสวงหา

ผู้เขียน : นักแสวงหา

อัพเดท: 04 ก.พ. 2014 18.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3942 ครั้ง

ทุนญี่ปุ่นผวาการเมืองไทยยืดเยื้อทุบความเชื่อมั่นชะลอลงทุนเพิ่ม "หอการค้าญี่ปุ่น" ยอมรับผู้ประกอบการทบทวนแผนการลงทุนใหม่ จากปัจจัยรอบด้านอย่างละเอียด จับตากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนหันซบ "อินโดฯ-มาเลย์"


ญี่ปุ่นเบรกขยายลงทุนในไทย การเมืองยื้อครึ่งปีหนีไปอินโดฯ

วันที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 18:33 น. ข่าวสดออนไลน์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ทุนญี่ปุ่นผวาการเมืองไทยยืดเยื้อทุบความเชื่อมั่นชะลอลงทุนเพิ่ม "หอการค้าญี่ปุ่น" ยอมรับผู้ประกอบการทบทวนแผนการลงทุนใหม่ จากปัจจัยรอบด้านอย่างละเอียด จับตากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนหันซบ "อินโดฯ-มาเลย์" แทน ฟากนิคมอุตฯชี้ต่างชาติหน้าใหม่เบรกลงทุนไปกว่า 30-40% "บีโอไอ" ดิ้นหาช่องตั้งบอร์ดใหม่อนุมัติโครงการค้าง

จาก สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน และยังไม่เห็นทางออกว่าจะจบอย่างไร จนทำให้เป็นที่กังวลของนักลงทุนไทยและต่างชาติ ว่าประเทศไทยต้องอยู่ในภาวะสุญญากาศไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศไปอีกอย่างน้อย 5-6 เดือน ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพ จนอาจกระทบต่อแผนการลงทุนและขยายธุรกิจต่าง ๆ 

หอการค้าญี่ปุ่นชี้ลงทุนใหม่กระทบ

นาย เซ็ทซึโอะ อิอูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบต่อธุรกิจญี่ปุ่นในไทยไม่มากนัก แต่การลงทุนใหม่ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยคาดหวังว่าปัญหาการเมืองจะยุติโดยเร็ว แต่ถ้ายืดเยื้อจะกระทบต่อความเชื่อมั่นรวมถึงการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเร่ง ปรับปรุง นอกจากนี้ ปัญหาทางการเมืองในไทยไม่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายการลงทุน แต่การเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอื่นของอาเซียนเป็นไปตามแผน "Thailand Plus One" ที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยนักลงทุนญี่ปุ่นจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคนี้ พร้อมกันนี้ยังชี้ด้วยว่า มาตรการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อสายการผลิต แต่อาจส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อการบริโภค ต่างกับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่สร้างความเสียหายให้กับซัพพลายเชนทั้งระบบ

สำหรับผลสำรวจแนวโน้ม เศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นของหอการค้าญี่ปุ่นในไทย ชี้ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นในไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตกซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้น ตัว

ค่ายรถญี่ปุ่นเล็งซบอินโดนีเซีย

นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดคุยกับที่ปรึกษาการเงินกับนักลงทุนญี่ปุ่น พบว่าผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นบางรายเริ่มทบทวนการตัดสินใจการขยายฐาน การผลิตในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาได้รับความเสี่ยงจากปัญหาทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจนส่งผล กระทบต่อธุรกิจ

"ในจำนวนค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน อีซูซุ พบว่ามีบางรายเริ่มทบทวนการตัดสินใจแล้วว่า จะยังขยายฐานการผลิตในประเทศไทยต่อไปหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหามาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านอาจจะเป็นตัวเลือกถัดไปได้" นายสันติกล่าว

ทั้งนี้ประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจจะไปขยายกำลังการผลิตคืออินโดนีเซีย ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ได้ใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากังวล เพราะสะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านศูนย์ กลางการผลิตรถยนต์

นายสันติกล่าวว่า ตัวแปรสำคัญที่จะฉุดรั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นไว้ที่ประเทศไทยคือ การแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งควรจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้ 

"ถ้าเราแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยภายในช่วงกลางปี 2557 ได้ ประเด็นที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตไปที่อื่นก็ยังพอจะแก้ไขได้ แต่ถ้าใช้ระยะเวลาเกินกว่าที่ขีดเส้นไว้ โอกาสการย้ายฐานการลงทุนก็จะเกิดขึ้นสูง" นายสันติกล่าว

การเมืองเขย่าขวัญนักลงทุนยุ่น

นาย สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศจำกัด (ดีลอยท์ ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการพบปะนักลงทุนชาวญี่ปุ่นใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญคือ กลุ่มการเงินและการผลิต นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน อีกทั้งญี่ปุ่นลงทุนในประเทศไทยมายาวนาน แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองของไทยที่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ และมีแนวโน้มยืดเยื้อในขณะนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนเพิ่มของนักลงทุน ญี่ปุ่น 

สำหรับภาคการเงิน นอกจากนักลงทุนจะกังวลในเรื่องความไม่สงบทางการเมืองแล้ว ยังเป็นห่วงเรื่องการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในประเทศจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผลกระทบในเชิงลบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ และโครงสร้างผู้บริหาร กระบวนการทางราชการ รวมถึงบทบาทของคณะกรรมการตรวจสอบ ขณะที่จุดแข็งของภาคการเงินไทยคือ การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยธนาคาร แห่งประเทศไทย 

ยืดเยื้อกระทบลงทุนใหม่

แหล่งข่าวจาก สภาอุตสาหกรรมยานยนต์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากภายในไตรมาสแรกสถานการณ์ยังไม่จบก็อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของค่าย รถยนต์และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในอนาคตได้ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ที่มี การลงทุนอยู่ในประเทศไทย และต้องมีการลงทุนเพิ่มอาจจะต้องคิดให้หนักขึ้น ส่วนกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุนใหม่ ก็อาจจะต้องมองหาแหล่งลงทุนในประเทศข้างเคียงแทน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซีย

"ไม่ได้หมายความว่าค่ายรถยนต์หรือ ชิ้นส่วนที่ลงทุนอยู่แล้วจะย้ายฐานผลิตไปที่อื่น แต่ถ้าการเมืองไม่ชัดเจนก็อาจมีผลทำให้ผู้ลงทุนเหล่านี้มองหาแหล่งลงทุน ใหม่"

โดยก่อนหน้านี้นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะรองประธานสภาหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่ที่สุด แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังยืดเยื้อ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้

โตโยต้ามีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ในประเทศไทยให้ได้ 1 ล้านคันในอนาคต จากปัจจุบันที่มีอยู่ 850,000 คัน ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม ไม่น้อยกว่า 15,000-20,000 ล้านบาท แต่การลงทุนดังกล่าวจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเมืองนิ่ง เพื่อทำให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นมีความมั่นใจ และตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทยต่อเนื่อง

ฮอนด้าเดินหน้าลงทุนตามแผน

ขณะ ที่นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทแม่ยังมีความมั่นใจในประเทศไทย การลงทุนต่าง ๆ ยังเป็นไปตามแผน แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะรุนแรงยิ่งขึ้น ส่วนแผนลงทุนโรงงานแห่งใหม่มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี บนพื้นที่กว่า 1,600 ไร่นั้น ยังคงเป็นไปตามกำหนดการที่จะเริ่มไลน์ผลิตได้ในปี 2558 ไม่ได้มีการชะลอการลงทุนแต่อย่างใด

บีโอไอหาช่องตั้งบอร์ดใหม่

นาย อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ส่วนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนมาที่ BOI ทั้งหมด ยังไม่มีนักลงทุนรายใดถอนการลงทุนทั้งสิ้น และโครงการทั้งหมดที่ค้างพิจารณาอยู่ระหว่างการถามความเห็นไปยังคณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะสามารถตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ดบีโอไอใหม่ได้หรือไม่ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาโครงการที่ค้างอยู่

"หวังว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อมากไปกว่า 3-4 เดือน เพราะหากยืดเยื้อไปถึง 7-8 เดือนกระทบความเชื่อมั่นลงทุนแน่ ๆ"

ต่างชาติหน้าใหม่ชะลอลงทุน

นาย นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติรายเก่ายังคงลงทุนในพื้นที่ แต่สำหรับนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ประมาณร้อยละ 80 บางส่วนขาดความเชื่อมั่น และตัดสินใจชะลอการลงทุนออกไปก่อน รวมกับในช่วงที่ผ่านมา BOI มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่ยกเลิกการส่งเสริมในบางประเภทกิจการ ทำให้บางโครงการชะลอลงทุนอย่างไม่มีกำหนด 

ขณะที่นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) เปิดเผยว่า สำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติรายเก่าในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะไม่กระทบธุรกิจ เพราะลงทุนในประเทศไทยมานาน เข้าใจการเมืองของไทยดี จึงไม่มีความคิดย้ายฐานการลงทุน แต่ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ในประเทศ ก็มีการชะลอการลงทุนออกไปร้อยละ 30-40 นอกจากนี้แล้วยังมีผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์บางส่วนที่ต้องวางแผน การส่งสินค้าในเส้นทางใหม่ หลีกเลี่ยงเส้นทางที่ไม่มีการชุมนุม ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

ด้านนางธีรนาฎ โชควัฒนา ผู้อำนวยการบริษัท สหรัตนนคร จำกัด เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรายใหม่มีการชะลอการลงทุนบ้าง แต่อยู่ในกรอบที่ไม่น่าตกใจ โดยเฉพาะภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งส่งผลให้ภาพการชุมนุมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในสายตาชาวต่างชาติ เพราะก่อนหน้าที่จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้มีการหารือกับนักวิชาการต่างชาติว่าจะมีการเข้ามาทำเจรจาเรื่องการพัฒนา ด้านต่าง ๆ ในนิคมเพิ่มเติม แต่กลับตัดสินใจเลื่อนการเจรจาออกไป 

สศอ.กังวลจีดีพีอุตฯหาย 1%

นาย สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวช่วงร้อยละ 3-4 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ขยายตัวช่วงร้อยละ 1.5-2.5 จากการประเมินเบื้องต้นมีโอกาสที่จีดีพีอุตสาหกรรมจะลดลงร้อยละ 1.1 และเอ็มพีไอลดลงร้อยละ 0.5-1 และคิดว่าจีดีพีทั้งปีจะอยู่ที่ 2-3% และภาคการลงทุนของภาคเอกชนตลอดทั้งปีจะหายไป 5% หรือมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท

ที่มาข่าว http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1UTTBNRGd4Tnc9PQ==&subcatid=

http://www.atproengineer.com/index.php/2013-10-08-08-47-13/85-general-news/164-2014-01-31-05-16-38

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1385350400


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที